posttoday

‘สมศักดิ์’ ชี้งบหนุนแพคเกจ อสม. รุกฆาตโรค NCDs ‘พันล้านยังน้อยไป’!

04 ธันวาคม 2567

‘สมศักดิ์’ แจงบอร์ดสปสช. ‘พันล้านยังน้อยไป’ เทียบกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจ! มั่นใจคนตระหนักถึงโรค NCDs มากขึ้นกว่า 50 ล้านคนและลดภาระทางสาธารณสุขได้ ก่อนบอร์ดเห็นชอบในหลักการและงบประมาณ แต่ให้พิจารณาแหล่งงบประมาณ รวมไปถึงวิธีการประเมินผลลัพธ์จากการทำงานของ อสม.

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้พิจารณาข้อเสนอ การสนับสนุนงบประมาณสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรค NCDs โดย อสม. ร่วมกับหน่วยบริการ/เครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

โดยบอร์ด สปสช. เห็นชอบในข้อเสนอซึ่งมีรายละเอียดสำคัญคือ การปรับกลไกงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตาม 5 กิจกรรม ตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ได้แก่

  1. บริการคัดกรองสุขภาพ
  2. การให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
  3. บริการอาสาสมัครประจำครอบครัว
  4. บริการเยี่ยมบ้าน ติตามร่วมกับเจ้าหน้าที่
  5. บริการรณรงค์กิจกรรมสุขภาพในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในประเด็นกรอบวงเงินในการดำเนินการโดยอนุมัติกรอบวงเงินไม่เกิน 1,016.40 ล้านบาท โดยจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับ (ร่าง) Service Package สำหรับ อสม. ประกอบด้วยค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ สำหรับสนับสนุน อสม. เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดันแบบพกพา เครื่องวัดความเค็ม เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วพร้อมแผ่นตรวจ  สายวัดรอบเอว  ไม่เกินชุดละ 5,800 บาท เป็นวงเงิน 435.82 ล้านบาท  และสนับสนุนค่าบริการ Internet ที่ใช้ในการดำเนินงานสำหรับอสม. วงเงิน 580.58 ล้านบาท (ครอบคลุมงบประมาณปี 2568 จำนวน 10 เดือน)

และเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับจากงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคพื้นฐานไปเป็นงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับประเทศ

 

ทั้งนี้ ภายในที่ประชุมมีข้อคิดเห็นที่สำคัญ อาทิ

  1. การพัฒนาตัวชี้วัดผลความสำเร็จจากโครงการฯ ว่าจะมีตัวชี้วัดอย่างไร วัดว่าคนสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไรจากการทำกิจกรรมของอสม. รวมไปถึงต้องทำให้เกิดระบบข้อมูลที่จะได้เห็นผลงานของ อสม. เพื่อที่จะประเมินได้ว่าการปฏิบัตินั้นส่งผลเชิงบวกต่อระบบ 30 บาทรักษาทุกที่อย่างไร
  2. ระบบบริหารจัดการของ อสม.ในเรื่องการดูแลอุปกรณ์ที่เบิกจ่ายไปว่าจะต้องไปอยู่ตรงไหน และหากเกิดความเสียหายจะทำอย่างไร   
  3. การบันทึกข้อมูลในเชิงปริมาณ ต้องควบคู่ไปกับการบันทึกข้อมูลในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
  4. การปรับจากงบสร้าเสริมสุขภาพป้องกันโรคพื้นฐานไปยังระบบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับประเทศ จะกระทบต่อหน่วยงานบริการสาธารณสุขเดิม เช่น โรงพยาบาลหรือไม่? จะสามารถหาวิธีบริหารเงินที่ไม่กระทบได้หรือไม่

 

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผลักดันโยบายการจัดการโรค NCDs โดยใช้เครื่องมืออย่าง อสม. เป็นด่านหน้าเสริมสร้างป้องกันให้แก่ประชาชน ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า  งบประมาณหลักประกันสุขภาพในปี 2560 พบว่าใช้กับโรค NCDs สูงถึง 48% ของงบประมาณ ส่วนปี 2567 ท้ายปีงบประมาณใช้สูงราว 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 52% ของงบประมาณ จึงคิดว่าหากไม่ลงทุนในเรื่องของการป้องกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องใช้งบประมาณไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นประเด็นน่ากังวล

ตนมองว่างบประมาณ 1,000-2,000 ล้านนี้น้อยไปด้วยซ้ำ เพราะอสม. มีจำนวนกว่า 1 ล้าน 8 หมื่นคน ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนได้ในอัตรา 1:50 คน เพราะฉะนั้น อสม. 1 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า 50% ของจำนวนประชากรคือ 50 ล้านคน

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนพฤศจิกายนจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ตนได้เดินสายสอนให้อสม. เข้าใจและคำนวนการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม โดยเริ่มจากเรื่องหวานเป็นส่วนแรก และมองว่าปัญหาดังกล่าว ดูจากน้ำหนักเกินมาตรฐาน ถ้าหากมีแนวโน้มของน้ำหนักเกินมาตรฐาน อย่าปล่อยไว้เพราะโรคจะตามมา

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปเห็นชอบในนโยบายและหลักการรวมถึงงบประมาณ แต่ต้องไปทำการบ้านและรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป.