แพทองธาร โชว์ความสำเร็จ"30 บาทรักษาทุกโรค"กลางเวที เอเปค
แพทองธาร ยก ประเด็นสุขภาพ ยกความสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกโรค โชว์ บนเวทีสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค เผย รัฐบาลพร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หนุนนักลงทุนต่างชาติด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเกียรติจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) ขึ้นกล่าวบนเวทีเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 พ.ย. 67 (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้หยิบประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะ "โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค" ขึ้นมากล่าวในวาระสำคัญครั้งนี้ โดยย้ำว่า สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันพบว่า ความสูงวัย สุขภาพ และนวัตกรรม เกี่ยวกันโดยตรงที่จะส่งผลกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน
ประเทศไทยเชื่อว่า หากประชาชนมีสุขภาพที่ดีจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และจะเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” (Universal Health Coverage (UHC)มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ทำให้ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนไทยมีราคาไม่แพง แต่มากด้วยคุณภาพในการรักษา และเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมสุขภาพของคนไทยทุกคน
นายกรัฐมนตรียังได้แสดงทัศนะอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร (demographic shift) ที่ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูง (Super Aged Society) ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังในการพัฒนาประเทศลดน้อยลง รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าหรือ UHC เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน และ
ในเดือนที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ปรับปรุงนโยบายเมื่อ 22 ปีที่แล้ว จาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดมีความพร้อมที่จะดูแลรักษาประชาชนคน โดยรัฐบาลกำหนดค่าใช้จ่ายไว้เพียงแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหมือนเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้สึกที่ดีมีศักดิ์ศรีที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการ ไม่ใช่มาขอรับการรักษาฟรีจากรัฐ
นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ของไทย ยังมีการพัฒนา ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นโดย ประชาชนสามารถตรวจ สุขภาพหรือปรึกษาแพทย์จากที่ใดๆในประเทศไทยได้ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เชื่อมโยง ข้อมูลสุขภาพ (Health Link) กับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้บริการดูแลสุขภาพอย่างไร้รอยต่อในทุกสถานพยาบาลของไทย
"ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เรามีแอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application) ที่ให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดีของประเทศไทยอีกด้วย"
นายกฯ กล่าวอีกว่า เมื่อ 21 ปีที่แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2003 ขณะนั้นในภูมิภาคเผชิญกับปัญหาโรคซาร์ส ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รัฐบาลไทยในขณะนั้น ตั้งคณะทำงานด้านสุขภาพเพื่อแก้ไข สถานการณ์ดังกล่าว และได้เปลี่ยนมาเป็นคณะทำงานด้านสุขภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานของเอเปคในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันมีภารกิจครอบคลุมประเด็นต่างๆมากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบสุขภาพที่มีความพร้อมอย่างรอบด้าน และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ( 2022 ) ไทยเป็นเจ้าภาพจัด APEC Health Week Policy Dialogue ที่กรุงเทพฯ และทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดตัวโครงการ APEC Smart Family ซึ่งเป็นการทำงานด้านนโยบาย ในรูปแบบการเพิ่มปริมาณประชากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวทางประชากรในเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค เอเปคจึงมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจ
"เอเปคมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในบางประเทศที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้เพียงลำพังได้ เอเปคจึงจำเป็นที่ต้องใช้แนวทางความร่วมมือในทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดี และยืนยาวขึ้น และขอสนับสนุนให้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่ และยกระดับทักษะอีกด้วย"
นายกฯ กล่าวอีกว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพ และความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น จากแนวคิดนี้ จึงเกิด ธุรกิจ “เวลเนส“ (the Care and Wellness Economy) ซึ่งผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง และต้นทุนที่ไม่สูงนัก ทำให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
" รัฐบาลให้นโยบายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ของไทย ให้มีมาตรการทางภาษี และมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และสภาธุรกิจเอเปคมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆด้วย"