พารู้สิทธิประโยชน์ 'การบำบัดไตผ่านเครื่อง APD' ทั้งประกันสังคมและบัตรทอง
สิทธิประโยชน์ 'บัตรทอง' และ 'ประกันสังคม' ต่างให้สิทธิแก่ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กรณีการบำบัดทดแทนไต โดยเครื่อง APD แล้ว! โพสต์ทูเดย์จะพารู้สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ รวมไปถึงรู้จักเครื่อง APD ให้มากขึ้น!
สิทธิประกันสังคม
ล่าสุด นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงการดูแลผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไต ว่า การรักษาโรคไตวายเรื้อรังเป็นภาระที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วย โดยกรณีผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กรณีการบำบัดทดแทนไต สำนักงานประกันสังคมยังได้ให้สิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมที่ป่วยสามารถล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) ให้กับผู้ประกันตนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติแม้เวลากลางคืนขณะหลับ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้
- ค่าวางท่อสำหรับการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ
สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้า-ออกช่องท้อง พร้อมอุปกรณ์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลไม่เกิน 20,000 บาท/ราย/ 2 ปี
- ค่าบริการสำหรับบริการทำ APD
สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตกรณีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติแก่สถานพยาบาลที่ให้การรักษา ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 32,700 บาท/เดือน ครอบคลุมค่าตรวจรักษา ค่าเครื่องล้างไตอัตโนมัติ ค่าน้ำยาและอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วม พร้อมมีเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลไปติดตั้งที่บ้านผู้ป่วยเพื่อให้พร้อมใช้งาน ค่าซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องเมื่อมีปัญหา ค่าสอนผู้ป่วยและญาติโดยพยาบาล รวมถึงมีบริการ Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมในการให้บริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ จำนวน 77 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิกรณีล้างช่องท้องดังกล่าว จำนวน 96 ราย สำหรับผู้ประกันตนที่ประสงค์จะใช้สิทธิรับบริการจะต้องยื่นขอรับการอนุมัติก่อนที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ต้องการใช้สิทธิ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือสายด่วนประกันสังคม โทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)
สิทธิบัตรทอง
จากการเปิดเผยของ สปสช. ระบุว่าการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ยืนยันเป็นสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทอง 30 บาท ไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถยืมเครื่องกลับบ้านได้
โดยที่ผ่านมา จากข้อมูลของสปสช. ระบุว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้เครื่อง APD สูงสุดได้แก่ เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 624 ราย รองลงมาเป็น เขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 456 ราย เขต 5 ราชบุรี 363 ราย เขต 4 สระบุรี 273 ราย และเขต 8 อุดรธานี 247 ราย อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ กทม. พบว่าจำนวนผู้ใช้เครื่อง APD ยังมีไม่มาก สปสช. จึงได้ส่งเสริมให้เกิดหน่วยบริการในพื้นที่ โดยเพิ่มหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
ล่าสุดได้มีการเปิดตัวศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ถือเป็นเอกชนแห่งแรกที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง และในอนาคต สปสช. จะขยายจำนวนหน่วยบริการภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ดูแลท่าน หรือ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อดีของการทำ APD
สำหรับผู้ป่วย : การล้างไตด้วยเครื่อง APD ต่างจากการล้างไตทางหน้าท้องด้วยตัวเอง (CAPD) ตรงที่ CAPD จะมีรอบการล้างเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 รอบ/วัน และต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะล้างเพียง 1 ครั้งต่อวันโดยใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยสามารถเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน จึงเหมาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันหรือออกไปทำงานในตอนกลางวันถึงช่วงเย็นได้สะดวกและไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุที่จะช่วยให้พักผ่อนได้มากขึ้นด้วย
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ : สปสช. เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด (HD) มากถึง 80% ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องมีเพียง 20% ที่สำคัญการล้างไตด้วยการฟอกเลือดจำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลอย่างใกล้ชิด และจากรายงานยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตมากขึ้นจากวิธีการดังกล่าวด้วย ดังนั้น บอร์ด สปสช. จึงมีความเห็นว่าการล้างไตทางช่องท้องก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และจะตอบโจทย์ต่อการมีระบบล้างไตที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน มีนวัตกรรมล้างไตทางช่องท้องใหม่ คือ เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ที่มีความสะดวกและสามารถใช้แทนการล้างไตทางช่องท้องแบบวิธีเดิม (CAPD) ที่ต้องล้างเองวันละ 4 ครั้งได้ จึงน่าจะตอบโจทย์ และเป็นการลดภาระงานแก่บุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง