แจ้งความ! คลินิกเชียงราย เบิกเงิน สปสช. เท็จกว่า 1.8 ล้านบาท!
โฆษก สปสช. แจ้งความ ‘คลินิกการพยาบาลแห่งหนึ่งในเชียงราย’ หลังรับเรื่องร้องเรียน พบเบิกจ่ายเท็จ มูลค่าเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10:00 น. วันนี้ (10 ม.ค. 68) ได้เดินทางไปที่ สถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ จังหวัดเชียงราย (สภ.บ้านดู่) เพื่อแจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานกรณีที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
เนื่องจาก สปสช. ได้รับร้องเรียนการประพฤติมิชอบในการประกอบกิจการคลินิกฯ และจากการตรวจสอบพบเอกสารหลักฐาน โดยมี 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 คลินิกที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ สปสช. เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่คลินิก แต่ยืนยันตัวตน (Authen) การเข้ารับบริการในระบบไม่ได้ เนื่องจากในเวลาเดียวกันมีคลินิกอีกแห่งหนึ่งที่ สปสช. ได้เข้าแจ้งความในวันนี้ ทำการยืนยันตัวตนรับบริการไปแล้ว ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้รับบริการแต่อย่างใด
กรณีที่ 2 สปสช. ได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านกลุ่มไลน์ กรณีการให้บริการของคลินิกดังกล่าวที่มีจำนวนมากผิดปกติ และไม่น่าเชื่อถือ โดยมีทั้งการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่เจ้าของคลินิกฯ ปฏิบัติงานประจำอยู่ให้กับคลินิกตนเองเพื่อให้บริการจำนวนมาก
ทั้งยังมีการให้บริการที่บ้านทุกวัน บางวันมีมีจำนวนมากกว่า 10 ราย โดยแต่ละครั้งบริการที่บ้านจะไม่เกิน 10 นาที ใช้วิธีถ่ายรูปกับผู้ป่วย บันทึกข้อมูลในไอแพดที่มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ไม่มีลายเซ็นชื่อผู้รับบริการ ซึ่งเจ้าของคลินิกชี้แจงว่า ไม่ได้จัดทำเอกสารแบบสมบูรณ์ จะจัดทำเฉพาะรายที่ สปสช. เรียกตรวจสอบของแต่ละปีงบประมาณนั้น ๆ เท่านั้น
และกรณีที่ 3 เป็นข้อมูลจากการร้องเรียนผ่านเพจ Facebook ข่าวสารเวียงป่าเป้า ที่ข้อความระบุว่า มีคลินิกทำการรวบรวมเก็บบัตรประชาชนผู้รับบริการแลกเป็นนม แชมพู และยาสีฟัน ฯลฯ เพื่อนำมาเบิกชดเชย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่สภาวิชาชีพ สปสช. กฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนด
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องเรียน สปสช. ได้เร่งทำการตรวจสอบและพบว่า ไม่พบหลักฐานการให้บริการตามที่มีการเรียกเก็บจาก สปสช. โดยมีกรณีที่ไม่ส่งเอกสารหลักฐานตามที่มีการเรียกเก็บจำนวน 54 ครั้งตรวจพบการส่งบันทึกให้บริการซ้ำซ้อน เนื่องด้วยผู้ป่วยกำลังเข้ารับบริการที่หน่วยบริการอื่น กลับยืนยันตัวตนผู้ป่วยไม่ได้ เนื่องจากคลินิกแห่งนี้ได้ยืนยันตัวตนผู้ป่วยรายเดียวกันนี้ในวันและเวลาเดียวไปแล้ว
ทั้งนี้ยังพบหลักฐานการให้บริการที่บ้านที่บันทึกวันเวลาการให้บริการที่อยู่นอกช่วงเวลาตามที่ขออนุญาต คือเปิดให้บริการวันจันทร์–ศุกร์ เวลา16:30-20:30 น. และเสาร์–อาทิตย์ เวลา 08:00 -20:00 น. และยังพบการบันทึกวันเวลาที่ให้บริการตรงกับวันเวลาที่อยู่ระหว่างปฏิบัติงานประจำที่โรงพยาบาลตนเองด้วย จากการเทียบกับวันเวลาที่ให้บริการกับเอกสารหลักฐานและตารางขึ้นปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล อีกจำนวนมาก
“คลินิกแห่งนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ กับ สปสช. ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2566 ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวนี้ รวมเป็นมูลค่าการเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองฯ ทั้งสิ้นจำนวน 1,843,460 บาท ทำให้ สปสช. ได้รับความเสียหาย จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินการกับผู้ประกอบการคลินิก ซึ่งหลังจากนี้ สปสช. จะทำการขยายตรวจสอบการคลินิกต่างๆ ในระบบที่พบข้อมูลการเบิกจ่ายมีความผิดปกติต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว