กางแผน 'สมศักดิ์' รุกฆาต โรค NCDs เริ่มที่ภาคใต้ หลังพบไตวายสูงกว่าค่าเฉลี่ย
โพสต์ทูเดย์อัปเดตความคืบหน้า แผนรุกฆาต โรค NCDs จากกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ชี้เริ่มโครงการรณรงค์ 'คนไทยห่างไกล NCDs' ทั่วไทยแล้ว หลังสูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เริ่มที่ภาคใต้หลังพบอัตราไตวายสูงกว่าระดับอัตราผู้ป่วยของประเทศ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยออกมาเปิดเผยถึงการผลักดันการแก้ปัญหา NCDs เมื่อครั้งบรรยายพิเศษหัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย”ในงานประชุมวิชาการสถาบันมหิตลาธิเบศร-ปธพ.X-ปนพ.1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า
ประชาชน มีปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ มีผู้ป่วย เบาหวาน 6.5 ล้านคน ความดัน 14 ล้านคน โรคไตทุกระยะ ประมาณ 1 ล้านคน มะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคน ต่อปี และมีปัญหาสุขภาพจิต สูงถึง 10 ล้านคน
ซึ่งปี 2562 มีงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ WHO บ่งชี้ว่า คนไทยเสียชีวิต เพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ กว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลทางตรง จำนวน 139,000 ล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อม จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ตนจึงได้กำหนด 7 นโยบายสำคัญ สำหรับปี 2568 ภายใต้เป้าหมาย "ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง”
ทั้งนี้ เมื่อเจาะไปที่โรคไต ซึ่งเป็นปัญหาและภาระทางการเงินอย่างใหญ่หลวงของกระทรวงสาธารณสุข ดังที่ โพสต์ทูเดย์ เคยเปิดเผยงบประมาณการใช้จ่ายในกรณีค่ารักษาโรคไต เฉพาะสิทธิบัตรทอง เมื่อเดือนมีนาคม 2567 พบว่าภาระงบประมาณด้านการ ‘บำบัดทดแทนไต’ ระบุว่าได้ให้งบประมาณใกล้เคียงกับปี 2566 ที่กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมาถึงเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งผ่านมา 5 เดือน (จากเริ่มปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2566 ) ใช้ไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นรองเลขาธิการสปสช. ระบุว่าดูแล้วงบประมาณไม่น่าจะพอสำหรับบำบัดทดแทนไตให้ผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง
ผ่านมาเพียง 4 เดือน ในวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ซึ่งมีการพูดถึงงบประมาณ ปรากฎว่างบประมาณด้านการ ‘รักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง’ ปี 2567 ติดลบ! ถึงกว่า 3 พันล้านบาท หมายความว่า งบสำหรับการใช้ด้านนี้เพียงโรคเดียวในปีนี้ซึ่งยังไม่จบปีงบประมาณ อาจสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว! ซึ่งงบประมาณดังกล่าวที่นำมารักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรค NCDs
นายสมศักดิ์กล่าวว่า หากดูงบ สปสช.ที่จัดสรรเฉพาะให้กับโรคไตย้อนหลัง 5 ปีนั้น พบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีงบละ 946 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 64-68 เพิ่มสูงขึ้นถึง 38.96% ดังนั้น เพื่ออนาคตของระบบสาธารณสุขไทยที่ยั่งยืน ตนจึงผลักดันนโยบาย เช่น
1. โรงเรียนเบาหวานวิทยา นับคาร์บ ลดไขมัน เพิ่มโปรตีน
2. กระเป๋าอสม. กับการรณรงค์ ลดผู้ป่วย NCDs
3. การใช้สมุนไพรไทย กินเป็นไม่ป่วย
4. การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ที่ดีขึ้น (4 เป็น 9 สายพันธุ์)
5. มีแนวคิดที่จะกำหนดให้ NCDs เป็นวาระแห่งชาติ
6. แคมเปญ "สุขภาพดี ภาษีมีลด"
ต่อมาไม่กี่สัปดาห์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นายสมศักดิ์ลงพื้นที่ภาคใต้ ประกาศปักหมุดรณรงค์โครงการ “คนไทยห่างไกล NCDs” ปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นแห่งแรกทันที และเตรียมปักหมุด 6 จุดทั่วไทย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและของประเทศ
ภายในงาน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs จะดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่
- สร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดย จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมสร้างครู ก เป็นแกนหลัก เริ่มต้นอำเภอละ 1 ตำบล, จัดตั้ง NCDs Remission Clinic ในโรงพยาบาลทุกระดับ/รพ.สต. ทุกจังหวัด และสร้างทีมผู้นำต้านภัย NCDs ทั้งระดับเขตในทุกจังหวัด ระดับอำเภอๆ ละ 1 ทีม และระดับ รพ.สต. ตำบลละ 1 ทีม
- ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินการ NCDs remission Clinic, พัฒนาคู่มือแนวทางการดำเนินงาน / ระบบรายงานข้อมูล
- ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผล
โดยกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs จะจัดขึ้น 6 ครั้ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เริ่มครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ คือ เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 รวม 14 จังหวัด ซึ่งสถานการณ์โรค NCDs ในเขตสุขภาพที่ 11 ยังมีอัตราการป่วยตายและผู้ป่วยรายใหม่ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเขตสุขภาพที่ 12 ที่พบว่าผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรังรายใหม่ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 มีอัตราผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสูงกว่าระดับประเทศ รวมมูลค่ายาที่ใช้รักษาถึง 707 ล้านบาท