นวัตกรรมสุขภาพดิจิทัล ยกระดับการแพทย์ไทยสู่อนาคต
วันนี้เรื่องของการดูแลสุขภาพได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญของชีวิต ทั้งในการดูแลเพื่อป้องกันโรค และดูแลเพื่อรักษาโรค ขณะเดียวกัน การพัฒนาของเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ก็มีส่วนช่วยให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สถานพยาบาล หรือศูนย์บริการสุขภาพหลายแห่ง หันมาให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ และความท้าทายด้านภัยไซเบอร์ ทำให้ในระบบสุขภาพวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ยกระดับการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยี
หลังสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ที่ถือเป็นตัวเร่งสำคัญของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี รวมทั้ง การนำระบบดูแลสุขภาพดิจิทัล หรือ HealthTech มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะ การแพทย์ทางไกล หรือ TeleHealth ไม่ว่าจะเป็น การนำ AI-enhanced virtual care มาช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรค และคาดการณ์แนวโน้มการดูแลรักษาได้แม่นยำ Remote patient monitoring อำนวยความสะดวกในการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง หรือ การวิเคราะห์การดูแลสุขภาพเฉพาะรายที่ได้จากข้อมูลที่ติดตามเฉพาะตัวบุคคล ทั้งหมดนี้ เป็นตัวเร่งให้ตลาด TeleHealth เติบโตทั้งในแง่การใช้งาน และอุตสาหกรรม
มีการคาดการณ์ตลาดการดูแลสุขภาพทางไกลทั่วโลกจะเติบโต 3.687 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงปี 2028 มีอัตราการเติบโตต่อปีมากกว่า 40.06% นั่นก็เพราะตลาดกำลังเห็นการขยายตัวที่โดดเด่นซึ่งได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีภายในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ รวมทั้ง AI และ IoT (Internet of Things หรือ เครือข่ายที่เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต) ทำให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้สนับสนุนทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
แม้ในปัจจุบัน ทวีปอเมริกาเหนือมีตลาดสุขภาพทางไกลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสร้างรายได้ 47.1% ของรายได้จากสุขภาพทางไกลทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างก็หันมามีการผลักดันให้การดูแลสุขภาพทางไกลมีส่วนร่วมในการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) โดยการปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและคุ้มค่าสำหรับผู้ป่วยโดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มประชากรสูงอายุ
การแพทย์ทางไกล ยกระดับสุขภาพคนไทย
แนวโน้มสำคัญของระบบการแพทย์ทางไกลในปีนี้ มีการใช้งานบริการระบบสุขภาพทางไกลผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile health : mHealth) หรือ เทคโนโลยีสื่อสารที่ใช้ระบบติดตามดูแลสุขภาวะด้วย AI ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของผู้คนไปแล้ว
ขณะที่ ภาพรวมของ TeleHealth ของประเทศไทยนั้น ในปี 2024 อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในไทย มีทิศทางชัดเจนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและขยายบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น สะท้อนจากแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การก้าวสู่สังคมสูงวัย การขยายตัวของบริการของสถานพยาบาลเอกชน เติบโตร้อยละ 15% ทั้งจากผู้รับบริการในประเทศและต่างประเทศ สถานการณ์ขาดแคลนแพทย์ (โดยเฉพาะในภาครัฐ) คิดเป็นร้อยละ 25 ทำให้สถานพยาบาลนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการให้บริการ
รวมทั้ง การให้บริการด้านสุขภาพออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากสถิติพบการใช้บริการทางการแพทย์ทางไกล โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2023
ขณะที่ รายงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปี 2024 มีผู้ใช้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกลบนแอปพลิเคชันสุขภาพ จากประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มากกว่า 2 แสนครั้ง มากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 5 เท่า
นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้มีความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลบริการด้านสาธารณสุข บน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ พัฒนาระบบบริการสุขภาพดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล และการยกระดับบริการสุขภาพ
Digital Health Platform ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์ของไทย (Thailand Medical Innovation Hub) เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างและดึงดูดธุรกิจนวัตกรรมผ่านเครื่องมือและกลไกความร่วมมือในการแบ่งปันทรัพยากรของเครือข่ายภายในย่าน ทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของเครือข่าย นำไปสู่การสร้างมูลค่าการลงทุนทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่ง NIA พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับบริการด้านสาธารณสุขและผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์
