ดูแลสูงวัยช่วงรอยต่อก่อนจะสาย! จุฬาฯ สร้างโมเดล 'ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ'
สถานดูแลผู้สูงวัยปัจจุบันเน้นไปที่ 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือติดเตียง จึงเกิดช่องว่างที่ว่า 'ใครจะดูแลผู้สูงวัยที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มที่จะมีปัญหาสุขภาพ ก่อนที่จะสายเกินไป?'
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 โดยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ประกอบกับโครงสร้างครอบครัวที่เล็กลง และสภาพเศรษฐกิจที่บีบให้คนวัยทำงานต้องออกทำงานนอกบ้าน – ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ลูกหลานวัยทำงานต้องหาตัวช่วย ธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เปิด “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ” คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ โดยเป็นการดูแลระหว่างวันโดยพยาบาลวิชาชีพ นิสิตและนักกิจกรรมบำบัดเน้นไปที่อาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ที่เกษียณ ญาติผู้ใหญ่ของคณาจารย์และบุคลากร จุฬาฯ ตลอดจนผู้สูงอายุที่พักอาศัยโดยรอบมหาวิทยาลัย และผู้สูงอายุที่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ได้ด้วยตนเองหรือญาติพามาส่ง
โดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ เปิดให้บริการผู้สูงอายุวันละ 15 คน และให้บริการ 3 วันต่อสัปดาห์ คือ วันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจเข้ามารับบริการที่ศูนย์ ฯ จำเป็นต้องได้รับการประเมินสุขภาพ
สาเหตุหนึ่งที่สังคมมองข้ามจนทำให้เกิดศูนย์ส่งเสริมสุขภาพวะแห่งนี้คือ สถานดูแลและให้บริการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันเน้นไปที่ผู้สูงอายุ 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง (Active Aging) และช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือติดเตียง
“เรายังขาดศูนย์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นและเริ่มติดบ้านมากขึ้น ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ต้องพึ่งพาลูกหลานและคนในครอบครัวในการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังในช่วงที่ลูกหลานออกไปทำงาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยสุขภาพ เช่น พลัดตก หกล้ม หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงตามวัย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ในเวลาต่อมา” รองศาสตราจารย์ ร้อยเอกหญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Center for Health and Well-being Promotion for Older People: CHWPOP) คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายในการเปิดศูนย์ฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของทีมผู้บริหารของคณะฯ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดบริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
“เราต้องการดูแลและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้กลับไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงตามเดิม หากไม่สามารถทำได้ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของร่างกาย ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่เข้าไปสู่ภาวะพึ่งพิงและติดเตียง”
ต้นแบบธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุระหว่างวัน
“ปัจจุบัน การจัดบริการสำหรับผู้สูงวัยแบบมาเช้ากลับเย็น (day care service) ได้รับความสนใจมากขึ้น มีศูนย์บริการเช่นนี้ที่ตั้งขึ้นโดยหน่วยงานเอกชนและภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละแห่งมีอัตราค่าบริการแตกต่างกัน และบริการที่หลากหลายต่างกันไป อย่างไรก็ดี แม้จะมีสถานที่ให้บริการผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี” รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ กล่าว
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้ดำเนินการโดยคณะพยาบาลศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ให้บริการเต็มรูปแบบเพียงศูนย์เดียวในประเทศไทย เรามีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ด้านการพยาบาลผู้สูงอายุจากการศึกษาวิจัย มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ ภายใต้ความตั้งใจที่จะพัฒนาต้นแบบธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางในเขตเมือง โดยยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ มีบริการวิชาการและวิจัยด้านผู้สูงอายุ การจัดการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุให้บุคลากรทางด้านสุขภาพ กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป และที่สำคัญ ศูนย์ ฯ ยังเป็นตัวอย่างการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบการดูแลระหว่างวัน (Day Care) และตั้งแต่ศูนย์ฯ เปิดให้บริการเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้กับศูนย์ฯ จากทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินงาน ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเริ่มจากการประเมินว่าผู้สูงอายุเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะติดบ้านหรือติดเตียงหรือไม่ มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง เช่น ภาวะเปราะบาง (ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เดินช้าลง น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง และมีโรคประจำตัวหลายโรค) ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม ภาวะโภชนาการ ภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ และระดับการช่วยเหลือตัวเอง หลังจากนั้นจึงประมวลผลข้อมูลเพื่อวางแผนให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นสมอง และการให้ความรู้ คำปรึกษา และฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้กับผู้ดูแล เป็นต้น
อีกทั้ง ภายในศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ มีกิจกรรมมากมายที่จะช่วยพัฒนาทักษะและสมรรถนะผู้สูงอายุรอบด้าน เช่น มีการให้ความรู้สู่สุขภาพทุกวัน แนะนำเพื่อนใหม่ กิจกรรมกระตุ้นสมองและความทรงจำในอดีตทุกวัน โดยที่ทุกวันพุธบ่ายมีดนตรีบำบัด ทุกวันพฤหัสบดี มีกิจกรรมการประกอบอาหาร ส่วนวันศุกร์มีกิจกรรมฝึกกายฝึกจิตแบบชี่กง เป็นต้น
รศ.ร.อ.ดร.ศิริพันธุ์ อธิบายว่ากิจกรรมทั้งหลายและการออกแบบพื้นที่ในศูนย์ฯ มาจากความร่วมมือของคณาจารย์จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาในจุฬาฯ เช่น การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สูงอายุ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
การใช้ดนตรีบำบัดในผู้สูงอายุโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยนักกำหนดอาหารจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ความรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้สูงอายุ ทางศูนย์ฯ จะร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเพื่อจัดรถรับส่งผู้สูงอายุในการเดินทางมายังศูนย์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
นอกจากนี้ ทุกเดือนจะมีการประเมินภาวะสุขภาพ และให้คำแนะนำแก่ญาติและผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านต่อไป.