‘การตั้งถิ่นฐาน’ ปัจจัยทำไทยเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศอันดับ 9 ของโลก
โพสต์ทูเดย์พาย้อนดู ‘แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ’ ซึ่งเคยประเมินไว้ราว 6 ปีก่อนในเรื่อง ‘การตั้งถิ่นฐานประชากร’ ซึ่งจะสร้างความเสียหายในระดับสูงหากเกิดภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วม โดยมี ‘จ.เชียงราย’ อยู่ในแผน!
จากกรณีอุทกภัย-ดินถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในปีนี้ เกิดการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งมีการพูดถึงทั้งระบบเตือนภัย ฝนที่ตกลงมาเป็นลักษณะของการตกแช่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน พื้นที่ป่าไม้ที่ลดน้อยลง รวมไปถึงการขยายของเมืองและการตั้งถิ่นฐานของประชากร ที่ในวันนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ยังคงไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน
ปัญหาในเรื่อง ‘การตั้งถิ่นฐานประชากร’ ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่ถูกพูดถึง แต่เคยถูกพูดถึงและเป็นประเด็นใหญ่มาก ในปี 2561 เมื่อประเด็นดังกล่าวกลายเป็น 1 ในไม่กี่หัวข้อสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็น ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกในลำดับที่ 9 เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำในปีนั้นคือการคลอด ‘แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ’ ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นการตั้งถิ่นฐานไว้อย่างน่าสนใจ
- ถึงเวลาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในถิ่นฐานของตน
แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ระบุว่าในอดีตผู้คนนำปัจจัยทางภูมิอากาศและปัจจัยทางธรรมชาติเป็นแนวคิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และคนในชุมชนจะมีการเรียนรู้ที่จะจัดการหรือปรับตัวกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้การตั้งถิ่นฐานในอดีตที่ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศถูกลดความสำคัญลง
มนุษย์ใช้แนวทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยสร้างชุมชนให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่น่าจับตามอง
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันแต่เดิมชอบตั้งถิ่นฐานตามแถบลุ่มน้ำเพื่อทำการเกษตร แต่เมื่อเกิดการพัฒนาเป็นสังคมเมือง เมืองก็ขยายใหญ่ขึ้น มีความหนาแน่นสูง และมีการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ในจังหวัดเชียงราย อ.แม่สาย พื้นที่ชายแดนแม่สายนั้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญมาอย่างยาวนาน จนเกิดการรุกล้ำแม่น้ำสายจากเดิมที่เคยมีความกว้างกว่า 100 เมตร บางจุดเหลือเพียง 20 เมตรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าระยะทางของแม่น้ำซึ่งควรจะปล่อยให้น้ำหลายผ่านหายไปราว 5 เท่า!
เมื่อประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในปัจจุบัน จึงได้เห็นปรากฎการณ์และความเสียหาย เช่น
2549 พายุเฮอริเคนรัฐหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา เกิดน้ำท่วมใหญ่ สร้างความเสียหาย 200,000 หลัง
2550 พายุไต้ฝุ่นเลกีพัดถล่มเวียดนาม 70,000 ชีวิตไร้ที่อยู่อาศัย
2557 ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบนเกาะสุลาเวสี ทำให้ประชาชน 4,000 คนอพยพย้ายถิ่น
2554 ประเทศไทยน้ำท่วมหนักประชาชนกว่า 4,000,0000 คนได้รับผลกระทบ
2567 เชียงรายน้ำท่วมหนัก ประชาชนกว่า 51,353 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ
- ความเสี่ยงไหนเพิ่มขึ้นบ้างจากการตั้งถิ่นฐาน
รายงานฉบับที่ 5 ของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของภูมิภาคเอเชีย เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ 3 กลุ่มคือ
- ความเสี่ยงจากน้ำท่วม จากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝน ฯลฯ
- ความเสี่ยงจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น
- ความเสี่ยงประเภทน้ำแล้งและการขาดแคลนอาหาร อันเป็นผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องปริมาณน้ำฝนจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ฝนจะตกหนักขึ้นในวันที่เคยมีปริมาณฝนตกปานกลาง ฝนจากมรสุมอินเดียฤดูร้อนและเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากความชื้นที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับฝนในช่วงมรสุมฤดูหนาวของซีกโลกเหนือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
แม้ว่าความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนจะลดน้อยลง แต่ปรากฎว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาวะน้ำท่วม น้ำหลาก ดินถล่ม นำ้ทะเลหนุน การกัดเซาะชายฝั่ง การรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการตั้งถิ่นฐานของประเทศไทยแทบทั้งสิ้น
- เปิดพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทยต่อการตั้งถิ่นฐาน
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลถือว่าเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศที่มีการกระจุกตัวมากที่สุด ส่วนเมืองศูนย์กลางในลำดับรองลงมาซึ่งมีประชากรในจังหวัดในระดับประมาณ 1 ล้านคนขึ้นไป อาทิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ตั้งบ้านเรือนเกาะตัวตามลำน้ำสายสำคัญ และในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศแทบทั้งสิ้น และเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการประสบภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือพื้นที่เหล่านี้บางส่วนมีการท่วมอยู่แล้วซ้ำซาก แต่ความรุนแรงของการท่วมจะรุนแรงมากขึ้นด้วย!
- เช็ค ผ่านมา 7 ปี แผนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ วางกรอบปี 2561-2580 ที่ไทยต้องทำ!
ทั้งนี้ ในแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้มีการวางกรอบการดำเนินงานเอาไว้ตั้งแต่ปี 2561 แบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น (2561-2564) เป้าหมายระยกลาง (2565-2567) เป้าหมายระยะยาว (2570-2580) โดยจะขอสรุปบางข้อที่น่าสนใจได้แก่
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและมีความหลากหลายในการรองรับภาวะฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติ เช่น ตรวจสอบโครงสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ การพัฒนาระบบขนส่ง (เป้าหมายระยะสั้น-กลาง)
- พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และข้อมูลความเสี่ยงต่อภัยพิบัติในระดับชุมชน (เป้าหมายระยะสั้น-กลาง)
- ผลักดันให้มีการผนวกให้สิ่งปลูกสร้างต้องใช้เกณฑ์ออกแบบอาคารที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ (เป้าหมายระยะสั้น-กลาง)
- การจัดทำผังเมืองต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมายระยะสั้น-กลาง)
- พัฒนาและจัดทำแผนสำรองระบบที่มีความจำเป็นในภาวะวิกฤติ (เป้าหมายระยะสั้น-กลาง)
- เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนให้มีความพร้อมเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ อากาศ (เป้าหมายระยะสั้น - ยาว)
- พัฒนาชุมชนให้เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย เผชิญภัย ระงับภัย ช่วยเหลือคนในชุมชนได้ (เป้าหมายระยะสั้น - ยาว)
ฯลฯ
ณ เวลานี้ ‘แม่สาย’ ในพื้นที่ตลาดสายลมจอย และพื้นที่อื่นๆ ที่เคยท่วมไปเมื่อต้นเดือนกันยายน ก็กลับมาท่วมซ้ำ ทั้งๆ ที่เจ้าของบ้านยังไม่สามารถเคลียร์โคลนเก่าออกจากบ้านได้ หากดูจาก แผนปรับตัวฯ ฉบับนี้ จึงทำให้เห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ภาครัฐสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้ามาก่อนหลายปี และมีแผนการดำเนินงานจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมา ส่วนประสิทธิภาพของการปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้นเพียงพอหรือไม่นั้น คิดว่าทุกคนคงตอบได้!