posttoday

งบบัตรทองปี 68 จ่อให้ ‘ฮอร์โมนข้ามเพศ‘ เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่

28 ตุลาคม 2567

สปสช. เผยแนวทางบริหาร “กองทุนบัตรทอง ปี 68” เพิ่ม 7 สิทธิประโยชน์ใหม่ หนึ่งในนั้นคือการให้ฮอร์โมนแก่บุคคลข้ามเพศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทองภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

2. การปรับปรุงระบบและกลไกการจ่ายของ สปสช. รวมถึงเพิ่มงบประมาณ เพื่อตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของหน่วยบริการ

 

ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทอง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นั้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 46 จังหวัด และจะครบทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567 นั้น จะเป็นการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม และขยายนวัตกรรมบริการต่างๆ เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ฯลฯ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มที่ยังไม่ใช้สิทธิในการรักษาตามระบบ

 

ส่วนบริการผู้ป่วยในในปี 2568 นี้ งบบัตรทองประเภทผู้ป่วยในยังได้มีการเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2567 เพื่อรองรับการรับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองที่มีโอกาสจะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พร้อมกับทำให้หน่วยบริการได้รับค่าบริการเพิ่มขึ้นด้วย

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วยตามนโยบายรัฐบาลก็คือ การดูแลประชาชนให้มากขึ้น โดยปี 2568 จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เป็นการทำต่อเนื่องจากปี 2567 และ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่จริงๆ

 

  • สิทธิประโยชน์ใหม่ บัตรทอง ปี68

สิทธิประโยชน์จากกองทุนบัตรทองปี 68 ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง และสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ได้งบประมาณมาแล้วและต้องมีการพิจารณากันต่อ ได้แก่ 

สิทธิประโยชน์ที่เป็นการทำต่อเนื่องจากปี 2567 ได้แก่

1. การขยายกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV)

2. การคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกในเด็กแรกเกิด

3. การตรวจคัดกรองมะเร็งพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วยปัสสาวะ (OVCCA)

4. สายด่วนสุขภาพจิต 1323

5. บริการสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขังเพิ่มเติม

6. การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสียง

7. การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันโรคไวรัสตับอีกเสบ บี

8. วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (aP vaccine) ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม และอัตราซาวน์

9. การให้บริการที่สถานชีวาภิบาล

10. ยาจิตเวช

11. การรักษาด้วยรังสีโปรตอน

 

สิทธิประโยชน์ใหม่ที่ได้งบประมาณมาแล้ว และจะพิจารณากันต่อ ได้แก่

1. การคัดกรองวัณโรคระยะแฝง

2. การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ

3. สายด่วนวัยรุ่น

4. สายด่วนมิตรภาพบำบัด

5. ศูนย์ให้ปรึกษาทางจิตเวช (Counseling)

6. บริการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีอายุ 30 – 70 ปีทุกรายหรือกลุ่มเสี่ยงสูงด้วยวิธีแมมโมแกรม และอัลตราซาวน์

7. การคัดกรองซิฟิลิสในเยาวชน และวัยรุ่น รวมถึงผู้ต้องขังและประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง