posttoday

"Habermas Machine" AI ช่วยไกล่เกลี่ย ลดความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรม

18 ตุลาคม 2567

"Habermas Machine" เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยไกล่เกลี่ย ลดความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรม สะท้อนบทบาทของ AI ช่วยสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นจริงหรือไม่?

ศาสตราจารย์ Chris Summerfield จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด หนึ่งในทีมวิจัยซึ่งเคยทำงานที่ Google DeepMind ได้พัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความสามารถในการไกล่เกลี่ย เพื่อลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เชื่อเป็นผลดีทางการเมือง เพราะจะช่วยให้บรรดาผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศเข้าใจความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น 

AI ตัวดังกล่าวมีชื่อว่า "Habermas Machine" ซึ่งตั้งชื่อตามนักปรัชญาชาวเยอรมัน Jürgen Habermas ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ  ในการทำความเข้าใจการสื่อสารของมนุษย์และกระบวนการประชาธิปไตย

ระบบการทำงานของ "Habermas Machine" จะนำมุมมอง/ความเห็นของแต่ละคน มารวบรวมไว้เพื่อวิเคราะห์ ก่อนจะสร้างชุดคำแถลงที่สะท้อนมุมมองจากทั้งคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยซึ่งเอื้อให้ทุกคนค้นหาพื้นที่ร่วมกันได้

ในการทดลอง ทีมวิจัยได้ใช้ระบบนี้กับผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คนในสหราชอาณาจักร โดยหัวข้อที่ใช้ทดสอบมีตั้งแต่บทบาทของลิงในการวิจัยทางการแพทย์ไปจนถึงการสอนศาสนาในสถานศึกษาของแต่ละประเทศ โดยผลการทดลองพบว่า 

\"Habermas Machine\" AI ช่วยไกล่เกลี่ย ลดความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรม

  • ผู้เข้าร่วม 56% ชื่นชอบข้อความที่สร้างโดย Habermas Machine มากกว่าข้อความไกล่เกลี่ยที่สร้างจากมนุษย์
  • ช่วยเพิ่มระดับความเห็นพ้องของกลุ่มเฉลี่ย 8% 
  • ระบบนี้พยายามเคารพความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็พยายามเขียนข้อความที่ไม่ทำให้เสียงส่วนน้อยรู้สึกถูกละเลย

อย่างไรก็ตาม Habermas Machine เองก็ตกเป็นที่ถกเถียงโดยนักวิจัยคนอื่นๆ จากการตั้งข้อสังเกตว่า ความเห็นจากประชากรบางกลุ่ม อาจเป็นเสียงส่วนน้อยเกินไปจน AI ไม่ได้จับสัดส่วนนั้นไปวิเคราะห์ ทั้งๆที่พวกเขาอาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