posttoday

รวบเหตุการณ์ในอดีต 'ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการ' สะเทือนโลก!

13 ธันวาคม 2567

ย้อนเหตุการณ์ในอดีต ทำไมข่าวกรณีไวรัสติดเชื้อหลายชนิดจำนวน 323 ขวด หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ถึงทำคนทั่วโลกผวา!

จากกรณีที่สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ รายงานเมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.67) ว่า รัฐบาลได้สั่งให้ Queensland Health ซึ่งเป็นหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทำการสืบสวนสถานการณ์ที่รัฐบาลเรียกว่า “การละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์”  เนื่องจาก ขวดบรรจุไวรัสติดเชื้อจำนวน 323 ขวด รวมถึง ไวรัสเฮนดรา ไวรัสลิสซา และไวรัสฮานตา หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 2023 จึงจำเป็นต้องสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก 

สำหรับ ไวรัสเฮนดราคือไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งพบได้แค่ภายในออสเตรเลีย เท่านั้น ขณะที่ไวรัสฮานตา เป็นไวรัสตระกูลที่สามารถนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรง และถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนไวรัสลิสซาเป็นกลุ่มไวรัสที่สามารถทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า  แม้ว่าในระยะ 5 ปีมานี้ยังไม่มีเคสมนุษย์ติดเชื้อไวรัสเฮนดราหรือลิสซาในควีนส์แลนด์

 

ทำไมคนทั่วโลกถึงผวา?

 

เมื่อหันกลับไปมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการได้สร้างความเสียหาย และผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในอดีต อาทิเช่น

 

1977  ไข้หวัดใหญ่ H1N1 

เหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี 1977 หรือที่เรียกว่า "Russian Flu" ถูกตรวจพบครั้งแรกในประเทศรัสเซีย แต่หลักฐานชี้ว่าอาจปรากฏครั้งแรกในเมืองเทียนจิน ประเทศจีน ตั้งแต่ปี 1976 ก่อนจะกระจายไปทั่วโลกในปีถัดมา​ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเชื่อว่ามีการทดลองไวรัสไข้หวัดใหญ่กับทหารหลายพันนายที่ยังคงมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาดช่วงแรกนั้น ทุกคนไม่คิดว่ามันจะเป็นเชื้อที่ถูกปล่อยจากห้องแล็ป แต่เมื่อมีการพิสูจน์พบว่าไวรัส H1N1 ตัวนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปี 1950 อย่างมาก และทำให้ผู้ที่เกิดก่อนปี 1950 หรือมีอายุมากกว่า 26 ปี ณ เวลาขณะนั้นเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวนี้เนื่องจากเคยสัมผัสกับไวรัสตัวนี้มาแล้ว ซึ่งปรากฎในงานวิจัยโดย Peter Palese โดยใช้เทคนิค RNA mapping เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดคำถามว่าไวรัสที่หายไปจากโลกตั้งแต่ปี 1950 จะปรากฎบนโลกนี้อีกได้อย่างไร จึงมีการคาดเดาว่าน่าจะหลุดมาจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งสอดคล้องไปกับการทดลองในช่วงเวลาดังกล่าวที่ประเทศจีน  ทั้งนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี 1977 มีอัตราการตายที่ต่ำกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ประมาณ 1 ใน 3 ของสายพันธุ์อื่น

 

รวบเหตุการณ์ในอดีต  \'ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการ\' สะเทือนโลก!

 

1979  การติดเชื้อไวรัสแอนแทรกซ์ในรัสเซีย

เหตุการณ์การติดเชื้อ แอนแทรกซ์ (Anthrax) ที่รัสเซียในปี 1979 หรือที่เรียกกันว่า “Sverdlovsk Anthrax Outbreak” เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับการหลุดของเชื้อโรคจากห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาวุธชีวภาพของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น  โดยจุดกำเนิดที่เมือง Sverdlovsk (ปัจจุบันคือ Yekaterinburg) ในสหภาพโซเวียต และทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 64-100 คน อย่างไรก็ตามในช่วงแรก รัฐบาลโซเวียตอ้างว่าเกิดการระบาดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อน แต่หลักฐานจากนักวิจัยนานาชาติในภายหลังชี้ว่าการระบาดมาจากโรงงานผลิตอาวุธชีวภาพ ซึ่งต่อมามีการสืบสวนจากนักวิทยาศาสตร์ เช่น ดร. Matthew Meselson ในช่วงปี 1990 ยืนยันว่าการระบาดเกิดจากการรั่วไหลในโรงงานทหารเช่นกัน

 

2003-2004 โรคซาร์ส

ในช่วงการระบาดของโรคซาร์ส ในปี 2003 การระบาดของ SARS เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในหลายประเทศ โดยไวรัส SARS-CoV (ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรค SARS) ถูกพบในสัตว์ป่าและแพร่จากสัตว์สู่คน การระบาดเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, และสิงคโปร์  ต่อมามีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์ที่อาจเป็นการหลุดของไวรัสจากห้องทดลองในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน รวมไปถึงที่สิงคโปร์และไต้หวันอีกหลายครั้งในปี 2004  ว่ามีผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับห้องทดลองที่ศึกษาไวรัส SARS แต่ข่าวนี้ไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางการจีนหรือหน่วยงานระดับนานาชาติ  สำหรับโรคซาร์สมักเริ่มต้นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่และอาจพัฒนาเป็นโรคร้ายแรงในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

รวบเหตุการณ์ในอดีต  \'ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการ\' สะเทือนโลก!

 

2019  โควิด-19

กระแสข่าวถึงต้นตอของโควิด-19 มีการถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้างในหลายแขนงวิชาชีพ สำหรับโควิด-19 เริ่มระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2019 มีการรายงานผู้ป่วยกลุ่มแรกที่มีอาการปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าสัตว์ในอู่ฮั่น โดยในปี 2024 มีการคาดการณ์จากองค์การอนามัยโลก ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 6.9 ล้านคน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงกว่า 2 เท่า

สำหรับการถกเถียงถึงที่มาของโควิด-19 นั้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า SARS-CoV-2 มีต้นกำเนิดตามธรรมชาติ โดยมีการแพร่จากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ผ่านตัวกลาง เช่น ตลาดสดในอู่ฮั่น (Huanan Seafood Market) เนื่องจากลำดับพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 มีความคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวและสัตว์อื่น ๆ เช่น ตัวลิ่น สอดคล้องไปกับการออกมาปฏิเสธของรัฐบาลจีนโดยชี้ว่าโควิด-19 มีต้นกำเนิดตามธรรมชาติและอาจมาจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าผ่านสินค้าแช่แข็ง ซึ่งในปี  2021 องค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมสอบสวนไปยังอู่ฮั่นเพื่อศึกษาต้นกำเนิดของไวรัส รายงานระบุว่าโอกาสที่ไวรัสจะหลุดจากห้องแล็บมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้นี้ทิ้งทั้งหมด

ในขณะที่ทางสหรัฐอเมริกามองว่าไวรัสอาจหลุดจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) อาจเป็นผลจากอุบัติเหตุ โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา สภาคองเกรสของสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการที่นำโดยพรรครีพับลิกัน สรุปว่า COVID-19 มีแนวโน้มเกิดจากการหลุดของไวรัสจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น ประเทศจีน รายงานยังระบุถึงการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในห้องปฏิบัติการนี้จากหน่วยงานของสหรัฐฯ

 

รวบเหตุการณ์ในอดีต  \'ไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการ\' สะเทือนโลก!

 

ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ

ความผิดพลาดในอดีตหลายครั้งนำไปสู่การยกระดับมาตรการความปลอดภัยในห้องวิจัยหลายแห่งทั่วโลก อาทิ Biosafety in Microbiological and Biomedical Laboratories (BMBL) เป็นคู่มือที่พัฒนาในสหรัฐอเมริกาโดย CDC และ NIH ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับการจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาและชีวการแพทย์ แม้ว่าจะไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในระดับนานาชาติ แต่แนวปฏิบัติและมาตรฐานที่ระบุใน BMBL เป็นที่ยอมรับและถูกใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในหลายประเทศเพื่อพัฒนาหรือปรับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการตามบริบทของประเทศตน รวมถึงประเทศไทย

BMBL ครอบคลุมข้อกำหนดเกี่ยวกับระดับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการตั้งแต่ BSL-1 ถึง BSL-4 โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และมาตรการในการป้องกันการปนเปื้อน ได้แก่

 

1. BSL-1  ความปลอดภัยพื้นฐาน ใช้สำหรับงานวิจัยกับเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น แบคทีเรียทั่วไป มีมาตรการที่ครอบคลุม

  • การล้างมืออย่างถูกวิธี
  • การสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เช่น เสื้อกาวน์ ถุงมือ
  • ห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในห้องปฏิบัติการ

2. BSL-2 ความปลอดภัยปานกลาง  ใช้กับเชื้อที่ก่อโรคในมนุษย์ได้ แต่ไม่ร้ายแรง เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือแบคทีเรีย Salmonella มีมาตรการที่ครอบคลุม

  • มีระบบควบคุมการเข้าออกห้องปฏิบัติการ
  • การใช้ตู้ปลอดเชื้อ (Biological Safety Cabinet) สำหรับการทำงานกับเชื้อที่อาจแพร่กระจายผ่านละออง
  • การฆ่าเชื้ออุปกรณ์และของเสียด้วยสารเคมีหรือการใช้ความร้อน

3. BSL-3 ความปลอดภัยสูง ใช้กับเชื้อที่อาจก่อโรคร้ายแรงและแพร่กระจายผ่านอากาศ เช่น ไวรัส SARS-CoV, ไวรัสไข้หวัดนก  มีมาตรการที่ครอบคลุม

  • ห้องปฏิบัติการต้องมีระบบควบคุมแรงดันอากาศ (Negative Pressure)
  • นักวิจัยต้องสวมชุดป้องกันแบบพิเศษ เช่น ชุดคลุมร่างกายและหน้ากากกรองอากาศ
  • ระบบกรองอากาศ HEPA (High-Efficiency Particulate Air) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

4. BSL-4 ความปลอดภัยสูงสุด  ใช้กับเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น ไวรัส Ebola และ Marburg ที่ไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการที่ครอบคลุม

  • ห้องปฏิบัติการต้องแยกออกจากอาคารอื่นโดยสิ้นเชิง
  • นักวิจัยต้องสวมชุดป้องกันแรงดันบวก (Positive Pressure Suit)
  • การเข้าออกห้องต้องผ่านระบบล็อกหลายชั้นและฆ่าเชื้อก่อนออก