posttoday

ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการใช้งานเรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์

13 กันยายน 2567

พลังงานทดแทนในภาคการขนส่งทางทะเลเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขแน่ชัด วันนี้เราจึงพาไปชมอีกแนวคิดกับการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้กับเรือบรรทุกสินค้า

เรือบรรทุกสินค้า ถือเป็นช่องทางหลักในการจัดส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคไปจัดจำหน่ายทั่วโลก มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ถือเป็นต้นตอสำคัญในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นี่เองจึงนำไปสู่แนวทางในการมองหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทน

 

         หนึ่งในนั้นคือแนวคิดในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเรือบรรทุกสินค้า

 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการใช้งานเรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์

 

เรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์

 

         แนวคิดนี้เป็นของบริษัท Lloyd's Register (LR), CORE POWER และ AP Moller – Maersk กับการแสดงความสนใจในการพัฒนาเรือบรรทุกสินค้าขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด

 

         พลังงานนิวเคลียร์จัดเป็นเชื้อเพลิงอีกชนิดที่ถูกยอมรับในฐานะพลังงานสะอาด ได้รับความสนใจพัฒนาให้สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ เตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 4 ซึ่งถูกออกแบบให้มีมลพิษต่ำ มีขนาดเล็ก และใช้งานง่าย สู่การสร้างกำลังขับเคลื่อนเรือบรรทุกสินค้า

 

         นี่เป็นเหตุผลในความร่วมมือศึกษาและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้ใช้ร่วมกับเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งจะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน และเมื่อสามารถพัฒนาจนนำมาใช้งานได้สำเร็จ การเปลี่ยนผ่านนี้จะช่วยลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาด้านเชื้อเพลิงและพลังงานในการเดินเรืออย่างถาวร

 

         การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เป็นเรื่องใหม่โดยเฉพาะกับเรือบรรทุกสินค้าทั่วไป แต่ทางบริษัทยืนยันว่า การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นไปไม่ได้หากไม่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ นั่นทำให้พวกเขาเริ่มการศึกษาการนำพลังงานนี้มาปรับใช้ร่วมกับเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งอาจเป็นประตูบานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อไป

 

         จริงอยู่พลังงานนิวเคลียร์มีประสิทธิภาพสูงและจะช่วยยกระดับการขนส่งสินค้าได้มาก แต่นั่นย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามในหลายด้านเช่นกัน

 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการใช้งานเรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์

 

โอกาสและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี

 

         หลายท่านอาจทราบดีว่าการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเรือไม่ใช่ของใหม่ มีการติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับใช้ในการขับเคลื่อนเรือดำน้ำและเรือบรรทุกเครื่องบินมากมาย เนื่องจากคุณสมบัติในการให้พลังงานสูงและลดอัตราการเติมเสบียง เพิ่มขีดความสามารถ ความคล่องตัว และการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

 

         จริงอยู่เรือดำน้ำรุ่นเก่าที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มีความอันตรายและเป็นพิษสูง จากการทิ้งกากกัมมันตรังสีหลังการใช้งาน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เตาปฏิกรณ์ได้รับการออกแบบให้ทนทานและปลอดภัย รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นรอบด้าน

 

         เตาปฏิกรณ์ที่ได้รับการออกแบบใหม่ช่วยให้ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงดียิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้วัตถุกัมมันตรังสีที่มีความเข้มข้นสูง นอกจากนี้การเผาไหม้สูงและการนำกากกัมมันตรังสีมาใช้ใหม่ได้ ทำให้โอกาสที่จะมีกากกัมมันตรังสีอันตรายรั่วไหลหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมน้อยลง อีกทั้งยังนำไปใช้งานในทางผิดอย่างพัฒนาเป็นอาวุธได้ยาก

 

         อีกหนึ่งข้อเท็จจริงสำคัญที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์น่าสนใจคือ เรือขนส่งขนาดใหญ่หรือเรือบรรทุกสินค้าใช้พลังงานมาก เป็นไปได้สูงว่าแบตเตอรี่จะไม่สามารถบรรจุหรือกักเก็บพลังงานได้เพียงพอ แอมโมเนียที่เคยถูกจับตามองในฐานะเชื้อเพลิงทดแทน ก็ถูกโต้แย้งว่าอาจสร้างมลพิษและโลกร้อนมากกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเสียอีก

 

         ในทางหนึ่งนี่จึงอาจเป็นทางออกของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในการมุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาดได้เช่นกัน

 

 

         ข้อกังวลและข้อจำกัดอีกมากที่ต้องการทางออก

 

         อย่างไรก็ตามมีการโต้แย้งอยู่ไม่น้อย บางส่วนมองว่าการผลักดันพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการเดินเรือเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่าประโยชน์ที่ควรได้รับจากสาเหตุหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา

 

         เตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 4 ยังไม่เสร็สมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ในระหว่างการค้นคว้าพัฒนา แม้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน แม้แต่ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชื่อดังยังประสบปัญหาและต้องเลื่อนการเปิดตัวโรงไฟฟ้าแห่งแรกไปถึงปี 2030 เช่นเดียวกับโครงการอื่นที่ล้วนเปิดตัวช้ากว่า และจะยิ่งทำให้การนำมาใช้ในการเดินเรือล่าช้าเข้าไปอีก

 

         อันดับต่อมาคือข้อท้วงติงทางความปลอดภัย จริงอยู่เตาปฏิกรณ์ใหม่ได้รับการออกแบบอย่างดีด้านความปลอดภัย แต่การใช้เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในโรงไฟฟ้าต่างจากการติดตั้งลงบนยานหนะ ด้วยตัวแปรทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุที่มากกว่า จึงอาจทำให้แน่ใจในความปลอดภัยได้ยาก

 

         อันดับสุดท้ายคือข้อบังคับความปลอดภัยการเดินเรือทั่วโลก ไม่ใช่ทุกประเทศจะยินดีให้เตาปฏิกรณ์ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเข้ามาในน่านน้ำหรือพรมแดนโดยง่าย แม้จะมีขั้นตอนการรับรองและพิสูจน์ความปลอดภัยแค่ไหน แต่ก็อาจนำไปสู่ความหวาดระแวงและการต่อต้านทั้งจากผู้บริหารและประชาชนในประเทศได้เช่นกัน

 

         นี่จึงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่และแก้ไขเป็นลำดับถัดไป

 

 

 

 

         ฟังดูการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการเดินเรือเชิงพาณิชย์เป็นไปได้ยากแต่ที่จริงนี่เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ทั้งแนวคิดในการพัฒนาโรงฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ หรืออู่ต่อเรือของรัฐบาลจีนเอง ก็เริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาเรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อทดแทนเรือรุ่นเดิมแล้วเช่นกัน

 

         แม้จะเป็นแบบนั้นแต่คาดว่าเรือบรรทุกสินค้าพลังงานนิวเคลียร์คงไม่ได้ออกมาให้เรายลโฉมในเร็ววัน

 

 

 

         ที่มา

 

         https://www.lr.org/en/knowledge/press-room/press-listing/press-release/lr-and-core-power-to-conduct-next-generation-nuclear-container-ship-regulatory-study/

 

         https://nst.or.th/academics/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C/