posttoday

ยาต้าน HIV ชนิดใหม่ ฉีดปีละ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อ 99%

06 มกราคม 2568

ปัจจุบัน HIV อาจไม่ใช่โรคอันตรายถึงตายแบบในอดีต ผู้ป่วยก็ต้องรับประทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการคิดค้นยาต้าน HIV ชนิดใหม่ที่อาศัยการฉีดเพียงปีละ 2 เข็ม

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ HIV ไม่ใช่อันตรายถึงชีวิตอีกต่อไป อาศัยการดูแลตัวเองคอยรักษาสุขภาพ แม้จะมีเชื้อในร่างกายแต่ผู้ป่วยก็จะมีสุขภาพแข็งแรงใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ ยาต้านไวรัส(ART) ไปตลอดชีวิต

 

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการฉีดยาเพียงปีละ 2 เข็ม

 

ยาต้าน HIV ชนิดใหม่ ฉีดปีละ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อ 99%

 

ยาฉีด HIV ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 96%

 

ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยแห่ง Emory University และ Grady Health System โดยได้รับเงินทุนจากบริษัท Gilead ในการพัฒนา Lenacapavir วัคซีนตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งและป้องกันการก่อตัวของเชื้อ HIV สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้สูงสุดถึง 99%

 

แนวทางดูแลรักษาผู้ป่วย HIV ในปัจจุบันอาศัย ยาต้านไวรัส(ART) เพื่อยับยั้งการก่อตัวของเชื้อช่วยให้ผู้ป่วยสามาถมีชีวิตตามปกติ แต่ผู้ป่วยหลายรายก็มีข้อจำกัดในการดูแลรักษาสุขภาพทำให้ไม่สามารถรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายจึงต้องละทิ้งการรักษาจนอาการกำเริบในที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้นพัฒนายาชนิดใหม่ในรูปแบบยาฉีด ด้วยจุดเด่นในการออกฤทธิ์และรักษาประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อภายในร่างกายเป็นเวลานาน เปลี่ยนแนวทางการยับยั้งเชื้อจากการรับประทานยาสม่ำเสมอทุกวัน มาเปีนการฉีดยาเข้าสู่รางกายในทุก 6 เดือน

 

จากผลการทดสอบยาในกลุ่มผู้ป่วยหลายเชื้อชาติทั้งสหรัฐฯ บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 รายที่ได้รับยาฉีดทดแทนการรับประทานยา มีผู้ป่วยเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีเชื้อกลับมากำเริบในร่างกาย ข้อมูลจากการทดสอบพบว่า Lenacapavir ช่วยป้องกันเชื้อ HIV ได้ราว 96 – 99%

 

ยา Lenacapavir จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันเทียบเท่าหรือเหนือกว่ายาต้านไวรัสที่ใช้งานในปัจจุบัน

 

ยาต้าน HIV ชนิดใหม่ ฉีดปีละ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อ 99%

 

สู่อนาคตของวัคซีน HIV

 

ถึงตรงว่าหลายท่านคงเริ่มเห็นประโยชน์จากยาฉีด HIV กันมากขึ้น เนื่องจากการรักษาที่ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องยาก มีโอกาสหลงลืมและผิดพลาดเมื่อเวลาผ่านไปจนทำให้ผู้ป่วยขาดยา ส่งผลให้เชื้อในร่างกายอาจเกิดการดื้อยาที่ใช้ในการรักษาจนอาจทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดลง

 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วย HIV หลายรายยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาและยาต้านไวรัสที่เพียงพอ จากการที่พวกเขาไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายจากยาต้านไวรัสจไม่สามารถทำการรักษาต่อ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการรักษา

 

อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ป่วยไม่สะดวกใจในการพกยาติดตัว เนื่องจากการพกพาและรับประทานยาชนิดนี้อาจนำไปสู่ข้อกังวลด้านการรักษาความเป็นส่วนตัว เพราะ HIV เป็นโรคที่มีแนวโน้มจะถูกมองในเชิงลบสูง สิ่งนี้อาจกลายเป็นภาระทางจิตใจจนทำให้ผู้ป่วยกังวลและไม่ได้ทานยาตามที่กำหนด

 

ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากยา Lenacapavir ประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยเพียงเข้ารับการฉีดยาทุก 6 เดือนใกล้เคียงกับการรับวัคซีนป้องกันโรคระบาดทั่วไป ลดปัญหาผลข้างเคียงทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสะสมผิดปกติ ไปจนผลกระทบต่อตับและไตต่างๆ

 

ปัจจุบัน Lenacapavir กำลังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 นี่จึงไม่ใช่ยาที่อยู่ในขั้นตอนค้นคว้าวิจัยแต่ใกล้จะได้รับอนุญาตให้นำมาใช้งาน หากการทดสอบเป็นไปอย่างราบรื่น พวกเขาจะสามารถขออนุมัติกับทาง FDA ในการวางจำหน่ายต่อไป

 

โดยทางทีมวิจัยคาดว่า พวกเขาจะพร้อมสำหรับผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2025

 

 

 

ฟังดูน่าทึ่งแต่การพัฒนายาฉีดต้าน HIV ไม่ได้มีเพียง Lenacapavir ทาง MIT ก็กำลังคิดค้นพัฒนายาชนิดใหม่ที่สามารถต้าน HIV ขึ้นมาเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ให้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์นี้เอง ในอนาคตการรักษา HIV ให้หายขาดก็อาจไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

 

 

 

 

ที่มา

 

https://interestingengineering.com/health/twice-yearly-shot-hiv-eradication

 

https://lovefoundation.or.th/antiretroviral-therapy/

 

https://interestingengineering.com/health/new-hiv-vaccination-methods-revealed