posttoday

รวบมาแล้ว! ผู้ประกันตนควรใช้สิทธิประกันสังคม เช็คสุขภาพอะไรบ้างใน 1 ปี

21 พฤศจิกายน 2567

รวบมาให้แล้ว! ผู้ประกันตนควรใช้สิทธิประกันสังคม ตรวจเช็คสุขภาพฟรี ครอบคลุมอะไรบ้างใน 1 ปี ตั้งแต่การตรวจน้ำตาลในเลือด ค่าไต มะเร็ง รวมไปถึงการตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา ฯลฯ

ผู้ประกันตนที่มีสิทธิประกันสังคม อย่าลืมไปใช้สิทธิตรวจเช็คสุขภาพของตนเองทุกปี! โดยสำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิเช็คสุขภาพฟรี ดังนี้

 

การตรวจน้ำตาลในเลือด FB

  • เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ด้วยการงดอาหาร 8 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
  • สามารถใช้วินิจฉัย คัดกรอง ผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือใช้ประเมินการรักษาและความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

  • ตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป

  • ควรตรวจ1 ครั้ง/ปี

 

การทำงานของไต

  • การเช็คสภาพของเสียที่ถูกขับจากการทำงานปัจจุบันของไตอย่างการตรวจปัสสาวะ และการเจาะเลือดดูค่าไตเพื่อหาสารยูเรียรั่วไหลในกระแสเลือดนั้น 
  • เป็นการตรวจเพื่อประเมินการทำงานและสุขภาพของไต การตรวจการทำงานของไตมีหลายชนิด โดยมักจะตรวจทางเลือดและปัสสาวะ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ช่วยขับของเสียภายในร่างกายมนุษย์  หากอวัยวะส่วนไต เกิดมีการทำงานที่เสื่อมสภาพลง อาจนำไปสู่ ภาวะสารพิษตกค้างภายในร่างกายจนเกิดเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคขนาดใหญ่มาทำลายเซลล์ร่างกายให้มีการทำงานที่แย่ลงได้
  • ตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ควรตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total และ HDL cholesterol

  • เป็นการเจาะเลือดตรวจ
  • สำหรับ Total เป็นการตรวจเช็คว่าระดับคอเลสเตอรอลที่ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรานั้นมีโอกาสที่จะอุดตันในเส้นเลือดหรือไม่
  • ส่วน HDL cholesterol เป็นการเช็คไขมันดีในร่างกายของเราว่ามีมากน้อยแค่ไหน ยิ่งค่า HDL สูงก็ยิ่งดีกับร่างกายของเรามากขึ้นเท่านั้น การเพิ่มระดับ HDL ทำได้ด้วยการออกกำลังกาย ลดอาหารประเภทแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และต้องเลิกบุหรี่อย่างถาวร
  • อายุ 20-34 ปี ตรวจทุก 5 ปี ส่วนผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAG

  • เป็นการเจาะเลือดตรวจ
  • เป็นการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • โดยผู้ที่เกิดก่อนพ.ศ.2535  ตรวจได้ 1 ครั้ง

 

มะเร็งปากมดลูก pap smear

  • เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสูตินรีแพทย์จะใช้เครื่องมือเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนนำส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • อายุ 30 ปีขึ้นไป
  • ตรวจทุก 3 ปี

 

มะเร็งปากมดลูกวิธี Via

  • เป็นการตรวจด้วยน้ำส้มสายชูเพื่อคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกโดยการใช้ สารละลาย Acetic acid เจือจาง 3-5% ชโลมบนปากมดลูกนาน 1 นาทีแล้วสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของสีเยื่อบุปากมดลูก
  • 30-35 ปี 
  • ตรวจทุก 5 ปี

 

มะเร็งปากมดลูก HPV DNA Test ชนิด 2 สายพันธุ์ และชนิด 14 สายพันธุ์

  • คือการตรวจในระดับโมเลกุล เพื่อหาเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 99% โดยมีวิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน คือเก็บเซลล์บริเวณตัวอย่างที่ปากมดลูกช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจเหมือนวิธีการตรวจด้วยน้ำยา
  • 30 ปีขึ้นไป
  • ตรวจทุก 5 ปี

 

ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง FIT TEST

  • โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ
  • เป็นการคัดกรองการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
  • อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

การถ่ายภาพรังสีทรวงอก

  •  การฉายรังสีเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์โดยใช้เวลาเพียง 1-2 วินาทีบริเวณทรวงอก
  • การตรวจบริเวณทรวงอกด้วยการฉายรังสีเอกซ์ เพื่อคัดกรองและหารอยโรคของอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับปอด เพราะการเอกซเรย์ปอดจะสามารถตรวจพบจุดหรือก้อนที่เนื้อปอด เห็นความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอด และเส้นเลือดในปอด รวมถึงอวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณทรวงอกด้วย
  • 15 ปีขึ้นไป 
  • ตรวจทุก 3 ปี

 

การคัดกรองการได้ยิน

  • มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประเมินความสามารถในการได้ยินเสียงในบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารกแรกเกิด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง เพื่อป้องกันและจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

  • 15 ปีขึ้นไป

  • ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

การตรวจเต้านม

  • เป็นการตรวจหาก้อนเนื้อหรือ สิ่งผิดปกติในเต้านมและบริเวณรักแร้อย่างละเอียด
  • 30-39 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 2 ปี
  • 40 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

การตรวจตาและวัดความดันของเหลวภายในลูกตา

  • ใช้ประเมินความเสี่ยงของโรคต้อหิน โรคที่มีการอักเสบภายในลูกตาซึ่งทำให้ความดันลูกตาเปลี่ยนแปลงจากปกติ
  • อายุ 40-54 ปี ตรวจทุก 2 ปี
  • อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC

  •  ค่านี้จะบอกให้รู้ว่าเลือดของเรามีความผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคโลหิตจาง หรือภาวะธาลัสซีเมีย และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
  • อายุ 15-34 ปี ตรวจ 1 ครั้ง
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

ตรวจปัสสาวะ UA

  • เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้วิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป และค้นหาความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินปัสสาวะและไต 
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป 
  • ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

 

รวบมาแล้ว! ผู้ประกันตนควรใช้สิทธิประกันสังคม เช็คสุขภาพอะไรบ้างใน 1 ปี