posttoday

บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล 14 สู่เทศกาลดนตรีรักษ์โลก รุกแยกขยะต่อเนื่อง

02 ธันวาคม 2567

มันยังไง? “Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง” ระเบิดความมันส์แบบรักษ์โลกใน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 เดินหน้าจัดการคัดแยกขยะเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

เป้าหมายสู่การเป็น “อีโค่-เฟรนด์ลี่ มิวสิคเฟสติวัล” เทศกาลดนตรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เทศกาลดนตรีที่เน้นการจัดการขยะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว แนวรักษ์โลก เป็นกระแสที่กำลังมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ในบ้านเรา บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ก็เป็นหนึ่งในงานใหญ่ประจำปีที่เน้นใส่ใจในรายละเอียดของเรื่องนี้เป็นพิเศษและปีนี้ก็เช่นกัน

 

แคมเปญใหม่ “Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง” โดย เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด และ ทีมผู้จัดงาน “GAYRAY (เกเร)” หน่วยงานภายใต้ จีเอ็มเอ็ม โชว์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) สานต่อพลังสนับสนุนการบริหารจัดการและคัดแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้น ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 เชิญชวนผู้เข้าร่วมงาน สนุกอย่างรับผิดชอบ ทิ้งให้ถูกที่ แยกให้ถูกถัง เพื่อส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบได้จริง สานต่อความมุ่งมั่นสู่การเป็น “อีโค่-เฟรนด์ลี่ มิวสิคเฟสติวัล” เทศกาลดนตรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล 14 สู่เทศกาลดนตรีรักษ์โลก รุกแยกขยะต่อเนื่อง

 

พื้นที่จัดงานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 กว่า 600 ไร่ ได้มีการจัดเตรียมจุดคัดแยกและทิ้งขยะทั้งสิ้น 55 จุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงาน โดยแต่ละจุดจะมีถังรองรับขยะ 4 ประเภท ได้ 1) ขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นถังที่จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อรองรับขวด PET โดยเฉพาะ 2) กระป๋องอะลูมิเนียม 3) ขยะอาหาร และ 4) ขยะทั่วไป มีทีมงานกว่า 200 คน กระจายประจำอยู่ตามจุดคัดแยกและทิ้งขยะ เพื่อช่วยแนะนำวิธีการคัดแยกขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงมีเยาวชนและอาสาสมัครกว่า 100 คน มาเสริมทัพร่วมเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียม ใส่ถุง “มันส์ แล้ว ทิ้ง” ภายใต้คอนเซปต์ Mobile Bins เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล อีกทั้งยังปลูกฝังแนวคิดการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับน้อง ๆ เยาวชนในท้องถิ่นอีกด้วย

 

ภาพจากเพจ Big Mountain Music Festival
 

คาดว่าเทศกาลดนตรีในปีนี้ จะมีเหล่าแฟนเพลงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 60,000 คนต่อวัน โดยเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการขยะในงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับการจัดมิวสิคเฟสติวัลในประเทศไทยให้สนุกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ภาพจากเพจ Big Mountain Music Festival


สถิติการแยกขยะในปีที่ผ่านมา

การคัดแยกและเก็บกลับขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วเพื่อรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นขวดใหม่ เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” ซึ่งขวดพลาสติก PET ภายในงานทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100% (เรียกว่า ขวด rPET 100%) นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

 

กิจกรรมคัดแยกขยะในงาน “เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 เมื่อปีที่แล้ว สามารถคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมได้ทั้งสิ้น 5,035 กิโลกรัม ประกอบด้วยขวดพลาสติก PET ใช้แล้ว 1,795 กิโลกรัม กระป๋องอะลูมิเนียม 1,075  กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 705 กิโลกรัม และขยะทั่วไปอีก 1,460 กิโลกรัม

 

ภาพจากเพจ Big Mountain Music Festival