มัดรวมวิธีป้องกันตัวเองจาก "แบคทีเรียกินเนื้อคน" ภัยแฝงที่มาพร้อมน้ำท่วม
น้ำท่วมไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อชัวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อสุขภาพที่มักถูกมองข้าม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน” แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่ก็เป็นภัยที่ป้องกันได้หากเรารู้เท่าทันและใส่ใจดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
“น้ำท่วม” ภัยธรรมชาติที่ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยน้ำสกปรกและเชื้อโรค การสัมผัสน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ย เกิดบาดแผลได้ง่าย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อที่ก่อให้เกิด “โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน”
"โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน" คืออะไร?
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน (Necrotizing Fasciitis) อันตรายที่มากับแผลสกปรก เป็นภาวะติดเชื้อรุนแรงในเนื้อเยื่ออ่อน เกิดในบริเวณผิวหนังกำพร้า ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ มักพบในแผลเปิด สามารถลุกลามอย่างรวดเร็วและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แม้จะเริ่มต้นจากบาดแผลเล็กๆ เพียงรอยถลอกหรือแผลจากของมีคม แต่หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เชื้อโรคก็สามารถเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้
เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคน
- กลุ่มเชื้อโรคผสม (Mixed Organisms) เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดพร้อมกัน มักพบในแผลทั่วไปที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก
- Streptococcus ชนิด A ที่เกิดได้จาก เชื้อ Species Streptococcus หรือ Staphylococcus พบรองลงมาจากกลุ่มแรก ลุกลามเร็วและมีอาการรุนแรงกว่า ที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง มักเกิดจากหัตถการที่ไม่สะอาด เช่น การเจาะเลือด การฉีดยา รวมถึงการฉีดยาของกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด
- Gas Gangrene พบในแผลที่มีเนื้อตายอยู่ก่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสามารถแก๊ส เมื่อคลำที่แผลจะรู้สึกถึงฟองอากาศคล้ายบับเบิ้ลกันกระแทก
อาการและสัญญาณเตือน "โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน"
- ปวด บวมแดง หรือร้อนบริเวณบาดแผล
- ผิวหนังมีสีดำคล้ำผิดปกติ
- มีเนื้อตาย
- มีหนองปริมาณมาก
- มีตุ่มน้ำ มีอาการพอง
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนเกิดได้กับทุกคน โดยมีความเสี่ยงจากการไม่รักษาความสะอาดของแผลให้ดี ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ภาวะตับแข็ง โรคอ้วน และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV หรือคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ
หากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เริ่มมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ตัวเย็น มึนงง ซึมลง และช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ป้องกันอย่างไร?
- ใช้น้ำเกลือ 1-2 ลิตร หรือน้ำดื่มทำความสะอาดแผล
- ไม่ควรใช้น้ำประปาล้างแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ปิดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือปลาสเตอร์ให้มิดชิด
- หากดูแลแผลเบื้องต้นแล้วยังปวด บวมแดง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
การติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ได้นำไปสู่ภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคนเสมอไปแต่หากเป็นแผลก็ควรรักษาความสะอาดให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี ซึ่งวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการตรวจบริเวณบาดแผล หากยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการผ่าตัดกรีดขยายบริเวณบาดแผล ใช้การตรวจพิเศษ MRI, CT Scan, หรือ X-Ray เพื่อตรวจดูชั้นเนื้อเยื่ออย่างละเอียด
ส่วนการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามอาการ มีตั้งแต่การใช้ยาฆ่าเชื้อ ผ่าตัดระบายหนองและของเหลว ผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก ในกรณีที่เนื้อตายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นอาจต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อ ในบางกรณีอาจต้องปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดแผลร่วมด้วย