ล้วงลึก! แพทยสภาฟ้องสปสช. กับท่าทีทุกฝ่าย ก่อนกลายเป็นดราม่า หมอ-เภสัช (2)
ล้วงลึก! แพทยสภาฟ้องสปสช. กับท่าทีทุกฝ่ายจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะเจ้ากระทรวงอย่าง รมว.สมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อข้อถกเถียงในสังคมลุกลามไปไกลจนเกิดเป็นดราม่าระหว่างวิชาชีพ แพทย์-เภสัชกร
เอกสารการฟ้องร้องที่มีการเผยแพร่จากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนั้น เป็นการรับฟ้อง จากกรณีฟ้องร้องของแพทยสภา ต่อสปสช.และสภาเภสัชกรรม ในประเด็นของนโยบายโครงการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ที่มีการรับยาฟรีใน 16 กลุ่มอาการในระบบบัตรทอง
เมื่อย้อนไปดูนโยบาย ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ได้เปิดเป็นหน่วยบริการด้านยาในระบบบัตรทองตั้งแต่ปี 2562 โดยจะทำหน้าที่คัดกรองความเสี่ยงโรคเมตาบอลิก ให้ความรู้สุขภาพ เยี่ยมบ้านร่วมกับหมอครอบครัวและดูแลใช้ยาอย่างเหมาะสม
ซึ่งเกิดขึ้นจากการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2561 ที่พบว่าประชาชนไม่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพเกินครึ่งจากการรอรับบริการนาน และข้อมูลสำรวจในปี 2560 ที่ระบุว่าประชาชนร้อยละ 17.6 ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือนเลือกซื้อยากินเอง และยังพบปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย คือการครอบครองยาเกินจำเป็น ทำให้มีมูลค่าเสียหายทางการคลัง 2,350 ล้านบาท จากการกินยาไม่ครบและการใช้ยาไม่เหมาะสม จึงเกิดหน่วยบริการร้านยาชุมชนอบอุ่นขึ้น ซึ่งในเวลาดังกล่าวเป็นการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว
อนึ่งโรคเรื้อรังกลุ่มภาวะเมตาบอลิกที่มีการเปิดให้เภสัชช่วยคัดกรองแต่แรกนั้นได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงจะต้องเสนอให้ไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาล และเภสัชกรจะเป็นผู้ติดตามผู้ป่วยว่าเข้าถึงบริการหรือไม่ และมีการติดตามการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นผ่านมาในปี 2566 สปสช.และสภาเภสัชกรรมได้เพิ่มบริการที่เรียกว่า ‘เภสัชกรรมปฐมภูมิ’ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ในร้านยาชุมชนอบอุ่นกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งจะมีค่าบริการเหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง
โดยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บริการนี้จะลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการปฐมภูมิให้แก่ประชาชนในกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย เพิ่มความสะดวกการเข้ารับบริการแบบใกล้บ้าน และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล
ทำไมไม่คุยกัน?
เมื่อเกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมคือ ทำไมนโยบายดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเดียวกันแต่ไม่คุยกัน! จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นได้
ทางสภาเภสัชกรรมได้มีการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ กระบวนการพิจารณาโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยร้านยาคุณภาพ ได้ผ่านกระบวนพิจารณาและกลั่นกรองหลายขั้นตอนโดยคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ … และในที่สุดเสนอ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนแพทย์ เภสัชกร และวิชาชีพ อื่นๆ ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ จึงมีมติเห็นชอบให้ดําเนินการในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา “
ทางเภสัชกรรมยืนยันว่าได้มีผู้แทนแพทย์เข้าร่วมในการเสนอนโยบายดังกล่าว และมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ
อย่างไรก็ตามทางแพทยสภาได้ออกมาแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เช่นกัน โดยระบุว่า
“ ที่ผ่านมาแพทยสภาได้พยายามหาทางออกร่วมกับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดของประกาศที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จ จึงมีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมของศาลปกครอง..”
