กองทัพอวกาศไทย อยู่จุดไหนในกองทัพอวกาศทั่วโลก
ข่าวการเปลี่ยนชื่อกองทัพอากาศให้กลายเป็น กองทัพอากาศและอวกาศ เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนได้ไม่น้อย วันนี้เราจึงมาดูความจำเป็นในการจัดตั้งรวมถึงกองทัพอวกาศในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง
หนึ่งในข่าวใหญ่จากฝั่งกองทัพคือ การเปลี่ยนชื่อกองทัพอากาศไทยให้เป็น กองทัพอากาศและอวกาศ ถือเป็นเรื่องที่สร้างเสียงฮือฮาพร้อมตั้งคำถามเป็นวงกว้าง ในทางหนึ่งถือเป็นสิ่งที่แสดงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีน่านฟ้าที่เริ่มเข้าสู่อวกาศของประเทศ แต่ก็อาจทำให้หลายท่านเกิดข้อสงสัยในแง่ความจำเป็นอยู่ไม่น้อย
วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดกันเสียหน่อยว่า เหตุใดกองทัพอากาศจึงจำเป็นต้องไปอวกาศกันเสียที
เมื่อความมั่นคงทางอวกาศอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
หลายท่านอาจรู้สึกว่าอวกาศเป็นสถานที่ไกลตัว ต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีทางเกี่ยวข้องกับตัวเราที่อยู่บนพื้นโลก จัดเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจากเทคโนโลยีหลายอย่างที่มีการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและทำงานได้จากดาวเทียม
ดาวเทียมถือเป็นส่วนสำคัญในระบบสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ช่วยให้เราสามารถติดต่อสื่อสารข้ามโลกได้สะดวก ระบบนำทาง GPS ก็ต้องพึ่งพาการระบุตำแหน่งจากดาวเทียม อีกทั้งการตรวจสอบ แจ้งเตือน และจัดการภัยพิบัติต่างๆ ก็ล้วนอาศัยพลังของดาวเทียมแทบทั้งสิ้น ความมั่นคงทางอวกาศจึงจัดว่าเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง
อันดับต่อมาคือเฝ้าระวังภัยคุกคามจากอวกาศ เมื่อความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศก้าวหน้าก็อาจทำให้ภัยคุกคามและการโจมตีจากอวกาศมีโอกาสเกิดขึ้นจริง ทั้งการโจมตีด้วยขีปนาวุธ อาวุธดาวเทียม หรือการแทรกแซงก่อกวนดาวเทียมจากประเทศอื่น ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนและความเสียหายเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้กองทัพอวกาศยังมีส่วนในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพิ่มความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศได้อีกทาง กองทัพอวกาศจึงมีบทบาทและความสำคัญต่อความปลอดภัย มั่นคง และความก้าวหน้าของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้
นั่นทำให้นานาประเทศเริ่มมีการจัดตั้งกองทัพอวกาศของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน
กองทัพอวกาศในแต่ละประเทศ
แรกสุดต้องพูดถึงพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯกับ United States Space Force(USSF) ที่ก่อตั้งแยกขึ้นมาในปี 2019 มีบทบาทในด้านการสร้างความมั่นคงทางอวกาศ ปกป้องภัยอันตราย ดูแลระบบสื่อสาร และเฝ้าระวังทางไซเบอร์ ในระบบดาวเทียมที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงโดยรวมของประเทศ
ตามมาด้วยรัสเซียกับ Russian Aerospace Forces ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศรัสเซีย โดดเด่นในด้านการเฝ้าระวังการและป้องกันการโจมตีทางอากาศและอวกาศ และพัฒนาอาวุธสำหรับใช้โจมตีจากอวกาศสู่ภาคพื้นและอาวุธต่อต้านดาวเทียม เสริมสร้างความมั่นคงทางการทหารเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางดินแดนของประเทศเป็นหลัก
ทางด้านจีนก็ไม่น้อยหน้ากับ People's Liberation Army Strategic Support Force(PLASSF) ก่อตั้งขึ้นในปี 2024 ที่เน้นไปในเชิงการทหารเช่นกัน ทั้งการควบคุมฐานปล่อยจรวดภายในประเทศ ติดตามการยิงและทดสอบขีปนาวุธรวมถึงจรวดทั่วโลก ปัจจุบันมีกำลังพลประจำการกว่า 400,000 นาย
ต่อมาคืออินเดียกับหน่วยงาน Defence Space Agenc(DSA) ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2018 ถูกก่อตั้งเพื่อรับมือและปกป้องและโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เน้นพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธพิสัยไกล คิดค้น NaviC ระบบดาวเทียมระบุตำแหน่งของประเทศ ไปจนซ้อมรบ จำลอง และคิดค้นกลยุทธ์สำหรับรับมือสงครามในห้วงอวกาศ
ตบท้ายด้วยอีกหนึ่งประเทศเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นกับ Space Operations Squadron ของ JSDF กองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น นอกจากเน้นปกป้องน่านฟ้าและอวกาศของญี่ปุ่นจากภัยคุกคามทางการทหาร รักษาเสถียรภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศแล้ว ยังทำหน้าที่ตรวจสอบเศษซากและขยะอวกาศอีกด้วย
เห็นได้ชัดว่านานาประเทศต่างตื่นตัวและจัดตั้งกองทัพอวกาศขึ้นมาอย่างแข็งขัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดแนวคิดนี้ในไทย
ความก้าวหน้าเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย
หลายท่านคงได้ยินกันมาบ้างว่าที่จริงไทยก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอยู่ไม่น้อย โดยมากจะอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม ที่ทุกคนอาจเคยได้ยินชื่อคงเป็น ดาวเทียมไทยคม ดาวเทียมสำหรับการติดต่อสื่อสารที่มีการจัดสร้างและยิงขึ้นไปบนอวกาศมาแล้วถึง 8 ดวง
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติอย่าง ดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS ที่มีประโยชน์ในการตรวจสอบสิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตร ไปจนคาดการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ นำไปสู่ดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-3 ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการเก็บข้อมูล และสามารถนำไปใช้ในภาคประชาชนและธุรกิจเป็นลำดับต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้ง ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย กับการรวมตัวของ 12 หน่วยงาน กับความร่วมมือของหน่วยงานวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษาชื่อดัง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร พร้อมพัฒนาวิศวกรรมและเทคโนโลยีอวกาศให้ก้าวทันโลก เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง
การจัดตั้งกองทัพอวกาศในช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นความจำเป็นที่จะช่วยให้ไทยก้าวทันโลกได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนชื่อกองทัพอากาศไทยให้เป็น กองทัพอากาศและอวกาศ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จำเป็นต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. กลาโหม ฉบับใหม่ขึ้นมาเสียก่อน จากนั้นจึงนำเข้าสภากลาโหม แล้วนำเรื่องเข้าสภาเพื่อให้ได้รับการอนุมัติต่อไป โดยตามแผนงานคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2028
ที่มา
https://www.space.com/every-country-wants-space-force.html
https://spacebar.th/world/space-force-each-countries-duties
https://www.narit.or.th/index.php/news/1686-12
https://www.gistda.or.th/news_view.php?lang=TH&n_id=1495
https://thestandard.co/royal-thai-air-force-space-rename-2028/
https://www.narit.or.th/index.php/news/1686-12
https://www.youtube.com/watch?v=VXc5I4_fUfI&ab_channel=SciNews