posttoday

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ?

02 ตุลาคม 2567

ทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘ระดับโลก’ มาครองได้สำเร็จ เปิดปัจจัยและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลภายในระยะเวลาเพียง 9 วันของเทศกาล!

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ภูเก็ต สร้างชื่อให้กับประเทศไทย ด้วยการคว้า 2 รางวัลใหญ่ระดับโลก จากสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (IFEA) รางวัลแรกคือ ‘เมืองเทศกาลโลกประจำปี 2024’ และอีกรางวัลได้จาก ‘ประเพณีถือศีลกินผัก’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กินเจภูเก็ต’ ซึ่งคว้า Gran Pinnacle Award รางวัลสูงสุดของสมาคมได้สำเร็จ

 

สาเหตุที่ ‘กินเจภูเก็ต’ ได้รางวัลระดับโลกมาครองได้นั้น โพสต์ทูเดย์จะพาไปเจาะลึกถึงเหตุผลที่ทำให้ชาวโลกต้องปรบมือและมอบรางวัลนี้ให้

 

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ?

 

  • เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด

เทศกาลกินเจในภูเก็ตถือกำเนิดจากคณะงิ้วจีนที่เดินทางสู่ภูเก็ตในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อแสดงให้กับชาวจีนอพยพที่เข้ามาในภูเก็ตเพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก ณ ขณะนั้น ในระหว่างที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ต มีลูกเรือหลายคนล้มป่วยหนักจากโรคระบาด จึงตัดสินใจที่จะประกอบพิธีกรรมประจำปีขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้ง 9 ซึ่งในพิธีก็จะมีการละเว้นเนื้อสัตว์ สุรา ถือว่าเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้น ปรากฎว่าลูกเรือเหล่านั้นหายจากอาการป่วย ชุมชนไทย-จีนในภูเก็ตจึงได้ปฏิบัติพิธีกรรมนี้สืบเนื่องต่อกันมาและพัฒนากลายเป็นความเชื่อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผ่านพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีกรรมลุยไฟ พิธีแห่งพระรอบเมือง พิธีสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ  ซึ่งประเพณีถือศีลกินผักนี้ ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประจำปี 2561 ของกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยว่าเป็นเทศกาลที่หยั่งรากลึกทางวัฒนธรรมมานานกว่า 200 ปี

นอกจากจะได้เห็นพิธีกรรมโบราณที่สืบทอดต่อกันมาแล้ว ยังได้เห็นความร่วมมือของชุมชน รวมไปถึงในปัจจุบัน ‘ภูเก็ต’ ได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของความยั่งยืน เน้นไปที่ความกรีน ที่ใช้วัสดุย่อยสลายได้ และลดการใช้พลาสติก ลดคาร์บอนเพิ่มเติม อีกทั้งยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น!

 

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ?

 

  • รูปแบบเทศกาลที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก ทั้งเน้นความเท่าเทียม รักษ์โลก และยังคงความบันเทิงแบบจัดเต็ม

เทศกาลกินเจไม่ใช่เทศกาลแห่งความเชื่อเท่านั้น แต่รูปแบบของงานยังเน้นการเข้าร่วมของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคอนเซปต์ของ ‘โรงเจ’ ที่ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถรับประทานอาหารร่วมกัน โดยไม่วัดกันที่สถานะทางสังคม หรือเศรษฐกิจ การกินข้าวร่วมกันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาค รวมไปถึงการแต่งกายที่มีความคล้ายคลึงกันเพื่อสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการสวมใส่สีขาว เพื่อลบการแบ่งแยกชนชั้น หรือสถานะทางสังคมออกไป  อีกทั้งยังมีการจัดพื้นที่ให้กับผู้พิการสำหรับห้องน้ำและการเข้าถึงศาลเจ้าต่างๆ ไว้ในเทศกาลได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ‘ม้าทรง’ ร่างทรงในพิธีกรรมยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงการไม่แบ่งแยกเรื่องของเพศ ใครหรือเพศไหนก็สามารถมาเป็นคนทรงเจ้าได้!

และยังมีการคำนึงถึงเรื่อง ‘กรีน’ โดยการใช้ภาชนะที่รักษ์โลก ในส่วนของ อาหาร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทางเมืองภูเก็ตจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นลม  ผ่านการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในพื้นที่โรงเจ โดยผู้ถือศีลกินผักสามารถนำปิ่นโตมา เพื่อรับอาหารกลับบ้านได้ หรือหากไม่สะดวก ทางโรงเจจะมีใบตองและชามที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไว้ให้บริการ หรือถ้าหากผู้ถือศีลกินผักต้องการรับประทานอาหารที่โรงเจก็สามารถช่วยเมืองได้ด้วยการตักอาหารในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้  นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการของเสียให้เหลือน้อยที่สุด และเศษผักจะถูกเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพและอาหารสัตว์ต่อไป

ทั้งนี้รูปแบบงานต่างๆ แม้จะมีการสอดแทรกประเด็นทางสังคมเข้ามา แต่ยังคงความบันเทิงสนุกสนานจากงาน ความสวยงามของศิลปวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ชื่นชม

 

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ?

 

  • สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ประเพณีถือศีลกินผักของชาวภูเก็ต ครอบคลุม 40 ศาลเจ้าทั่วเกาะ ซึ่งใน 40 ศาลเจ้านี้ประกอบด้วยศาลเจ้าขนาดใหญ่ 4 ศาลเจ้า ขนาดกลาง 15 ศาลเจ้า และขนาดเล็ก 21 ศาลเจ้า สามารสร้างรายได้ราว 5,750 ล้านบาท ในระยะเวลาราว 9 วัน  แบ่งเป็นทั้งส่วนของเงินบริจาค เงินจากการค้าขาย ของที่ระลึก อาหาร รวมไปถึงเงินที่ได้จากการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น

โดยในปี 2023 ภูเก็ตได้ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้กว่า 650,000 คน รวมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,500 ตำแหน่ง โดยเฉพาะส่งผลทางเศรษฐกิจโดยตรงกับกลุ่มที่พัก ร้านขายของ และธุรกิจขนส่ง

นอกจากนี้ในส่วนของเงินบริจาคยังได้จากเทศกาลราว 3,000 ล้านบาท และสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากงานได้ราว 202 ล้านบาท

 

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ?

 

 

  • การร่วมมือจากทุกภาคส่วนของภูเก็ต ‘เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’

การเป็นหนึ่งเดียวกัน และการช่วยเหลือกันของหน่วยงานและอาสาสมัคร นับเป็นอีกหนึ่งแต้มสำคัญที่ทำให้ภูเก็ตคว้ารางวัลมาได้ โดยพบว่า 9 วันของเทศกาลนั้น  ในแต่ละศาลเจ้าจะมีอาสาสมัครด้านการประชาสัมพันธ์ราว  10-30 คน  อาสาสมัครช่วยในเรื่องพิธีกรรมศาลเจ้าละ 400-4,250 คน ซึ่งจะช่วยทั้งในเรื่องของขบวนและพิธีกรรมต่างๆ อาสาสมัครเข้ามาจัดการเรื่องการรับบริจาค อยู่ที่ศาลเจ้าละ 15-60 คน  อาสาสมัครที่ทำอาหารราว 25-100 คน อาสาสมัครที่มาช่วยทำความสะอาด และในแต่ละศาลเจ้านั้นยังมีเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยงานนี้เฉลี่ยราว 10,000 คน

นอกจากนี้คณะทำงานในเทศกาลยังประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนศาลเจ้า ซึ่งมีระบบการจัดการที่ชัดเจนและมีคณะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและวางแผนกิจกรรม รวมไปถึงการสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งพบว่ามีการบริจาครายบุคคลกว่า 42 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากภาครัฐราว 2 ล้าน 7 แสนบาท  เงินสนับสนุนจากภาคธุรกิจราว 10 ล้าน 7 แสนบาท ฯลฯ อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการจัดเทศกาลดังกล่าวของทั้งจังหวัดในทุกระดับ!

 

เปิดข้อมูลทำไม ‘กินเจภูเก็ต’ ถึงคว้ารางวัล ‘เทศกาลโลก’ มาครองได้สำเร็จ? ​​​​​​​

 

ทั้งนี้ ยังมีในเรื่องของการจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ ระบบสาธารณสุขที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่รองรับถึง 7 โรงพยาบาล โรงพยาบาลระดับรองลงมาอีก 2 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลในชุมชนอีกกว่า 21 สถานพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานเทศกาลมีความอุ่นใจในการเข้าร่วมกิจกรรม และแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของการจัดการเทศกาลในระดับโลกได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” จะเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 – วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย.