สงสัยว่าตนเองเป็นสมาธิสั้น ตรวจได้ภายใน 10 นาที!
การตรวจวินิจฉัยสมาธิสั้นในเด็กจัดเป็นเรื่องยุ่งยากอันดับต้นๆ ต้องอาศัยการสังเกต เก็บข้อมูล และซักประวัติที่กินเวลานานนับเดือน แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีหูฟังที่ช่วยวินิจฉัยสมาธิสั้นใน 10 นาที
สมาธิสั้น หรือ ADHD เป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองบางส่วน ส่งผลให้ผู้ป่วยมักมีอาการขาดสมาธิ ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง ไปจนหุนหันพลันแล่น แต่ที่ยากกว่าคือแนวทางในการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคในแต่ละครั้งที่มีความซับซ้อน ต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลาประเมินผลเป็นเวลานาน
แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีการคิดค้นชุดหูฟังรุ่นใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้ภายใน 10 นาที
หูฟัง BCI ที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยสมาธิสั้น
ผลงานนี้เป็นของ National Yang Ming Chiao Tung University จากไต้หวัน กับการคิดค้นอุปกรณ์หูฟังรุ่นใหม่ อาศัยกลไกการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้สวมใส่ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยสมาธิสั้นได้สะดวก แม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น
พื้นฐานของชุดหูฟังนี้มาจากเทคโนโลยี Brain computer interface ที่มีการใช้งานทั่วไปในกลุ่มผู้ป่วยอัมพาต เป็นเทคโนโลยีส่งผ่านคลื่นไฟฟ้าจากสมองสู่คอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ทางทีมวิจัยนำเทคโนโลยีนี้มาตรวจสอบคลื่นสมอง เพื่อชี้วัดว่าผู้สวมใส่มีอาการสมาธิสั้นหรือไม่
ขั้นตอนการใช้งานของอุปกรณ์เรียบง่ายเพียงนำหูฟังมาสวมใส่พร้อมขั้วไฟฟ้าไปแนบบนหน้าผาก จากนั้นแบบทดสอบจะปรากฏขึ้นมาให้ทำในรูปแบบของเกม โดยจะชี้วัดผ่านการตอบสนองทางสายตา การได้ยิน และคลื่นสมองของผู้ป่วย จากนั้นจึงบันทึกและส่งไปประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์ AI เพื่อตรวจสอบอาการของผู้ใช้งาน
ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้เข้าร่วมการทดสอบที่เป็นเด็ก พอใจและให้ความร่วมมือในการทำแบบทดสอบมากกว่าการตรวจวินิจฉัยทั่วไป ย่นระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัยในแต่ละรายลงมาก ชุดหูฟังสามารถแสดงผลลัพธ์การตรวจออกมาได้ภายในเวลาราว 10 นาที และมีความแม่นยำในการตรวจถึง 95%
แม้เครื่องมือนี้จะยังต้องอาศัยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยสมาธิสั้นสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก
สู่การแก้ปัญหาโรคสมาธิสั้นในปัจจุบัน
สมาธิสั้น เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในวัยเด็กที่ถูกละเลยและไม่ได้รับการดูแลรักษาได้ง่าย เนื่องจากความซับซ้อนของอาการ พฤติกรรมตามปกติของช่วงวัย และความก้ำกึ่งระหว่างสมาธิสั้นกับความไม่ใส่ใจของตัวเด็ก ทำให้การประเมินและแยกแยะโรคเป็นไปได้ยากจนมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคชนิดอื่น
นอกจากความยากในการสังเกตอาการของผู้ป่วยที่เป็นเด็กแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคือการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละรายค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติ สังเกตพฤติกรรม ทำแบบสอบถามวัดอาการ ประเมินสภาพจิตใจ รวมถึงสัมภาษณ์ครูและผู้ปกครอง แล้วนำมาประมวลผลเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
เด็กที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือดูแลรักษาเพียงพอ มีความเป็นไปได้ที่โรคนี้จะนำไปสู่ความผิดปกติอื่นเพิ่มเติม เช่น ความผิดปกติในการเรียนรู้ วิตกกังวล ไปจนซึมเศร้า และยังมีโอกาสที่อาการนี้จะติดตัวไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่ด้วยขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่กินเวลานานหลายเดือน เด็กบางคนจึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอาการนี้
นี่เองจึงเป็นส่วนที่ชุดหูฟัง BCI เข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการตรวจวินิจฉัยผ่านอุปกรณ์เพื่อชี้วัดการตอบสนองและคลื่นสมอง ลดขั้นตอนยุ่งยากและระยะเวลาในการวินิจฉัยอาการลง แม้จะเป็นเพียงเครื่องมือประกอบการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญ แต่จะช่วยลดขั้นตอนการวินิจฉัยดั้งเดิมให้ลดลงกว่า 66% เลยทีเดียว
ตัวอุปกรณ์ได้รับการออกแบบให้ใช้งานร่วมกับเด็กเป็นหลัก แต่ก็สามารถตั้งค่าการประมวลผลให้ใช้งานร่วมกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันมีผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นมากขึ้น ทั้งจากที่ไม่ได้รับการรักษาในวัยเด็ก หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ที่มีโอกาสกระตุ้นให้อาการสมาธิสั้นกำเริบและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
หูฟังชนิดนี้จึงจัดเป็นอุปกรณ์ช่วยวินิจฉัยซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้ารับการรักษาโรคสมาธิสั้นมากขึ้นต่อไป
ปัจจุบันชุดหูฟัง BCI นี้ยังอยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนา เพื่อให้หูฟังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และใช้พลังงานน้อยลง แต่เป้าหมายของทีมวิจัยไม่ได้จบแค่นั้น พวกเขาตั้งเป้าให้หูฟังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีดูแลสุขภาพอัจฉริยะ โดยการนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพการนอน ตรวจจับอาการไมเกรน รวมถึงฟื้นฟูระบบประสาทที่เสียหายจากหลอดเลือดสมองต่อไป
ที่มา
https://newatlas.com/adhd-autism/game-based-adhd-device/