posttoday

ไม่ใช่แค่นิวซีแลนด์! ยังมีอีกหลายประเทศที่มีตัวแทน 'ชนเผ่า' นั่งในรัฐสภา

21 พฤศจิกายน 2567

จากกระแสไวรัลรัฐสภาของนิวซีแลนด์ ที่ตัวแทนชาวเมารีเต้นฮักกา ประท้วงร้างกฎหมายที่จะมีการตีความใหม่ โพสต์ทูเดย์พาไปทำความรู้จักรัฐสภาของหลายประเทศ ที่ให้บทบาทแก่ 'ชนเผ่า' หรือ 'กลุ่มชาติพันธุ์' กำหนดให้มีที่นั่งพิเศษในรัฐสภา เพื่อสะท้อนถึงการยอมรับความหลากหลาย

ในยุคที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น  ไม่ใช่แค่ในประเทศนิวซีแลนด์ที่จะได้เห็นตัวแทนชนเผ่า เข้าไปมีบทบาทในรัฐสภา เพื่อเป็นตัวแทนในการสนับสนุน ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เปิดโอกาสให้รัฐสภาได้ถึงพร้อมด้วยการยอมรับความหลากหลาย โดยการกันที่นั่งให้แก่ตัวแทนของชนเผ่าต่างๆ!

 

ประเทศนิวซีแลนด์

ชนเผ่าเมารี

 

ชนเผ่าเมารี (Māori) เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของนิวซีแลนด์  ชนเผ่าเมารีเดินทางจากหมู่เกาะโพลินีเซียมายังนิวซีแลนด์ (Aotearoa ในภาษาของพวกเขา) ระหว่างปี ค.ศ. 1200–1300 โดยใช้เรือแคนูขนาดใหญ่ และตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการนำโรคระบาดอย่าง 'ไข้ทรพิษ' เข้ามาซึ่งทำให้ชนเผ่าเมารีลดจำนวนลงไปอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

ในปี 1840 ชนเผ่าเมารีและตัวแทนของจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาที่มีชื่อว่า 'ไวตังหงิ' (Treaty of Waitangi) เป็นสนธิสัญญาที่ มีเป้าหมายเพื่อรับรองสิทธิของเมารีในดินแดนและทรัพยากรของพวกเขา ในขณะเดียวกันก็ยอมรับอำนาจของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเกิดข้อพิพาทต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนถึงปัจจุบันจากภาษาของสนธิสัญญาทั้งสองฉบับที่มีการตีความคลาดเคลื่อนไปจากกัน จนทำให้ชนเผ่าเมารีต้องเคลื่อนไหวทางการเมือง

กฎหมายที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชนเผ่าเมารีเข้าไปอยู่ในรัฐสภา คือ Maori Representation Act ปี 1867 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีที่นั่งเฉพาะสำหรับชาวเมารีในรัฐสภา 4 ที่นั่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการกำหนดว่าชาวเมารีที่เป็นเจ้าของที่ดิน (ซึ่งเป็นเงื่อนไขการมีสิทธิเลือกตั้งในเวลานั้น) สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเมารีได้ โดยปัจจุบันจำนวนที่นั่งสำหรับชาวเมารีในรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ปัจจุบันชาวเมารีมีที่นั่งในรัฐสภาจำนวน 7 ที่นั่ง

จากการเข้าไปนั่งในรัฐสภา ทำให้ตัวแทนชนเผ่าเมารีมีบทบาทในการส่งเสริมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง เช่น การฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และสิทธิในที่ดิน รวมไปถึงมีส่วนร่วมในการเจรจาเกี่ยวกับการละเมิดสนธิสัญญาไวตังหงิ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นข้อขัดแย้งจนเกิดการประท้วงรัฐบาลของนิวซีแลนด์ เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะตีความสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวใหม่ โดยมีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่าการตีความใหม่ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชนเผ่าเมารี จนทำให้เกิดการเต้น 'ฮักกา' ประท้วงในรัฐสภานั่นเอง

