posttoday

น้ำท่วม67: เปิดพฤติกรรมเสี่ยงในภาวะน้ำท่วม 2 โรคถึงแก่ชีวิต!

11 กันยายน 2567

กรมควบคุมโรคเปิดโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมในปีนี้ เผยมีเคสเสียชีวิตแม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พร้อมแนะพฤติกรรมเสี่ยงและวิธีป้องกัน

วันนี้ 11 กันยายน 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยสุขภาพจากน้ำท่วม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่ผ่านมาเกิด  2 โรคฮิตที่ควรเฝ้าระวังจากน้ำท่วมจนเกิดการเสียชีวิต แม้ว่าโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ได้แก่

  • โรคเลปโตสไปโรสิส (ไข้ฉี่หนู)

นายแพทย์วีรวัฒน์ เปิดเผยว่าในปีนี้มีคนไข้ฉี่หนูพุ่งสูงถึง 2,600 ราย และยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสูงสุดในเดือนตุลาคมนี้

โรคไข้ฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดจากการติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการติดเชื้อแบคทีเรีย ‘เลปโตสไปร่า’ ซึ่งมีสัตว์ที่สามารถนำมาติดต่อได้คือ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และ สุนัข

การติดต่อจะทำได้โดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนกับปัสสาวะของสัตว์ หรือแม้กระทั่งการลุยน้ำ  จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรค พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่พบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ

 

สำหรับจังหวัดที่มีการพบผู้ป่วยมากที่สุด ( สำรวจวันที่ 1ม.ค.-21ส.ค.67 ) ได้แก่ เชียงราย  117 คน รองลงมาคือ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย โดยพื้นที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมีอยู่ 17 จังหวัด ได้แก่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมและน้ำหลาก เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ เป็นต้น

 

ส่วนสถิติผู้เสียชีวิต พบว่าคนไข้เสียชีวิตทุกเดือนในปีนี้  สำหรับเดือนกันยายนมีผู้เสียชีวิต 2 รายในระยะเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ โดยผู้เสียชีวิตมีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การเดินลุยน้ำย่ำโคลน โดยไม่สวมรองเท้าบูท หรือลงแช่แหล่งน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ซึ่งร้อยละ 68 ของผู้เสียชีวิตมักเกิดจากการไปพบแพทย์ช้าหรือซื้อยามารับประทานเองก่อน ส่วนคนไข้ที่เสียชีวิตนั้นพบประวัติมีการขนย้ายสิ่งของและลงพื้นที่น้ำท่วมเพื่อมอบถุงยังชีพ

 

อาการเริ่มแรกของโรค  ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ต่อมา อาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง ไอเป็นเลือดและเสียชีวิต

 

น้ำท่วม67: เปิดพฤติกรรมเสี่ยงในภาวะน้ำท่วม  2 โรคถึงแก่ชีวิต!

 

 

  • โรคเมลิออยด์ (โรคไข้ดิน)

สถานการณ์ของโรคเมลิออยด์ในประเทศไทย พบผู้ป่วย 2,399 ราย และพบว่ามีการเสียชีวิตมากการโรคไข้ฉี่หนู รวม 68 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่สูงมากในรอบ 5 ปี

กรมควบคุมโรคยังเปิดเผยว่าจากข้อมูลผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย ติดสุราเรื้อรัง และภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ซึ่งผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 79 มีอาการหนักก่อนมาโรงพยาบาล โดยต่างก็มีประวัติเสี่ยง คือการสัมผัสดินและน้ำ เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกผัก และลุยน้ำ รวมไปถึงการดื่มน้ำไม่สะอาดด้วย

 

โรคเมลิออยด์มีช่องทางการติดต่อได้ถึง 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน
  2. การกินหรือดื่มน้ำไม่สะอาด
  3. ทางเดินหายใจ โดยสูดดมละอองฝุ่นดิน

 

ซึ่งอาการของโรคเมลิออยด์นั้นจะมีระยะฟักตัว โดยอาการจะปรากฎขึ้นใน 2- 4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หากติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตได้

 

น้ำท่วม67: เปิดพฤติกรรมเสี่ยงในภาวะน้ำท่วม  2 โรคถึงแก่ชีวิต!

 

อาการที่ต้องสังเกต ได้แก่  ไข้  ไอเรื้องรัง ฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อและกระดูก สามารถแสดงอาการได้หลากหลายและไม่จำเพาะ จนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่นเช่น วัณโรคหรือปอดบวมได้

 

คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคไข้ดิน ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ
  2. หลังสัมผัสดินหรือน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
  3. ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดหรือต้มสุกทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานแนะนำให้ดื่มน้ำต้มสุก
  4. หลีกเลี่ยง การสัมผัสลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน
  5. หากมีไข้สูงต่อเนื่อง 3 วันร่วมกับมีประวัติพฤติกรรมเสี่ยงให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น