posttoday

เปิดวิธีป้องกันและดูแลตัวเอง รู้ไว้ไม่ป่วย 'โรคอหิวาต์'

24 ธันวาคม 2567

กรมอนามัยเผยมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงอหิวาตกโรค หรือโรค 'อหิวาต์' หลังมีการระบาดหนักในพื้นที่เมืองชายแดนประเทศเมียนมาซึ่งติดกับประเทศไทย

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์อหิวาตกโรค ประเทศเมียนมา วันที่ 22 ธันวาคม 2567 พบว่า เมืองฉ่วยโก๊กโก่ มีผู้ป่วยรวมจำนวน 300 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่อีก 56 ราย โดยมีการส่งผู้ป่วยเข้ามารักษาในประเทศไทย 2 รายที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ อหิวาตกโรค สาเหตุเกิดจากได้รับเชื้อโรคจากอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หรือดื่มน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อน ส่งผลให้มีอาการท้องเสียรุนแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำ ช็อก และบางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อหิวาตกโรคในพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีการจัดงานรื่นเริงและรับประทานอาหารร่วมกัน อาจเสี่ยงทำให้เกิดการระบาดของโรคได้

“กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อสั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า ในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค"

 

เปิดวิธีป้องกันและดูแลตัวเอง รู้ไว้ไม่ป่วย \'โรคอหิวาต์\'

 

มาตรการป้องกัน ลดเสี่ยงโรค

กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย ยังให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและลดเสี่ยงโรค สำหรับเจ้าหน้าที่ ประชาชน ผู้ประกอบการ และสถานที่สาธารณะไว้ดังนี้

 

สำหรับเจ้าหน้าที่

  • ตรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ
  • ตรวจสอบคลอรีนในน้ำประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชนให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้
  • สื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชนในการดูแลสุขอนามัยและแนวทางปฏิบัติป้องกันโรค

ผู้ประกอบการ

  • เลือกใช้วัตถุดิบปรุงประกอบอาหาร สะอาดปลอดภัย
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ทำครัว สถานที่ประกอบปรุงให้สะอาดและมีการฆ่าเชื้อโรค เติมคลอรีนในน้ำใช้ เพื่อให้น้ำใช้สะอาด
  • หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วมและจุดสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอ
  • ดูแลสุขวิทยาของผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบปรุงอาหารอย่างเข้มงวด

สถานที่สาธารณะ

  • ควบคุมดูแลคลอรีนในน้ำให้ได้มาตรฐานเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • ดูแลความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม และจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ฆ่าเชื้อโรคทุกวัน
  • การประกอบปรุงอาหาร ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ประชาชน

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนกินอาหาร
  • กินอาหารปรุงสุกใหม่เสมอ
  • ใช้ช้อนกลางตักอาหาร

 

นอกจากนี้ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใกล้กับพื้นที่ที่มีการระบาด ให้ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงคุณภาพนำ้เบื้องต้น เช่น ต้มน้ำให้เดือดก่อนนำมาใช้ หรือเติมคลอรีนลงในน้ำใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาใช้