posttoday

ยุค 'สมศักดิ์' จะเป็น ยุคทองของ 'อสม.'?

27 พฤศจิกายน 2567

ยุคของ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' จะกลายเป็นยุคทองของ อสม. หรือไม่ โพสต์ทูเดย์ตามดูไทม์ไลน์นโยบาย และจุดยืนของ รมว.สาธารณสุข!

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567 ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ 'สมศักดิ์' ได้ผลักดันนโยบายทั้งนโยบายที่ต่อเนื่องมาจากของเดิมอย่าง '30 บาทรักษาทุกที่' รวมไปถึงนโยบายใหม่อย่างเช่น  'การจัดการโรค NCDs'  ที่เดินสายสอนนับคาร์บไปทั่วประเทศ อีกทั้งยังจะมีการเปิดโรงเรียนเบาหวานฯ เพื่อต่อกรกับการสูญเสียมหาศาลของประเทศไทยที่ต้องมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 4 แสนคน และมีผู้ป่วยใหม่กว่า 2 ล้านราย กลายเป็นภาระหนักทางสาธารณสุขที่ต้องเสียงบประมาณไปจำนวนมากในแต่ละปี

 

แต่ไม่ว่าจะนโยบายเดิม หรือนโยบายใหม่ สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นกลไกลสำคัญที่ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' ไม่เคยทอดทิ้ง ก็คือ 'อสม.'

อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีการให้คำนิยามของ อสม. ยุคใหม่ว่า มีหน้าที่ในการเป็นผู้นำการขับเคลื่อนและจัดการสาธารณสุขในชุมชนเชิงรุก และเป็นหน่วยสนับสนุนให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และเพิ่มความสามารถในการดูแลสุขภาพของตนเอง  โดยผู้ที่ต้องการเป็นอสม. จะต้องสมัครด้วยความสมัครใจ และเมื่อเป็น อสม. แล้ว จะมีหน้าที่ทำงานให้แก่ชุมชนของตนเอง  ปัจจุบัน อสม. มีมากกว่า 1.04 ล้านคนทั่วประเทศไทย โดยได้รับค่าตอบแทนจากเดิมที่ได้เดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาทเมื่อเดือน พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

 

ด้วยจำนวนของอสม. ที่มีมากกว่า 1.04 ล้านคน 'สมศักดิ์' ย้ำว่านี่คือกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันโครงการต่างๆ ของสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน ด้วยเหตุนั้นตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่ง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ อสม. ในยุคของรมว. 'สมศักดิ์' จึงเป็นเหมือนดั่งยุคทอง

 

มีนาคม 2567

อันที่จริงตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.สธ ในช่วงปีเดียวกัน 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เคยมีการเสนอให้ดึงอสม. ร่วมคัดเลือกที่ปรึกษาบอร์ดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อผลักดันให้ อสม.เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ

 

พฤษภาคม 2567  เมื่อเข้ารับดำรงตำแหน่ง รมว. สาธารณสุข

  • 'สมศักดิ์' ประกาศเพิ่มเงินตอบแทนจากที่อสม. เคยได้รับ 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท และมีการจ่ายตกเบิกได้คนละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นการต่อนโยบายของอดีตรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว
  • ส่งเสริมให้ อสม. เข้าอบรมที่สถาบันพระบรมราชชนก​ เพื่อเป็นผู้ช่วยพยาบาล เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ อสม.

 

  • ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น คือการยกร่าง​ 'พ.ร.บ.​อสม.'​ เพื่อให้ค่าป่วยการในการปฏิบัติ​หน้าที่​ของ​ อสม.​ เดือนละ ​2,000 บาท​ ต้องบรรจุอยู่ใน​ พ.ร.บ.​งบประมาณ​รายจ่ายประจำปี​ทุกๆปี​ แทนที่จะต้องมาของบประมาณปีต่อปี​ ในหมวดเงินอุดหนุน​ซึ่งไม่แน่นอน​ ทำให้ อสม.จะได้รับเงินค่าตอบแทนเหมือนเงินเดือนประจำ นอกจากนี้ยังใช้กฎหมายฉบับนี้ จัดตั้งกองทุน อสม. เพื่อดึงเงินที่ อสม.ช่วยประหยัดได้ จากการดูแลสุขภาพของประชาชน และลดผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะจากนโยบายลดโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs)  นำมาสนับสนุนเงินในกองทุน อสม. นี้เพื่อใช้เป็นค่าสวัสดิการ ค่าตอบแทนเพิ่มเติม รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของอสม.  รวมไปถึงหากการจัดตั้งกองทุน อสม. สำเร็จ จะทำให้อสม. เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น เพราะเครดิตของ อสม. จะดีขึ้น รวมไปถึงการกำหนดให้ การพ้นสภาพการเป็น อสม.  เมื่ออายุครบ 70 ปี สำหรับอสม.ใหม่

 

กรกฎาคม 2567

  • ภายหลังมีการแสดงการคัดค้านกรณีการเกษียณที่อายุ 70 ปีตามร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่ นายสมศักดิ์ตอบคำถามสื่อมวลชนว่าจะไม่มีการเกษียณแล้วทั้ง อสม.เก่าและใหม่ เพราะค่าตอบแทนไม่ได้เยอะ
  • นอกจากนี้ยังเล็งที่จะให้อสม. สามารถดึงเงินค่าฌาปนกิจ ที่อสม.จะได้คนละ 500,000 บาทสามารถดึงนำมาใช้ก่อน 300,000 บาทได้อีกด้วย โดยกล่าวว่าเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ อสม.

 

ตุลาคม 2567  ประกาศนโยบายใหญ่ลดโรค NCDs

  • ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' ประกาศนโยบายที่เป็นนโยบายใหม่ไฉไลล่าสุดของกระทรวง คือการลดโรค NCDs หลังพบว่างบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งในการรักษาโรคนั้นตกไปอยู่ที่โรค NCDs ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค และการใช้ชีวิตเป็นหลัก  ซึ่งจะช่วยลดผู้ป่วย NCDs ได้คือการขับเคลื่อนทำให้ประชาชนมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ และมองว่า อสม. ที่มีอยู่กว่า 1.04 ล้านคนจะสามารถช่วยในประเด็นดังกล่าวได้ โดยมองว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า อสม. 1 คน จะสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพได้อีกถึง 50 คน ดังนั้น อสม. 1 ล้านคนที่มี คูณไปด้วย 50 คน ก็จะเท่ากับเครือข่ายสุขภาพที่เรามี จะมากถึง 50 ล้านคน 
  • ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ โดยได้มีการสอนให้อสม. นับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต เพื่อไปบอกต่อให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดการกินคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต
  •  'สมศักดิ์' ได้มีการกล่าวในงานเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพประชาชนเพื่อต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในวันที่ 28 ต.ค. 2567 ว่าหาก อสม.ทำได้ งบประมาณสนับสนุนอสม.จะตามมา รวมถึงสวัสดิการต่างๆ จะตามมาให้อย่างแน่นอน! 
  •  'สมศักดิ์' แสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า หากอสม.สามารถช่วยให้ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ งบประมาณที่ลดลงจากการนำไปรักษาจะเข้าสู่ 'กองทุนอสม.' ที่จะตั้งขึ้นใหม่จาก พ.ร.บ.นี้  

เมื่อดูจากงบประมาณที่ใช้ในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะพบว่าในแต่ละปีรัฐต้องใช้งบประมาณกว่า 1.3 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

 

พฤศจิกายน 2567

  • ล่าสุด! สมศักดิ์ คุยกับ ธกส. ไฟเขียวปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ อสม. โดยลดดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 8 ให้เหลือร้อยละ 6 เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาว อสม. ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักในช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มกู้ได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้

 

ดังนั้น หากดูจากการดำเนินงานและนโยบายที่ผ่านมา ... ยุคของ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' จะสามารถเป็นยุคทองของ 'อสม. ได้หรือไม่ คงจะขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.อสม. ฉบับใหม่ที่คาดว่าอาจสามารถทำให้มีผลบังคับใช้ในปี 2569