 

ประเทศอินเดีย

ชนเผ่า Bhill ในประเทศอินเดีย

 

ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีกฎหมายให้อำนาจและสิทธิแก่ชนเผ่าอย่างชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยชนเผ่าที่มีตัวแทนในรัฐสภาถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Scheduled Tribes (STs) ตามรัฐธรรมนูญอินเดีย ตัวแทนของชนเผ่าในรัฐสภาได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีการกำหนดที่นั่งสำรอง (Reserved Seats) ใน Lok Sabha (สภาล่าง) และ State Legislative Assemblies (สภานิติบัญญัติของรัฐ) สำหรับชนเผ่าพื้นเมือง ตามมาตราที่ 330 และ 332 ของรัฐธรรมนูญ 

ที่ผ่านมาตัวแทนชนเผ่าในอินเดียได้มีการผลักดันกฎหมายที่สำคัญหลายประการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิของชนเผ่า อาทิ กฎหมาย Forest Rights Act 2006  เป็นกฎหมายของอินเดียที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนที่อาศัยและพึ่งพาป่าไม้มาเป็นเวลานาน กฎหมายนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมในอดีตที่ชุมชนเหล่านี้ถูกลิดรอนสิทธิในที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ในช่วงการปกครองของอาณานิคมอังกฤษและยุคหลังอาณานิคม

หรือ กฎหมาย Panchayats (Extension to Scheduled Areas) Act, 1996 (PESA) ที่มอบอำนาจการปกครองตนเองในพื้นที่ชนเผ่า โดยส่งเสริมสิทธิในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ การให้สิทธิแก่ 'สภาหมู่บ้าน'  ในการอนุมัติหรือปฏิเสธโครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ควบคุมธุรกิจ เช่น การเก็บฟืน การทำเหมืองแร่ขนาดเล็ก และกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ประกอบด้วย 10 รัฐในอินเดีย

 

ประเทศเนปาล

ชนเผ่า Sherpa ในประเทศเนปาล

 

ชนเผ่าในประเทศเนปาลที่ได้รับการรับรองมีอยู่ราว 59 กลุ่ม ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ โดย รัฐธรรมนูญของเนปาล ปี 2015 เน้นการส่งเสริมสิทธิและการมีส่วนร่วมของชนเผ่าในระดับต่าง ๆ ทั้งในแบบระบบโควตา ที่มีการจัดสรรที่นั่งในรัฐสภาสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งพรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อผู้สมัครที่มีความหลากหลาย รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

ซึ่งตัวแทนชนเผ่าต่างๆในรัฐสภาของเนปาล มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2015 เพื่อรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมีใจความสำคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของเนปาล มีการรับรองการใช้ภาษาแม่ในระบบการศึกษา ให้โควตาในรัฐสภา รวมถึงชนเผ่ามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

 

ประเทศโบลิเวีย

ชนเผ่า Aymara ของโบลิเวีย  ภาพจาก : Britannica

 

รัฐธรรมนูญของโบลิเวียในปี 2009  ให้การรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และได้สร้าง "รัฐของชนเผ่าพื้นเมือง" โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองและการยอมรับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการปกครองตนเอง โดยอนุญาตให้มี การปกครองตามแบบดั้งเดิม ในบางพื้นที่และการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของชนเผ่า รับรองภาษาพื้นเมือง การจัดสรรทรัพยากรทางธรรมชาติ ฯลฯ

ส่วนบทบาทในรัฐสภานั้น ได้มีการจัดสรรโควตาในสภานิติบัญญัติห้กับชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้มีตัวแทนที่สามารถผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนเผ่าและกลุ่มที่ด้อยโอกาส รวมไปถึงกำหนดให้พรรคการเมืองในโบลิเวียต้องส่งผู้สมัครจากชนเผ่าพื้นเมืองในรายการสัดส่วน เพื่อให้มีความหลากหลายในการเป็นตัวแทนในรัฐสภา นอกจากนี้ ในช่วงที่ประธานาธิบดี อีโว โมราเลส (Evo Morales) ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง Aymara คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของโบลิเวีย ก็ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับความสำคัญมากขึ้นในกระบวนการทางการเมืองและการกำหนดทิศทางของประเทศอีกด้วย

 

รวันดา

ชนเผ่าใน รวันดา ภาพ : .theethnichome

 

ประชากรในรวันดาประกอบด้วยชาติพันธุ์หลัก 3 กลุ่มได้แก่ ฮูตู (Hutu), ทุตซี (Tutsi) และ ทไว (Twa) หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 รัฐบาลของ ประธานาธิบดี พอล กากามิ (Paul Kagame) ได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงสร้างทางนิติบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ 

ในรัฐธรรมนูญของรวันดาปี 2003 และการแก้ไขในปี 2015 ห้ามการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์และยืนยันว่า การเมืองของรวันดาจะไม่พิจารณาจากชาติพันธุ์ อีกต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการแตกแยกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโควตาที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) และใน วุฒิสภา (Senate) เพื่อให้มีตัวแทนที่หลากหลาย 

นอกจากนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรมีแม้กระทั่งโควตาสำหรับผู้หญิง โดยกำหนดให้ ผู้หญิงต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 30% ในรัฐสภา ซึ่งทำให้รวันดามีจำนวนผู้หญิงในรัฐสภามากที่สุดในโลก

 

ไต้หวัน

ชนเผ่า Atayal ในไต้หวัน

 

ไต้หวันมีชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 16 กลุ่ม กระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มจะมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ชนเผ่าที่สำคัญอาทิ Atayal (อะตายัล) อาศัยในภูเขาของภาคเหนือและภาคกลางของไต้หวัน เป็นต้น

ในระบบการเมืองของไต้หวัน ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการรับรองสิทธิในการเป็นตัวแทนใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Legislative Yuan) ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงและการจัดสรรที่นั่งพิเศษในรัฐสภา โดยกำหนดให้ ชนเผ่าพื้นเมืองมีที่นั่งพิเศษในสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นที่นั่งที่มาจากระบบการเลือกตั้งแบบพิเศษสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง และในสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 113 คน จะมี 2 ที่นั่ง ที่สงวนไว้สำหรับชนเผ่าพื้นเมือง 

สำหรับผลงานของรัฐสภาไต้หวันนั้น ในปี 2001 ไต้หวันได้ผ่านกฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Peoples Basic Law) ซึ่งได้กำหนดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภาษา และทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา และยังรวมถึงการรับรองสิทธิในการมีที่ดินและการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมือง

 

สหรัฐอเมริกา

ชนเผ่า Navajo ในสหรัฐอเมริกา

 

โดยในปี 1911 สหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดที่นั่งพิเศษในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับ ชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านการเลือกตั้งพิเศษจากการตั้งเขตชนเผ่าพื้นเมือง โดยตัวแทนจากชนเผ่า ไม่สามารถลงคะแนนในการอภิปรายหรือการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร แต่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการการอภิปรายและเป็นตัวแทนของชนเผ่าที่เขาเป็นตัวแทน  ส่วนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นชนเผ่าในสหรัฐ สามารถทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบายและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในระดับชาติได้ตามปกติ รวมไปถึงการลงคะแนนในการอภิปรายต่างๆ 

.

.

นอกจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว ยังมีฟิจิ บังคลาเทศ เคนยา และปาปัวนิวกินี ที่ได้ออกแบบรัฐสภาของพวกเขาให้มีพื้นที่แก่ชนเผ่า ในการเข้ามาผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขอบชนเผ่าพื้นเมืองเช่นกัน  สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการจัดสรรที่นั่งพิเศษในรัฐสภาให้กับ 'ชนเผ่าพื้นเมือง' โดยตรง อย่างไรก็ตามชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในการมีตัวแทนในรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง.