ครบรอบ 20 ปีสึนามิ ภัยธรรมชาติเปลี่ยนชีวิต!
กว่า 20 ปีจากเหตุการณ์สึนามิ 2547 ได้ทิ้งบาดแผลให้แก่โลกนี้ไว้ ด้วยว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ในขณะเดียวกันภัยพิบัติครั้งนี้ก็ทำให้ผู้คนร่วมมือกันสร้างระบบป้องกันเพื่อที่จะกลับมาอยู่ใน ‘บ้าน’ ของตนอีกครั้ง
26 ธันวาคม 2547 คืนหลังคริสตมาสที่ทุกคนกำลังฉลองอย่างชื่นชมยินดี
ชาวมอแกลนซึ่งอาศัยอยู่ใน จ.พังงา นอนหลับไม่เป็นสุข ..
พวกเขาเห็นสัญญาณผิดปกติของธรรมชาติหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา สัตว์ที่เลี้ยงไม่ว่าจะสุนัข ไก่ หรือหมูต่างร้องแปลกๆ ติดกันมาหลายวัน
แม้นักวิทยาศาสตร์จะออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ที่สัตว์จะรับรู้การเกิดขึ้นของสึนามิล่วงหน้าเป็นเวลานาน แต่เป็นไปได้ที่สัตว์จะล่วงรู้ก่อนในระยะเวลาอันสั้น เพราะคลื่นแม่เหล็กอาจจะกระทบต่อการรับรู้ของพวกมัน
แต่จากสัญชาตญาณของชาวมอแกลน ผสมกับความเชื่อและตำนานที่บอกเล่ากันมาถึงเรื่อง ‘คลื่นยักษ์ 7 ชั้น’ ที่เมื่อไหร่ก็ตามที่มา ก็ต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดให้ได้ ทำให้ชาวมอแกลนเสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ
เพราะห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร บ้านน้ำเค็ม เต็มไปด้วยความสูญเสีย เมื่อคลื่นยักษ์เข้ากระทบฝั่งประเทศไทยราวเวลา 8:46 นาฬิกา หลังที่ได้เกิดแผ่นดินไหวกว่า 9 ริกเตอร์บริเวณอาเจะห์ ประเทศอินโดนิเซียในเวลา 7:58 นาฬิกา เรียกว่าไม่กี่นาทีเท่านั้น บนที่นอนนุ่มๆ ที่ทุกคนทิ้งตัวลงหลังจากค่ำคืนคริสตมาสอันแสนสนุก
บางคนอยู่บนชายหาดและงุนงงถึงระดับน้ำทะเลที่ผิดปกติ นักท่องเที่ยวบางคนวิ่งออกไปถ่ายชายหาดที่ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างผิดปกติ ไม่นานคลื่นก็ตีกลับและม้วนเข้าหาฝั่ง คลื่นลูกแรก และลูกที่สองกระทบฝั่งไทย กินบริเวณตั้งแต่ ภูเก็ต, พังงา,ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล
ชาวบ้านบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา อาศัยกันอย่างแออัด เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่เกิดจากคนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมารวมตัวกันเพื่อที่จะทำเหมืองเท่านั้นได้รับผลกระทบด้วยและเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งสูญเสียมากกว่าที่อื่นๆ
ประยูร จงไกรจักร์ หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านน้ำเค็มเล่าว่า ‘พื้นที่ในหมู่บ้านน้ำเค็มมีถนนเส้นเดียวแคบๆ เท่านั้น พื้นที่ทางกายภาพของพวกเขาไม่เอื้อให้มีชีวิตรอดจากสึนามิ รวมไปถึงองค์ความรู้ที่ชาวบ้านไม่มีมาก่อนว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร’
ชาวบ้านเล่าว่า บางคนโดนคลื่นพัดกระแทกจนเสียชีวิต แต่มีส่วนหนึ่งที่ถูกรถทับจนเสียชีวิต เพราะคนต่างเอาชีวิตรอด!
หลังจากที่ต้องอาศัยในศูนย์อพยพมานานหลายปี ชาวบ้านบ้านน้ำเค็มไม่มีกระจิตกระใจที่จะทำอะไร พวกเขาไม่รู้ว่าสึนามิจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หรือต้องเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่อย่างไร ทำงานแล้วจะได้ใช้เงินหรือไม่ถ้าสึนามิมาอีก ... ประยูรเล่าว่าผู้คนเอาแต่ร้องไห้ บางคนเมื่อได้ของบริจาคก็นำของบริจาคไปไว้ในเต็นท์ ส่วนตัวเองยอมออกมานอนข้างนอก เพราะตอนนั้นไม่เหลืออะไรแล้ว บางคนแทบเสียสติ .. แม้จะมีความช่วยเหลือจากภายนอกแต่พวกเขาก็ไม่มั่นใจว่า ‘บ้าน’ ที่เคยอยู่นั้นปลอดภัยจริงหรือไม่
ผมไม่คิดแล้วว่าจะไม่มีพื้นที่ไหนปลอดภัย ทุกที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ว่าคุณจะมีข้อมูลนั้นหรือไม่
เขาหวนนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าสึนามิปี 2547 ในช่วงปี 2541 เคยมีนักวิชาการออกมาเตือนเรื่องการเกิดสึนามิ ประยูรเล่าว่าตอนนั้นรัฐไม่เชื่อ ไม่มีใครเชื่อ จึงไม่มีการเตรียมความพร้อม และถามคำถามชวนให้คิดว่า
ลองคิดดูว่าหากรัฐเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปี 2541 ความสูญเสียจะมากเท่านี้หรือไม่?
และนี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ..
เมื่อไม่มีใครตอบได้ว่าจะทำอย่างไรหมู่บ้านถึงจะสูญเสียน้อยลง และมองว่ารัฐไม่บอกความจริงให้แก่ชาวบ้าน ชาวบ้านบ้านน้ำเค็มจึงตัดสินใจรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนอพยพของชุมชนด้วยตนเอง
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เริ่มต้นเพื่อการเตือนสึนามิเป็นสำคัญ โดยมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมไปถึงการติดตั้งทุ่นสึนามิ เพื่อตรวจสอบแผ่นดินไหวในทะเล และนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิ ก่อนที่จะแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัย ซึ่งได้มีการติดตั้งครอบคลุมหลายจังหวัด จนถึงทุกวันนี้ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติของไทยไม่ได้มีไว้แค่แจ้งเตือนสึนามิเท่านั้น แต่ครอบคลุมการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม หรือ PM 2.5
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า “ในปี 2547 เราขาดองค์ความรู้ ทั้งเรื่องของศูนย์เตือนภัย และความรู้ของพี่น้องประชาชนเพราะทุกคนไม่รู้จักสึนามิ เมื่อเราไม่สามารถเตือนภัยได้ก็เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจึงได้ก่อกําเนิดขึ้นหลังจากเกิดสึนามิหนึ่งปี
เรามีภาคีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะทางมหาสมุทรอินเดีย และเราก็มีตัวทุ่นสึนามิอยู่สองตัวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทะเลอันดามันซึ่งอยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลนะครับแล้วก็ในส่วนของมหาสมุทรอินเดียประมาณ 960 กว่ากิโลเมตรและมีหอเตือนภัยทั้ง 6 จังหวัดตั้งแต่ระนองลงมาจนถึงสตูลจำนวน 130 หอเตือนภัย
20 ปีที่ผ่านมาการรับมือกับสึนามิในประเทศไทยมองว่ารับมือได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ในการรับมือของชุมชน ความรู้ทางวิชาการ และหน่วยงานต่างๆที่เคยเจอกับประสบการณ์จริง เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ก็เข้ามามีบทบาทเสริมศักยภาพในการเตือนภัยด้วย"
โดยนายภาสกรกล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นประชาชนเองต้องสามารถดูแลตนเองได้ก่อน เช่น มีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆไว้ยังชีพ รู้จักเส้นทางอพยพ รวมไปถึงฟังคำเตือนของทางราชการ อีกทั้งในทุกวันนี้ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสนใจหาความรู้ในการเผชิญเหตุ
.
.
.
ตัดภาพกลับมาที่หมู่บ้านน้ำเค็ม พวกเขาเริ่มจัดทำแผนอพยพชุมชนของตนเอง ที่มีความละเอียดลงลึกถึงขั้นว่าใครทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร พวกเขากำหนดเส้นทางอพยพและจุดปลอดภัยหากเกิดสึนามิให้ไปรวมกันที่ไหน มีการเตรียมทีมอพยพโดยตัดสินใจจะอพยพกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก่อน นอกจากนี้เนื่องจากในหมู่บ้านมีซอยเล็กๆกว่า 33 ซอย จึงมีการจัดจราจรทั้งหมด 33 คนเพื่อช่วยโบกไม่ให้รถกับคนวิ่งในเลนเดียวกัน มีการจัดตั้งทีมปฐมพยาบาลในที่จุดปลอดภัย รวมไปถึงมีจุดลงทะเบียน เนื่องจากเมื่อทุกคนมารวมตัวกันที่จุดปลอดภัยแล้ว จะได้ทราบว่าใครหายไป อีกทั้งยังมีทีมค้นหาที่สามารถส่งไปค้นหาคนที่สูญหายอีกด้วย
สิ่งสำคัญคือ แต่ละคนจะต้องเตรียม ‘กระเป๋าวิเศษ’ ที่บรรจุเอกสารราชการที่สำคัญเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน โฉนดที่ดิน รวมไปถึงเอกสารราชการที่สำคัญต่างๆ เอาไว้!
บ้านน้ำเค็มกลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านการป้องภัยภัยพิบัติระดับประเทศ หลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติใดๆ ก็ตาม เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายที่ผ่านมา พวกเขาจะได้รับการโทรมาปรึกษาและเป็นองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ เสมอ ในขณะเดียวกันก็จัดการซ้อมอพยพเรื่อยมาปีละ 1 ครั้ง รวมไปถึงได้นำองค์ความรู้เรื่องนี้ลงไปสอนยังโรงเรียนในชุมชน ให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับสึนามิมาก่อน ได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
...
ไม่มีใครตอบได้ว่าจะมีสึนามิเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่
การเตรียมพร้อมของชุมชนและประเทศเท่านั้น เป็นคำตอบชั้นดีที่ไม่ต้องตอบ
เพราะหากเกิดเหตุการณ์อีก พวกเขาจะสูญเสียน้อยลงหรือหวังว่าจะไม่มีการสูญเสียเช่นที่เคยเกิดขึ้น
เมื่อถามชาวบ้านว่า กลัวหรือไม่?
พวกเขาตอบว่า สึนามิเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ความไม่รู้และไม่มีระบบต่างหากที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิต.