ล้วงลึก! แพทยสภาแจงทุกข้อสงสัย ฟ้อง สปสช. ย้ำ 'ปลอดภัย' ต้องมาก่อน 'สะดวก' (1)
ดั่งสายฟ้าฟาด! เมื่อโครงการที่เป็นหน้าเป็นตาให้ สปสช. อย่างนโยบาย ‘ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ปชช.สามารถรับยาฟรีใน 32 กลุ่มอาการ ถูกแพทยสภาฟ้องร้อง และมากกว่านั้นคือศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องเสียด้วย!
จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่น ส่วนประชาชนก็ได้แต่งงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น? เพราะโครงการดังกล่าวมีมานานกว่า 1 ปีและมีการ ‘อัปเกรด’ จาก 16 กลุ่มอาการเป็น 32 กลุ่มอาการ ภายใต้การประชาสัมพันธ์ว่า รับยาฟรีกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
โพสต์ทูเดย์ รวบรวมประเด็นข้อสงสัยของทุกฝ่าย หอบไปถามและขอข้อมูลจาก รศ.(พิเศษ) เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ตลอดจน ‘แหล่งข่าววงใน’ อย่างตรงไปตรงมา และสรุปเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
- ข้อถกเถียงหลัก ‘เภสัช’ วินิจฉัยโรคหรือไม่? ในนโยบายนี้
ข้อสำคัญที่มีการโต้เถียงเกิดขึ้นคือ ‘ประเด็นการวินิจฉัยโรค’ ที่แพทยสภายึดเป็นจุดยืนว่าเกิดการก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากเภสัชไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคตามพรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม
โดยแพทยสภายืนยันจุดยืนคือ 'เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนในทุกมิติ แต่ความปลอดภัยต่อชีวิตต้องไม่ถูกลดทอนลงไปโดยเด็ดขาด' ทั้งนี้แพทยสภาชี้แจงว่าประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาที่จะส่งผลต่อ ความปลอดภัยในชีวิตและอนามัยของประชาชนทั่วประเทศในหลายประเด็น
ในแง่ของกฎหมาย หลักคือ การก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา 4 และมาตรา 8(1) แห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ที่แพทยสภามีหน้าที่ต้องดูแลตามกฎหมาย กล่าวคือ ประกาศดังกล่าวเป็นเสมือนให้การรับรองว่า ‘เภสัชกรสามารถทำงานแทนแพทย์โดยเสมือนทำการวินิจฉัยโรคและจ่ายยาได้เองโดยไม่ต้องผ่านการตรวจรักษาของแพทย์' หรือไม่?
ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและอนามัยของประชาชนทั่วประเทศแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายต่อเภสัชกรทั่วประเทศในการละเมิดมาตรา 43 แห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม รวมไปถึงเจ้าของกิจการร้านขายยาและเภสัชกร ก็จะกระทำผิดตามมาตรา 29 แห่ง พรบ.ยาโดยอาจไม่รู้ตัว และผิดกฎหมายสถานพยาบาล ซึ่งกม.เหล่านี้มีไว้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน
อย่างไรก็ตาม นายกเภสัชกรรมได้ออกมาให้ข่าวกับทาง Hfocus.org โดยมีการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการวินิจฉัยโรคแต่อย่างใดสวนทางกับการฟ้องร้องของแพทยสภา โพสต์ทูเดย์ จึงเกิดคำถามว่ามีจุดไหนที่แสดงถึงการวินิจฉัยโรคของ ‘เภสัชกร’ ในนโยบายดังกล่าวหรือไม่?
แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในขั้นตอนของการบริการของร้านขายยามีการกรอกรหัสโรค (ICD)ในระบบหลังการจ่ายยา ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานการวินิจฉัยโรคแล้วว่ามีการวินิจฉัยโรคและละเมิดกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากการกรอกรหัสโรคนั้นจะกระทำได้ โดยแพทย์เท่านั้น มิฉะนั้นหากทำโดยบุคคลอื่นและนำไปเบิกเงินหลวง อาจสุ่มเสี่ยงต่อความผิดที่เกี่ยวข้องบางประเด็น
แม้ว่า สปสช. จะมีการยกเลิกกระบวนการนี้ภายหลัง แต่คำถามคือ ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่? ซึ่งหากไม่มีการกรอกรหัสโรค ฐานข้อมูลผู้ป่วยก็จะบิดเบี้ยวไปหมด เพราะฉะนั้นสถิติว่าคนตายด้วยโรคอะไร ป่วยด้วยโรคใดจะบิดเบี้ยวไปเช่นกัน และจะทำให้มีปัญหาระยะยาวกับการวางแผนทั้งนโยบายสาธารณสุข การตั้งงบประมาณสาธารณสุข และกระทบนโยบายการวางแผนงบประมาณของชาติตามมา
นอกจากนี้แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “คู่มือเภสัชกรชุมชน” ที่สภาเภสัชกรรมวางแนวทางขึ้นมา โดยให้ความเห็นว่า ในเนื้อหาของคู่มือดังกล่าวเปรียบเหมือนเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคก่อนสั่งจ่ายยาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรือให้คำแนะนำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งทำให้คณะกรรมการแพทยสภาที่มีตัวแทนจากทั้งกระทรวงสาธารณสุขและคณบดีที่ดูแลการเรียนการสอนของแพทย์ทั้งประเทศ เกิดความกังวลว่า ประชาชนทั้งประเทศจะตกอยู่ในความเสี่ยงของการได้รับยาทั้งโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าทางคณะทำงานแพทยสภา ร่วมกับ ราชวิทยาลัยทางการแพทย์ และสมาคมทางการแพทย์ได้ศึกษาคู่มือดังกล่าวแล้วพบว่า มียาอันตรายหลายอย่างที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการปกติธรรมดา และยาหลายชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่สั่งจ่ายผ่านความเห็นของแพทย์ ที่ต้องทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรคก่อนสั่งจ่ายยาเช่น ยารักษาไมเกรน ( Ergotamine) ที่มีผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นตัดแขนหรือขา เป็นต้น
- ประชาชนสงสัย ซื้อยาที่ร้านด้วยตัวเองตลอด ทำไมไม่มีปัญหา
จากประเด็นข้อสงสัยนี้ โพสต์ทูเดย์ ได้ไปสอบถาม รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าจะขอชี้แจงตามข้อกฎหมาย มีกฎหมายที่ว่าประชาชนสามารถซื้อยาที่ร้านยาได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายในประเด็นประชาชนสามารถวินิจฉัยโรคด้วยตัวเองเบื้องต้น เช่น ท้องเสียและคิดว่าอาหารเป็นพิษจึงไปซื้อคาร์บอนหรือยาแก้ท้องเสีย ซึ่งกฎหมายให้อำนาจเภสัชกรในการขายยาได้ โดยเภสัชกรมีหน้าที่แนะนำเรื่องยา เช่น แพ้หรือไม่ ยาต้องกินกี่ครั้ง อาการที่จะเกิดหลังจากกินยาคืออะไร อำนาจหน้าที่ของเภสัชกรคือให้คำแนะนำเรื่องยา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้เภสัชกรจะไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะมีการให้คำแนะนำอย่างไม่เป็นทางการบ้าง แต่ถือว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามในประเด็นที่มีการเปรียบเทียบกับการจ่ายยาของแพทย์ในคลินิกว่าผิดเช่นกันนั้น รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่าแพทย์ไม่ได้ขายยาที่คลินิก หากประชาชนจะต้องซื้อยากินเอง ซื้อยาต่อเพิ่มเติมจากที่แพทย์เคยสั่งให้ ต้องไปที่ร้านขายยา ถ้าจะตรงเข้าไปที่คลินิกเพื่อซื้อยานั้นทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย กฎหมายตาม พรบ.ยา อนุญาตให้หมอขายหรือจ่ายยาได้เฉพาะคนไข้ที่หมอตรวจเท่านั้น หากไปคลินิกแล้วแพทย์ไม่อยู่มีแต่ผู้ช่วยอยู่แล้วขายยาก็จะผิดทันทีเช่นกัน
นอกจากนี้คลินิกจะมียาเพียงแค่ไม่กี่ประเภทที่หมอจะคุ้นเคยกับยาที่ตนเองสั่งจ่ายยา ต่างกับร้านยาที่มียาในสต็อคเป็นจำนวนมาก ในทางปฏิบัติหากแพทย์พบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาที่คลินิกไม่มี ก็จะต้องแนะนำหรือออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อยาและรับคำแนะนำเรื่องยาจากเภสัชกรประจำร้านยา
ส่วนการระบุถึงการจ่ายยาโดยไม่เขียนชื่อยาหน้าซองของแพทย์ เพื่อไม่ให้ประชาชนไปซื้อยาเอง เพราะเกรงว่าจะขาดรายได้นั้น ก็ผิดตามกฎหมายซึ่งประกาศใช้มาราว 2 ปี โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หากคลินิกไหนจ่ายยาไม่มีชื่อยาและรายละเอียดของยานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งแพทยสภาเห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุขและสภาเภสัชกรรมอย่างมากเพราะเป็นความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยา จึงสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่
- แพทย์ระบุการวินิจฉัยก่อนการให้ยาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ และเอาความปลอดภัยมาก่อนความสะดวก
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวินิจฉัยโรคก่อนให้ยาว่า บางอาการใน 16 กลุ่มอาการหรือ 32 กลุ่มอาการเป็นอาการที่ดูเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จริง แต่ถ้าหากไม่มีการตรวจเพิ่มเติมอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาได้ เพราะให้แค่ยากลับไป
" บางคนอาจบอกว่าอีกสามวันมีการโทรติดตามอาการ ซึ่งดูเหมือนจะแค่ไม่กี่วันเองทำไมต้องกังวลด้วย แต่ก็อยากให้ลองคิดว่าผู้ป่วยได้ยาไปแล้วไม่ดีขึ้น ตอนดึกจะโทรปรึกษาใคร ใครให้คำแนะนำเพิ่มเติมในภาวะเร่งด่วน หลายโรคที่มีการแสดงออกเหมือนเจ็บป่วยเล็กน้อยในครั้งแรกที่มีอาการอาจจะตายหรือพิการได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ดังที่เป็นข่าวเนือง ๆ เช่น เจ็บกล้ามเนื้อแล้วไม่กี่ชั่วโมงก็เสียชีวิตจากหัวใจวาย หากแพทย์ได้มีโอกาสตรวจเบื้องต้นและมีการตรวจร่างกายหรือส่งตรวจเลือดเพิ่มเติม ก็จะช่วยดึงโอกาสรอดชีวิตนี้กลับมาได้ ปวดศีรษะที่ดูเหมือนเล็กน้อยแล้วไปวินิจฉัยว่าเครียด แต่อาจหมายถึงการพิการถาวรครึ่งซีกจากเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งทั้งแพทยสภาและสปสช.เองก็ร่วมกันรณรงค์มาตลอดให้รีบไปพบแพทย์ ทำให้แพทยสภาวิตกห่วงใยประชาชนมากต่อนโยบายเพิ่มความสะดวกแต่ลดความปลอดภัยนี้ ทั้ง ๆ ที่แพทยสภาพยายามเสนอทางออกที่ดีทั้งสองฝ่าย ทั้งความสะดวกและความปลอดภัยแต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ เลยตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา"
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการทักท้วงจากแพทย์หลายต่อหลายฝ่ายเพิ่มเติมเข้ามายังแพทยสภา อย่างเช่น ทางราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทยก็ทักท้วงว่า ‘อาการตกขาวผิดปกติของผู้หญิง’ ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้วไปร้านขายยาซึ่งให้แค่ยาเหน็บ เพราะตกขาวอาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง ต้องตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ต้องดูข้อมูลประวัติที่มีในโรงพยาบาล จึงจะทราบไม่ใช่ตกขาวแล้วให้ยาเหน็บเลยเพราะมีแรงจูงใจที่จะไปขึ้นเงินได้ฟรีจากสปสช.
โพสต์ทูเดย์ถามย้ำกลับว่า แต่ในนโยบายดังกล่าวมีการติดตามอาการหลังให้ยา 3 วัน เป็นระยะ ๆ
"หากไม่นับว่าในทางปฏิบัติว่าทำได้จริงแค่ไหน? แม้จะประเมิน 3 วัน โรคเหล่านี้รอแบบนั้นไม่ได้ หากคนไข้ตายหรือพิการแล้วจะทำอย่างไร คำถามต่อมาใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ”
ข้อกังวลที่ตามมาหลังการจ่ายยาโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยดังกล่าว ทางแพทยสภาถูกสมาชิกแพทย์ร้องเรียนกลับมาหลายต่อหลายครั้ง ว่าการที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้าจากต้นทาง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับแพทย์แต่ส่งผลเสียต่อประชาชน ประชาชนจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการจ่ายยานั้นถูกต้องตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลและการวินิจฉัยโรค สปสช.หรือสภาเภสัชกรรมจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนแพทยสภาใช่หรือไม่ และหากมีคดีฟ้องร้องเภสัชกรว่าจ่ายยาผิดหรือไม่เหมาะสม เมื่อมีคดีไปสู่ศาล ศาลจะให้องค์กรใดช่วยให้ความเห็นก่อนทำคำพิพากษา?
บทสรุปสุดท้าย ผลเสียนั้น จะเกิดขึ้นแก่ใคร? เมื่อนโยบายนำเอาความสะดวกมาก่อนความปลอดภัย
ล้วงลึก! แพทยสภาฟ้อง สปสช. ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ตอนหน้า ล้วงลึกทำไม แพทยสภาใช้เวลานานกว่าจะฟ้อง แม้จะรู้ว่าจะโดนตำหนิจากประชาชน และตอบข้อสงสัยทำไมหน่วยงานรัฐถึง ‘ไม่คุยกัน’ มีการกล่าวว่าที่ประเทศอังกฤษทำได้ทำไมไทยถึงไม่ทำ?
ทิ้งไว้เพียงว่า แพทยสภาใช้เวลามาเป็นปี แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนคดีหมดอายุความ ก่อนศาลปกครองสูงสุดกลับคำวินิจฉัยศาลปกครองชั้นต้นหลังจากแพทยสภายื่นอุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ!.