posttoday

'แพทยสภา' ชี้ฟันโทษหนัก! แพทย์แอบอ้างวุฒิฉีด 'สเต็มเซลล์' เกลื่อนเมือง

01 พฤศจิกายน 2567

แพทยสภาชี้ ผิดหลายข้อ! ทั้งคลินิกและแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสเต็มเซลล์ โดยไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ของกฎกระทรวง โดยเฉพาะอ้าง 'สเต็มเซลล์' เพื่อความงาม หน้าเด้ง แข็งแรง! ฟันโทษหนัก ถึงขั้นจำคุก รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องแม้ไม่ใช่แพทย์ก็อาจไม่รอด

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ เมธี  วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา  กล่าวในเวทีเสวนาประเด็น 'ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์' ซึ่งจัดขึ้นที่แพทยสภาเมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม 2567) ในประเด็นข้อกฎหมาย หากแพทย์ใช้สเต็มเซลล์นำไปรักษาอย่างผิดกฎหมายว่า

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สเต็มเซลล์ ในปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่ดูแลคือกระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการบังคับใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาตรฐานการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565  ส่วนในด้านของแพทยสภา จะใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม 2525

 

“ กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงคือ พรบ.สถานพยาบาล 2559 ในมาตรา 68 สรุปคือห้ามโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต โอ้อวด เป็นเท็จ เกินจริง ซึ่งหมายรวมถึงการใช้สเต็มเซลล์ผิดจากข้อบ่งชี้ที่แพทยสภากำหนดจะมีโทษปรับและจำคุกไม่เกิน 1 ปี

ในกรณีที่การโฆษณานั้นดำเนินไปแล้ว ไม่ใช่แค่แพทย์ที่ดำเนินการในเรื่องสถานพยาบาล แต่กรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนในการประชาสัมพันธ์จะโดนโทษดังกล่าวด้วย  ซึ่งเคยมีกรณีที่ศาลตัดสินไปแล้วซึ่งในคราวนั้น ทั้งแพทย์ อินฟลูเอนเซอร์ เจ้าของกิจการ โดนมองว่าเป็นฐานความผิดฐานฉ้อโกงผู้ป่วย”

 

นอกจากนี้ ตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 8 กำหนดให้แพทย์แจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยรับทราบอย่างละเอียดก่อนรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ หากแพทย์ท่านใดมีการโฆษณาโอ้อวด และผู้ป่วยมาทราบทีหลังถึงข้อเสียที่แพทย์ไม่ได้พูดถึงจะถูกฟ้องด้วยมาตรานี้

 

“ ตอนนี้มีแพทย์ถูกฟ้องด้วยมาตรานี้หลายเคสแล้ว”  นายแพทย์เมธีระบุ

 

\'แพทยสภา\' ชี้ฟันโทษหนัก! แพทย์แอบอ้างวุฒิฉีด \'สเต็มเซลล์\' เกลื่อนเมือง

 

  • ใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอื่นที่นอกเหนือกฎกระทรวง ถือเป็น ‘การทดลองในมนุษย์’

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ เมธี  วงศ์ศิริสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยประกาศกระทรวงสาธาณสุขดังกล่าว มีการกำกับไว้ว่าหากแพทย์นำสเต็มเซลล์ไปใช้รักษานอกเหนือไปจากโลหิตวิทยา จะต้องอยู่ในการควบคุมตามประกาศทั้งหมด รวมถึงเซลล์ชนิดต่างๆ ยกเว้นเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด

ซึ่งข้อบ่งชี้ที่ว่าใช้เซลล์รักษาได้คือ 1. โรคที่แพทยสภาให้การรับรอง (โรคทางโลหิตวิทยา)  และ 2.โรคอื่นที่แพทยสภาหรือทันตยสภากำหนดว่าใช้ได้โดยไม่ผิดจริยธรรมและมาตรฐาน ซึ่งมีโรคที่เพิ่มขึ้นมาคือโรคที่เกี่ยวกับกระจกตาและผิวดวงตา