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อครั้งเปิดโครงการ ‘ตู้ยาห่วงใย’ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาระบุว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างแพทย์และเภสัชกร โดยระบุว่าคดีดังกล่าวได้มีการยื่นฟ้องร้องตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดโครงการรับยาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ แต่คดีขาดอายุความ และสุดท้ายเมื่อแพทยสภายื่นอุทธรณ์ ทางศาลสูงสุดจึงรับฟ้อง
หากฟังจากคำสัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ จึงได้ใจความว่า แพทยสภานั้นฟ้องร้องนโยบายดังกล่าว ซึ่งมี สปสช.เป็นจำเลยที่ 1 และสภาเภสัชกรรม เป็นจำเลยที่ 2 ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้น
ก็ต้องถามว่าที่บอกว่าคุยนั้น ‘คุยกันอย่างไร’
และเมื่ออ่านแถลงการณ์ 2 ฉบับที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน โซเชียลมีเดียก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง จนกลายเป็นเรื่องดราม่า หมอVSเภสัชกร ไปเสียอย่างนั้น! โดยก้าวล่วงไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการทำงานของ หมอและเภสัชกร ที่มีความผิดพลาดและทำงานได้บกพร่อง! ลามไปถึงการให้เกียรติในวิชาชีพ หรือแม้แต่การดึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการฟ้องร้องมาเป็นประเด็นในการถกเถียงกัน
ซึ่งการฟ้องร้องโฟกัสที่ ‘นโยบาย ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ โดยในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดระบุว่าผู้ฟ้องนโยบายดังกล่าว มองว่านโยบายนี้เป็นการบริการที่เภสัชกรจ่ายยาเองโดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยทั่วประเทศที่เข้าใช้สิทธิบริการ .. ซึ่งศาลมองว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี และการฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
คำถามคือ ‘สปสช.’ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกนโยบายดังกล่าวนั้น อยู่ไหนในสมการปัญหาดังกล่าว?
สปสช. มีหน้าที่ในการให้เงินภาษีประชาชนแก่โครงการ การจะออกนโยบายบางอย่างนั้นต้องรัดกุมและเห็นแก่ความปลอดภัยของสาธารณะอย่างรอบด้าน การชี้แจงของแพทยสภาระบุว่า อาจมีอันตรายในบางกรณีเช่น อาการปวดหัว ตกขาว ฯลฯ ซึ่งก็มีข้อโต้แย้งในโซเชียลมีเดียระบุว่า อาการเหล่านี้ที่จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่อาการร้ายแรงนั้นน้อยมาก ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ต่อให้นโยบายจะมีความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อยต่ออันตรายแก่ประชาชน ควรจะเป็นนโยบายที่ออกมาปฏิบัติหรือไม่
‘เมื่อต่างก็คุยกันไม่ได้’ นั่นคือสิ่งที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน
ในประเทศสหราชอาณาจักร มีนโยบายที่ใกล้เคียงกันคือ NHS Community Pharmacist Consultation Service ซึ่งเป็นนโยบายที่เริ่มให้บริการในเดือนตุลาคม 2019 เป็นนโยบายแก้ปัญหาของสหราชอาณาจักรที่จะให้ร้านยาชุมชนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และลดภาระงานของแพทย์ อย่างไรก็ตามในกระบวนการใช้บริการจะเริ่มต้นที่การโทรสายด่วนหรือติดต่อแพทย์ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นว่าผู้ป่วยสามารถรับการดูแลได้ที่ร้านขายยาหรือไม่ จากนั้นจึงมีการส่งต่อไปยังร้านขายยา ซึ่งเภสัชกรจะตรวจสอบประวัติการส่งต่อและซักถามอาการเพิ่มเติม รวมถึงจ่ายยาตามเหมาะสม
ภายหลังได้เกิดโครงการ Pharmacy First ซึ่งเกิดจากปัญหาในระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ที่ประชาชนเข้าถึงและการรักษาพยาบาลไม่ได้อย่างทันท่วงที จึงแก้ไขปัญหาด้วยการอนุญาตให้เภสัชกรจ่ายยาไปก่อนได้โดยไม่ต้องทำนัดหมายพบแพทย์ ภายใต้ Clinical Pathway หรือแนวทางที่กำหนดไว้ซึ่งได้รับการพัฒนาจากแพทย์ทั่วไป เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ตลอดจนตัวแทนจากองค์กรระดับชาติ เช่น สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล (NICE) และสํานักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร โดยกำหนดไว้ 7 โรค ซึ่งโรคกลุ่มนี้ที่ประชาชนอาจเป็นอันตรายได้หากได้รับยาช้ากว่ากำหนดที่ควรจะเป็นอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ ได้แก่ หูอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน โรคแผลผุพองในเด็ก โรคติดเชื้ออันเนื่องมาจากแมลงสัตว์กัดต่อย โรคงูสวัด โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคเจ็บคอ และโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ซับซ้อน
โดยหลังจากปรึกษากับเภสัชกรแล้ว ร้านขายยาจะส่งการแจ้งเตือนไปยังแพทย์ของผู้ป่วยในวันเดียวกันหรือในวันทําการถัดไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีการกำหนดแนวทางให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้เลย โดยเป็นการกำหนดโรคบางโรค เช่น โรคติดเชื้อต่างๆ อาการแพ้ แต่ยังไม่มีประเทศไหนที่มีการกำหนดขอบเขตให้บริการที่ครอบคลุม 32 กลุ่มอาการ หรือบางครั้งก็มีการพูดว่า 'กลุ่มโรค' มากเท่าประเทศไทย ส่วนเลขาธิการ สปสช. ล่าสุดตอบแต่เพียงรอให้ศาลตัดสิน
ก็ต้องถามย้ำ ซ้ำอีกว่า ที่คุยกันนั้น รัดกุมและคุยกันอย่างไรก่อนออกเป็นนโยบาย
เพราะล่าสุดท่าทีของ รมว. กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทินให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ต่อมาว่า เรื่องคดีก็ต้องเจรจาว่าถอยกันได้เท่าไหร่ ตนไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ร้อนแรงอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องพี่กับน้องที่มีปัญหากัน เพราะต่างคนก็ต่างมีกฎหมายถือกันคนละฉบับ เพราะดูเหมือนเภสัชจะมีกฎหมายบางมาตราสามารถจ่ายยาได้บางประเภท ก็ต้องมาดูว่าบางประเภทนั้นเมื่อเทียบกับ 16 กลุ่มอาการจะเข้าประเภทไหนบ้าง ไม่เข้าเลย หรือเข้าทั้งหมด ก็ต้องมาดูกัน โดยตนยอมรับไม่สามารถทำให้จบได้เลย และไม่รับปากว่าจะจบยังไง เพราะเป็นเรื่องที่เข้าศาลแล้ว ต้องไปจบที่ศาล และจะมีการนัดเข้ามาพูดคุยกัน
ซึ่งเมื่อวานนี้ ก็ปรากฎภาพนายสมศักดิ์เปิดห้องเจรจากับแพทยสภา ส่วนทางสภาเภสัชกรรม ก็จะมีการนัดคุยเร็วๆ นี้เช่นกัน โดย รมว. ระบุเป็นคำสัมภาษณ์ว่า
“ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อมาพิจารณากำหนดกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่เภสัชกรรมในร้านขายยาคุณภาพสามารถจ่ายยาให้ได้โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งหากได้มีการพิจารณาและเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขประกาศของ สปสช. ที่เกี่ยวข้องต่อไป”
เหมือนพยักหน้ากลายๆ ว่าอาจมีตัวยาบางประเภทในนโยบายที่ สปสช. อนุมัติ ต้องพิจารณาใหม่เพื่อให้ร้านขายยาคุณภาพสามารถจ่ายยาให้ได้โดยไม่เป็นอันตราย
นอกจากประเด็นที่จับให้มาคุยกันแล้ว ท่าทีของ รมว.สมศักดิ์ เมื่อสื่อมวลชนถามถึงข้อพิพาทดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้นยังระบุว่า ‘ตู้ห่วงใย’ ที่ตนออกโครงการมาใหม่ อาจเป็นทางออกที่ระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ เพราะเป็นเหมือน Health Station ที่มีทั้งแพทย์ที่ทำการเทเลเมดิซีน เข้ามาตรวจคนไข้ หลังจากมีการวัดสัญญาณชีพต่างๆ มีการจ่ายยาถึงที่ด้วยไรเดอร์ และยังครอบคลุมอาการ 42 กลุ่มโรค ซึ่งมากกว่าโครงการ ร้านขายยาชุมชนอบอุ่นที่มี 32 กลุ่มอาการเสียอีก
พร้อมเน้นย้ำว่าโครงการร้านขายยาชุมชนอบอุ่นดังกล่าว ตนไม่ได้อยู่แต่แรก แต่จะมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ ... เป็นทางออกจากผู้นำสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนี้ ระหว่างรอให้ศาลตัดสิน.