ไม่ไกลเกินฝัน Exoskleton ที่ช่วยให้ผู้พิการเดินและสวมใส่ได้เอง
ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยิน Exoskeleton ที่ช่วยให้ผู้พิการกลับมาเดินได้อยู่บ้าง แต่เรากำลังจะล้ำไปอีกขั้นเมื่อล่าสุดมีการคิดค้น WalkON Suit F1 อุปกรณ์สนับสนุนการเดินที่สามารถสวมใส่ได้เอง
ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ถือเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับการผู้พิการและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่าง ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความสะดวกและประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากมายคอยสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้ชีวิตของพวกเขากลับมาใกล้เคียงกับปกติ
แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีการคิดค้นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้กลับมาเดินด้วยสองขาของตัวเอง
WalkON Suit F1 โครงกระดูกภายนอกสนับสนุนการเดินจากเกาหลี
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST) แห่งเกาหลีใต้ กับการพัฒนา Exoskeleton รุ่นใหม่ WalkON Suit ที่ช่วยให้ผู้พิการไปจนผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่างสามารถกลับยืนและเดินด้วยสองขา จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ
แนวคิดในการพัฒนา Exoskeleton เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้พิการและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่างให้สามารถพยุงตัว ลุกยืน และกลับมาเดินด้วยสองขา นำไปสู่การเริ่มต้นค้นคว้าวิจัยนับแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี 2020 ก็ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้สามารถร่วมแข่งขันวัดสมรรถนะได้สำเร็จ
Exoskeleton ที่ได้รับการเปิดตัวให้เข้าร่วมการแข่งขันคือ WalkON Suit 4.0 ชูจุดเด่นในด้านรองรับการใช้งานทั้งในกลุ่มผู้พิการ และผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่างระดับ A เป็นระดับอาการรุนแรงที่สุดซึ่งผู้ป่วยสูญเสียระบบสั่งการและรับความรู้สึกท่อนล่างโดยสมบูรณ์ให้สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง
WalkON Suit 4.0 สามารถทำความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ถึง 3.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบเท่าระดับความเร็วการเดินปกติของคนทั่วไป อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถเคลื่อนที่ผานสิ่งกีดขวางและทางแคบในชีวิตประจำวัน เช่น ทางเดินแคบ ประตู ไปจนบันไดได้อีกด้วย
สู่มิติใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นอีกต่อไป
สำหรับหลายท่านการนำ Exoskeleton มาใช้สนับสนุนผู้พิการไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากหลายบริษัทที่ได้รับการออกแบบให้ฟื้นฟูสมรรถนะและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ นิยมใช้งานสำหรับกายภาพบำบัด หรือแม้แต่ Atalante X ที่ช่วยให้นักกีฬาพาราลิมปิกสามารถวิ่งคบเพลิงในพิธีเปิดโอลิมปิกได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามอุปกรณ์กลุ่มนี้ยังคงมีข้อจำกัดในขั้นตอนการสวมใส่ แม้ Exoskeleton รุ่นใหม่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้ แต่ขั้นตอนการสวมใส่ก่อนใช้งานยังต้องอาศัยการช่วยเหลือจากภายนอก เนื่องจากต้องพาร่างกายขึ้นไปนั่งด้านบนของอุปกรณ์ ทำให้ทุกครั้งที่สวมใส่ต้องอาศัยคนช่วยประคองพยุงร่างกายจนใช้งานได้ไม่สะดวกนัก
แตกต่างจาก WalkON Suit F1 ที่ถูกออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้จากทางด้านหน้า เมื่อวางขาลงไปอุปกรณ์จะสามารถเลื่อนลงมาเชื่อมต่อเข้ากับขาของผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ ทำให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก แม้จะเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งที่นั่งอยู่บนรถเข็นหรือเตียงก็ตาม
อุปกรณ์ยังมีการติดตั้งจุดศูนย์ถ่วงสำหรับต่อต้านแรงโน้มถ่วง สามารถรักษาสมดุลไว้ได้มั่นคงแม้จะมีการผลักหรือโถมน้ำหนักจากภายนอก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพิงหรือค้ำยันในการยืนขึ้นโดยไม่ต้องกลัวว่าอุปกรณ์จะพลิกคว่ำจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมระบบควบคุมการเคลื่อนไหวความเสถียรสูงและระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางที่ประมวลผลด้วย AI
ในการแข่งขัน Cybathlon 2024 สำหรับวัดสมรรถนะของ Exoskeleton พบว่า WalkON Suit F1 ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนที่ไปด้านข้างผ่านทางแคบ การยกกล่อง เดินโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ ปิดประตู ไปจนการเตรียมเมนูอาหารในครัวง่ายๆ อย่างราบรื่น ภายในระยะเวลา 6 นาที 41 วินาที และเป็นทีมเดียวที่สามารถทำภารกิจทั้งหมดได้สำเร็จ
นั่นทำให้ WalkON Suit F1 ของพวกเขาได้รับชัยชนะและคว้าที่ 1 ของการแข่งขันในที่สุด
จริงอยู่ WalkON Suit F1 อาจได้รับการพัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกและคล่องตัว สามารถยืนสองขาได้โดยสามารถใช้มือได้อิสระ รวมถึงสามารถเดินได้หลายก้าวโดยไม่ต้องพึ่งพาไม้ค้ำ แต่ยังไม่เทียบเท่ากับสองขาของเราจึงยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
แต่ก็เป็นอีกก้าวสำคัญทีช่วยให้ผู้พิการมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
ที่มา
https://www.kaist.ac.kr/newsen/html/news/?mode=V&mng_no=40790
https://newatlas.com/robotics/kaist-walkon-suit-f1-exoskeleton/