 

“เพราะฉะนั้นหากมีการนำไปอวดอ้างทางความสวยงาม หรือโรคอื่นๆ ฉีดให้หน้าเด้ง อ่อนเยาว์ แข็งแรงขึ้น ทั้งหมดผิดมาตรฐานและประกาศของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด”

 

หากรักษาโรคใดที่นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ จะถือว่าเป็นการวิจัย ซึ่งไม่มีสิทธิเก็บเงินผู้ป่วย หากมีการกระทำดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 9 ของพรบ.สุขภาพแห่งชาติ คือนำผู้ป่วยไปทดลองวิจัยโดยแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้อง และมีการเรียกเก็บเงินเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ตามข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยเรื่องการรักษาจริยธรรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและการทดลองในมนุษย์ 2565 มีเนื้อหาว่าการนำสเต็มเซลล์ที่ไม่ได้รับการรับรองให้รักษาโรคใดๆ จะมีความผิดตามจริยธรรมหลายต่อ และถือเป็นความผิดร้ายแรง

 

  • แพทย์ที่อ้างว่าเชี่ยวชาญ แต่ไม่อยู่ในระบบของแพทยสภา ถือมีความผิด!

นอกจากนี้ กฎหมายวิชาชีพเวชกรรม 2525 ในมาตรา 28 กำหนดว่าแพทย์ไม่สามารถอ้างว่าเชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ รวมถึงศาสตร์อื่นที่ไม่อยู่ในระบบของแพทยสภา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเสริมสวย ร้อยไหม จะไม่อยู่ในสารบบของแพทยสภา

 

หากมีการโอ้อวดคุณวุฒิที่แพทยสภาไม่ได้รับรอง หรือไปเปิดตามมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ได้ขอการอนุมัติจากแพทยสภา จะมีการเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้ มีโทษจำคุกตามมาตรา 44 เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

“แพทย์ควรระวัง เพราะตอนนี้เริ่มมีการลงโทษตามมาตรานี้ ซึ่งไม่เคยมีการหยิบยกมาใช้กับแพทย์ที่อวดอ้างคุณวุฒิมาก่อน แม้ว่าจะมีกฎหมายตราไว้อยู่แล้ว”

 

 

  • แพทยสภาฟันหนักถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต

 ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่าล่าสุดแพทยสภาได้มีการออกประกาศใหม่  ประกาศ 39/2567 เรื่องการโฆษณา เสริมสวย เสริมความงาม โดยควบคุมการโฆษณาการเสริมสวยและเสริมความงาม ยกเว้น การแก้ไขความพิการทางใบหน้าและร่างกาย

 

“ แพทย์ห้ามโอ้อวดเกินจริง และต้องใช้คุณวุฒิที่แพทยสภารับรองเท่านั้น”  หากทำผิดจะมีบทลงโทษตาม ประกาศที่ 62/2567 เกณฑ์กำหนดโทษในความผิดจริยธรรมถึงขั้นพักใบอนุญาต และ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

 

นอกจากนี้ แพทย์อาจจะมีความผิดตามกฎหมายอาญาด้วย โดยเฉพาะในมาตรา 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา  ฐานฉ้อโกง และมาตรา 343 การฉ้อโกงประชาชนจะเข้าข่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้  ประชาชนที่มีความสนใจและมีความกังวลใจสามารถตรวจสอบรายชื่อคุณวุฒิของแพทย์โดยการยื่นเรื่องไปที่แพทยสภา นอกจากนี้ โพสต์ทูเดย์ ได้สอบถามกับแพทยสภาในกรณีที่แพทย์ระบุว่าจบจากต่างประเทศนั้น เบื้องต้นสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของ ABMS หรือ American Board of Medical Specialties ในกรณีที่คุณวุฒิของแพทย์ที่ปรากฎมาจากสหรัฐอเมริกาได้.