‘คอนเทนต์ท้าทายเรียกยอด’ อันตรายถึงชีวิต ผิดที่ใคร?
โพสต์ทูเดย์ยกตัวอย่างกรณี ‘คอนเทนต์ท้าทายเรียกยอด’ อันตรายถึงชีวิต ใครบ้างที่ควรรับผิดชอบ? ถึงเวลาหรือยังที่คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียจะรับผิดชอบสังคมควบคู่ไปกับความสนุก!
หลังจากกรณี ‘แบงค์เลสเตอร์’ ผู้พิการที่ต้องเสียชีวิตจากการสร้างคอนเทนต์เรียกยอดในโซเชียลมีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยติดต่อมาหลายวัน
โพสต์ทูเดย์กลับไปค้นดูเคสลักษณะเดียวกันก็พบว่า มีตัวอย่างให้เห็นถึงอันตรายของการทำคอนเทนต์ดังกล่าวทั่วโลกหลายคดี โดยการท้าทายที่โด่งดังที่สุดคือ Blackout Challenge
Blackout Challenge คือการท้าทายที่ได้รับความนิยมในบางโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะพยายามทำให้ตัวเองหมดสติชั่วขณะ โดยการหายใจเข้า-ออกเร็วหรือการบีบคอจนไม่สามารถหายใจได้ ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในสมองจนสูญเสียความรู้สึกชั่วขณะ และพยายามจะโน้มน้าวว่าการถ่ายคลิปขณะที่ฟื้นขึ้นมานั้น จะเห็นภาพของผู้ที่ทำการท้าทายดีใจขนาดไหน ซึ่งเป็นการกระทำที่อันตรายมาก เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
แน่นอนว่ามีผู้เสียชีวิตจากการท้าทายดังกล่าว
ในปี 2022 มีเด็กที่เสียชีวิตจากการทำตามแคมเปญนี้ใน TikTok ราว 20 คนในระยะเวลาเพียง 18 เดือน และ 15 ใน 20 คนเป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งที่น่าตกใจคือในปี 2008 การท้าทายนี้ก็เคยเกิดขึ้นและทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 82 คน ซึ่งทำให้บริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance ถูกฟ้องร้องจากผู้ปกครอง
ในปี 2021 การตายของเด็กหญิงที่ชื่อ Antonella Sicomero ชาวอิตาลีวัย 10 ขวบช็อคโลกเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสงสัยคือบัญชี TikTok ของเธอนั้นเปิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อกฎหมายในอิตาลีกำหนดให้ต้องอายุ 13 ปีขึ้นไป
ปรากฎว่าในขณะที่เธอสมัครเธออ้างว่าอายุ 13 ปี ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้ TikTok ต้องเปลี่ยนระบบการยืนยันตัวตนของเด็กกว่า 12.5 ล้านคนในอิตาลี และต้องลบบัญชีออกกว่า 5 แสนบัญชีเลยทีเดียว
พ่อกับแม่ของเธอเองก็ยืนยันด้วยพยานว่า เธอได้เห็นการท้าทายนี้ในแพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้พ่อแม่ระบุว่าไม่มีทางที่แพลตฟอร์มจะไม่เห็นการท้าทายนี้ และปล่อยให้เกิดเหตุสลดนี้ขึ้น!
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกที่ที่มีกฎหมายที่จะเอาผิดได้อย่างอิตาลี
ชาวอเมริกาไม่สามารถเรียกร้องได้เช่นที่อิตาลี เพราะบริษัทเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองด้านการสื่อสาร
สังคมไทย? ควรตั้งคำถามต่อใคร ในวันที่มีผู้เสียชีวิตจาก ‘คอนเทนต์ท้าเรียกยอด’
สิ่งที่น่ากังวล นอกเหนือไปจากตัวผู้ทำคอนเทนต์ที่รอให้กระบวนการทางกฎหมายและสังคมตัดสิน
แต่สิ่งที่ควรถามไม่แพ้กันคือ ทำไมผู้คนถึงยังเสพคอนเทนต์ที่นำความทรมาน บาดเจ็บของผู้คนให้กลายเป็นเรื่องขบขัน หรือน่าสนใจ
รวมไปถึงแพลตฟอร์มต่างๆ จะสามารถทำอะไรได้มากขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มกลายเป็นสถานที่ที่รวบรวมเอาความรุนแรง และการกระทำที่อันตรายซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน
.
.
ในขณะที่ยุคของสื่อทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด ตอนนี้สื่อออนไลน์ที่กลายเป็นสื่อหลักไปแล้ว จะมีมาตรการที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อรับผิดชอบสังคมที่จะถูกหล่อหลอมจากการเสพสื่อผ่านแพลตฟอร์มของตนหรือไม่? หรือต้องอาศัยความผิดชอบชั่วดีของคน ซึ่งแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน!
ในฐานะที่ประเทศไทยคือ Top 10 ของประชากรที่เล่น TikTok หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลาย มีโอกาสไม่น้อยที่อนาคตจะเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นอีก และครั้งนี้อาจจะไม่ได้เกิดแค่กับเพียงคนสร้างคอนเทนต์เท่านั้น
จนถึงทุกวันนี้กับประเทศที่มีประชากรที่เล่นโซเชียลมีเดียเยอะเพียงนี้ ยังไม่พบการฟ้องร้องกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยคนไทยแม้แต่น้อย
เพราะการฟ้องร้องแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยตรงในประเทศไทยยังคงมีความซับซ้อน เนื่องจากข้อกฎหมายบางข้อ เช่น พระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) และกฎหมายต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมีการนำมาใช้บังคับโดยเฉพาะกับบริษัทต่างประเทศที่ทำงานในไทย.