posttoday

อธิบดีสรรพสามิตชี้ ไทยเจอวิกฤต ‘หนี้คู่แฝด’ รัฐ-ครัวเรือน จากสังคมสูงวัย

22 ตุลาคม 2567

อธิบดีกรมสรรพสามิตชี้ ไทยเตรียมเจอวิกฤต ‘หนี้คู่แฝด’ หนี้รัฐ-หนี้ครัวเรือนที่ลดยากขึ้น จากปัญหาสังคมสูงวัย เหตุเพราะระบบดูแลหลังเกษียณที่ไม่เพียงพอตั้งแต่ต้น ส่งผลให้ประชาชนต้องพึ่งพิงรัฐในช่วงบั้นปลาย ผนวกกับรัฐมีรายได้ลดลง ส่งผลต่อมิติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก

วันนี้ (22 ตุลาคม 2567) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรสามิต กล่าวใน 'เวทีสานพลังไทย รับมือสูงวัยไปด้วยกัน' จัดโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในประเด็นมิติทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาสังคมสูงวัยว่า 

ระบบดูแลหลังเกษียณของประเทศไทย  ครอบคลุมคนอยู่ไม่เกิน 15 ล้านคน ที่เหลือไม่มีคนดูแลในยามเกษียณ แม้แต่คนที่อยู่ในระบบการดูแลอย่างเช่น ประกันสังคม  ปัจจุบันถูกบีบว่ารัฐให้สมทบโดยมีลิมิตคิดฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งในช่วงบั้นปลายเงินที่ได้จะไม่พออยู่ดี จึงมีแค่เพียงคนระดับบนที่มีกองทุนเลี้ยงชีพของตนเองมากเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้  ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้น และหนักขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ

สุดท้าย กลุ่มคนที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะเลือกพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งในปัจจุบันอัตราการมีบุตรก็น้อยลง โดยมีตัวเลขจากสภาพัฒน์ออกมาว่า สมัยก่อนคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปีจะมีลูกหลานดูแล 4.5 คน ส่วนในตอนนี้ลดลงอยู่ที่ 2.5 คน เท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าใน 2.5 คนนี้จะกลับมาดูแลผู้สูงวัย ทางเลือกสุดท้ายคือการพึ่งรัฐ  ทำให้รัฐต้องดูแลทั้งหมด จึงทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

ดร.เอกนิติกล่าวต่อว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เมื่อรายได้ลดลงจากผู้สูงอายุ คือ การบริโภคจะลด การลงทุนจะลดลง  GDP ของประเทศไทยที่เคยมีศักยภาพโต 4-5% ตอนนี้ 3% อาจจะไม่ถึง เพราะรายได้หาย

นอกจากนี้ ศักยภาพการผลิตจะมากน้อยขึ้นอยู่กับ แรงงาน เครื่องจักรทันสมัย และเทคโนโลยี  ในอนาคตศักยภาพการผลิตของไทยลดลง กลายเป็นปัญหาใหญ่ และหากเป็นแบบนี้เศรษฐกิจไม่มีทางที่จะมี GDP โตได้ถึง 4-5%

ตามมาด้วย รายได้ของรัฐที่ลดลง เพราะภาษีที่เก็บได้ลดลงทั้งในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรายได้  สวนทางกับรายจ่ายของรัฐ เช่น รายจ่ายค่ารักษาพยาบาล รายจ่ายพึ่งพิงต่างๆ ไม่นับรวมรายจ่ายประชานิยมที่จะเพิ่มขึ้นมากๆ สุดท้ายก็จะตกเป็นภาระการคลัง

อีกส่วนคือ หนี้ครัวเรือน จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิม เพราะเมื่อเกษียณไม่มีรายได้แต่รายจ่ายจากหนี้ยังคงต้องจ่ายเท่าเดิม อีกทั้งบางคนเลือกที่จะลดรายจ่ายของตนเองลง กระทบกับคุณภาพชีวิตซึ่งก็มีผลต่อการเจ็บป่วย และก็กลับสู่วงจรการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาพยาบาล

 

“ จะเกิดปัญหา ที่ผมเรียกว่า หนี้คู่แฝด คือ หนี้รัฐและหนี้ครัวเรือนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ วันนี้หนี้ครัวเรือน 90% ที่พยายามลดกันอยู่จะลดยากขึ้นเรื่อยๆ”

 

  • ยุทธศาสตร์รับมือ วิกฤตสูงวัย

นอกจากนี้ ภายในงานอธิบดีกรมสรรสามิตยังได้เสนอมุมมองยุทธศาสตร์สานพลัง เพื่อแก้ไขและรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยใน 4 มิติ ได้แก่

  1. เศรษฐกิจ  โดยมองว่าสังคมสูงอายุต้องขยายอายุการทำงาน และเปิดโอกาสให้กับแรงงานที่มีทักษะต่างชาติเข้ามาทำงาน นอกจากนี้ยังต้องเน้นการลงทุนซึ่งเคยเน้นไปที่โครงสร้างประเทศ อย่างถนน ให้ไปอยู่ในเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้กรมสรรสามิตกำลังเตรียมลดภาษีรถยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ 0% เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมดังกล่าวรองรับสังคมสูงวัย
  2. สังคม โดยประเด็นความเหลื่อมล้ำของระบบรองรับหลังเกษียณ โดยมองว่ากลุ่มคนด้านบนที่สามารถดูแลตนเองได้มีจำนวนน้อย ส่วนคนตรงกลางที่ทำงานรับเงินเดือนอยู่ในระบบประกันสังคมจะต้องมีการขยายเงินสมทบให้มากขึ้น ไม่ได้มีลิมิตแค่เพียง 15,000 บาท และท้ายสุดคือคนที่อยู่ฐานรากซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ควรต้องมีการใช้ ‘การออมภาคบังคับ’ ซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานเช่น กอช.เข้ามาดูแลแต่ว่ายังเป็นภาคสมัครใจและมีการสมทบน้อย รวมถึงจำกัดจำนวนการออม
  3. ท้องถิ่นชุมชน โดยมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่หน้าที่ดูแลผู้สูงอายุจะต้องเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องมีการบริหารแบบกระจายอำนาจมากขึ้น เช่น การเข้าไปมีบทบาทของ อสม. ในท้องที่ให้มากขึ้น ทั้งนี้งบประมาณที่นำไปใช้จ่ายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องมีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
  4. ธุรกิจ อย่างเช่นในภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วน GDP อยู่ที่ 6-7% แต่มีประชากรที่อยู่ในภาคนี้ 30% และเป็นคนสูงวัย จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย   นอกจากนี้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเน้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และไม่มีทางเลือกเพราะต้องใช้แรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามา