posttoday

ย่อยมาให้! สรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ชาว LGBTQ+ ควรรู้

25 กันยายน 2567

โพสต์ทูเดย์สรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลต่อชาว LGBTQ+ ที่อยากหมั้นหรือจดทะเบียนสมรสอย่างไร หลังมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทำให้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้อีก 120 วันข้างหน้า

สรุปสาระสำคัญ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

แก้ไขการเรียกแทนตัวผู้สมรสหรือผู้หมั้น

จากที่เคยใช้ สามี-ภรรยา หรือ ชาย-หญิง ในกฎหมาย เป็นการเรียกว่า 'บุคคล' 'ผู้รับหมั้น' 'คู่สมรส' แทน และมีการปรับอายุของการหมั้นเป็น 18 ปี เช่น

แต่เดิมมาตรา 1435 ระบุว่าการหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว   เปลี่ยนเป็น

มาตรา 1435 ระบุว่าการหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว

มาตรา 1439   เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย  เปลี่ยนเป็น

มาตรา 1439 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น ให้แก่ผู้รับหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

 

กฎหมายการหมั้น

คู่รัก LGBTQ+ สามารถหมั้นหมายและใช้กฎหมายครอบคลุมการหมั้นได้ โดยมีการระบุว่า หากมีการผิดสัญญาการหมั้น สามารถเรียกค่าทดแทนค่าเสียหายได้ ยกเว้นในกรณีการเสียชีวิต แต่หากมีเหตุอันสมควรให้บอกเลิกการหมั้น ฝ่ายที่ยกเลิกการหมั้นที่ได้รับของหมั้นไม่จำเป็นต้องคืนของหมั้น

นอกจากนี้ หากจับได้ว่าคนที่หมั้นไปร่วมประเวณีกับผู้อื่น คู่หมั้นสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่สามที่คู่หมั้นไปร่วมประเวณีด้วยได้! ซึ่งอายุความที่สามารถเรียกร้องค่าทดแทนได้อยู่ที่ 6 เดือนหลังจากรับทราบเรื่อง แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น

 

กฎหมายการสมรส

  • การสมรสระหว่างบุคคลสองคนกระทำได้เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริต หรือศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
  • บุคคลที่เป็นญาติสืบสายโลหิต สมรสกันไม่ได้
  • สมรสในขณะที่ตนเองมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
  • การสมรสจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้งคู่ให้ความยินยอม
  • หากมีพฤติการณ์พิเศษเช่นบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอันตราย หรืออยู่ในสงคราม แต่แสดงเจตนาจะสมรสต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ บุคคลผู้นั้นสามารถนำมาจดแจ้งแสดงเจตนาการสมรสเป็นหลักฐาน และภายใน 90 วัน บุคคลทั้งสองมาจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน ให้ถือเอาวันที่แสดงเจตนาสมรสเป็นวันจดทะเบียนสมรส
  • อย่างไรก็ตาม มีข้อกฎหมายหนึ่งที่น่าสนใจ ในพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ หากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้หญิงที่เคยสมรสกับผู้ชายและผู้ชายเสียชีวิต หากจะสมรสใหม่ต้องผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้ว สมรสกับคู่สมรสเดิม มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือมีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

 

กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

  • ถ้าไม่สามารถอยู่กินกันฉันคู่สมรส เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อความผาสุขของกายหรือจิตใจ สามารถร้องต่อศาล และศาลสามารถให้คำสั่งกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูตามเหตุสมควร
  • หากศาลมีคำสั่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะกลายเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่หากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องขอ ศาลสามารถตั้งผู้นั้นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้
  • สัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ที่ทำต่อกัน ณ ขณะแต่งงาน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถบอกล้างในขณะที่เป็นคู่สมรสหรือระยะเวลา 1 ปีหลังจากเลิกจากกัน โดยต้องไม่กระทบบุคคลภายนอกที่ทำการโดยสุจริต
  • ทรัพย์สินระหว่างสมรส นอกจากสินส่วนตัว ให้ถือเป็นสินสมรส
  • จะจัดการทรัพย์สินได้จะต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ในเรื่องดังนี้ ขาย แลกเปลี่ยน เช่าซื้อ จำนอง ในอสังหาริมทรัพย์  /  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลาเกิน 3 ปี / กู้ยืมเงิน / ให้โดยเสน่หา / การประนีประนอมยอมความ / มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย / นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
  • คู่สมรสไม่สามารถทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าของตนเองให้คนอื่นได้
  • ถ้าคู่สมรสที่มีอำนาจจัดการสินสมรส จัดการให้สินสมรสเสียหาย หรือมีหนี้สินมากกว่ากึ่งหนึ่งของสินสมรส หรือเกิดพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งหายนะของสินสมรสนั้น สามารถร้องของศาลแยกสินสมรสได้
  • เป็นหนี้ร่วมกัน แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสร้างหนี้ระหว่างที่แต่งงานกัน ก็ถือว่าเป็นหนี้สินร่วมกัน
  • แต่หากมีคำสั่งล้มละลาย สินสมรสจะแยกจากกัน และสินสมรสที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัว
  • ฟ้องหย่าได้
  • แม้จะแยกจากกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนหย่า สิทธิในการสืบมรดกยังมีอยู่

 

สิทธิอื่นๆ 

  • กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่อ้างถึงสามี-ภรรยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วย