อีกทั้งยังมีการให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางด้าน Digital and Medical Hub ทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยมีตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น
นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการ
Eidy โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทางด้านการแพทย์ ซึ่งมีจุดเด่นด้านศัพท์เฉพาะทาง และระบบความคิดที่เหมือนกับแพทย์ โดยสามารถนำมาต่อยอดเป็น Chatbot ตอบคำถามทางการแพทย์เฉพาะทาง อีกตัวอย่างคือ Ravis Technology แพลตฟอร์มบริหารการวิจัยทางคลินิก และการจัดการข้อมูลสำหรับผลิตภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ และยารักษาโรค โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณ ผลงานสุดท้าย คือ Pose Intelligence แพลตฟอร์มบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในงานบริการของโรงพยาบาล เช่น การจัดการคลังสินค้า การบริหารงานจ่ายกลาง ที่ควบคุม จัดการได้อย่างแม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน ป้องกันความผิดพลาดได้อย่างดี
นวัตกรรมเพื่อกระบวนการรักษา
SOS Care แผ่นปิดแผลลิปิโดคอลลอยด์ผสมสารสกัดจากใบบัวบกและว่านหางจระเข้ (SI-HERB DRESSING) POPOLO อุปกรณ์ยางรัดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ที่เกิดจากความผิดปกติของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ นวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ มากขึ้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และ Orthopeasia แพลตฟอร์มออกแบบวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลัง ออกแบบและผลิตโดยโปรแกรมเฉพาะทาง ที่ช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่าย แผลเล็ก รวดเร็ว สะดวกขึ้น
นวัตกรรมเพื่อการพักฟื้นและการดูแลผู้ป่วย
‘BRE’ ผลิตภัณฑ์แผ่นอาบน้ำ’ แบบ 2 ขั้นตอน ที่ไม่ต้องใช้น้ำและสบู่ ช่วยให้คนไข้ที่อาบน้ำไม่ได้ ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น และบริษัทสุดท้ายที่ไปโชว์ผลงานคือ Aquatrek Solution นวัตกรรมลู่วิ่งสายพานในน้ำ เป็นอุปกรณ์สำหรับวารีบำบัด ช่วยลดความเสี่ยงจากการออกกำลังกายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อ ในขณะเดียวกันก็ช่วยพยุงน้ำหนักตัวในการรักษาหรือบำบัดได้
หาหมอออนไลน์ โอกาสที่ท้าทาย ในอุตสาหกรรมการแพทย์
อีกธุรกิจสตาร์ทอัพที่โดดเด่นและเป็นผู้พัฒนา Telemedicine รายแรกๆ ของไทย MorDee (หมอดี) แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะที่ช่วยให้ผู้ใช้งานหรือผู้ป่วยนัดหมายและขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจากแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จากการพัฒนา Chiiwii แพลตฟอร์มร้านยาและพบหมอออนไลน์ ภายใต้ บริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด ร่วมทุนกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยเพิ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2024 ประเภทวิสาหกิจขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลาง รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 มาเมื่อไม่นานนี้
คอนเซ็ปต์ของ MorDee (หมอดี) คือ หมอประจำบ้านในมือคุณ หาหมอออนไลน์ได้ทุกที่ รักษา รับยา เคลมประกันได้ในแอปเดียว
โดยในระบบนิเวศของแอปมีรายชื่อแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากสถาบันการแพทย์ชั้นนำกว่า 500 คน ครอบคลุมทุกเรื่องสุขภาพกว่า 20 สาขาให้ผู้รับบริการเข้าไปดูข้อมูล นัดหมายเพื่อโทรคุย หรือวิดีโอคอลล์ได้ในวันและเวลาที่สะดวก ผู้รับบริการจึงไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาล รวมทั้ง บริการสั่งยา-ส่งยาถึงบ้าน เคลมประกันผ่านแอป และจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือโอนผ่าน QR Code
พญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล, ทพ. ศุภกิตติ์ ซ้องสุข และ ดร. ยศวีร์ นิรันดร์วิชย 3 ผู้ร่วมก่อตั้งทีม MorDee มองว่า ไทยมี Pain Point เรื่องขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และในโรงพยาบาลก็แออัดไปด้วยผู้ป่วยที่ต้องรอคิวนานๆ การให้คำปรึกษาดูแลระดับปฐมภูมิ (Primary Care) หรือการให้คำปรึกษาและรักษาโรคเบื้องต้นจึงจำเป็นกับบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย
หากภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการ Telemedicine มากขึ้น ผ่านการสนับสนุนเงินทุน พัฒนาบริการในสถานพยาบาลต่างๆ ตลอดจนบูรณาการระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ให้เชื่อมกับฐานข้อมูลระบบ Telemedicine ได้มากขึ้น จะช่วยให้คนส่วนมากที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพสะดวกสบายมากขึ้น ผู้คนก็จะเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น (Accessibility) และช่วยลดค่าใช้จ่าย (Accountability) ได้ อาทิ ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาที่อาจไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะต้องลางานไปพบแพทย์
ส่วนความท้าทายในการบริหารสุขภาพของไทย ทีม MorDee ตั้งข้อสังเกตว่า ความตระหนักรู้ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ยังมีน้อย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของผู้ใช้บริการทั้งระบบนิเวศ HealthCare
ประเด็นต่อมา คือ หน่วยงานผู้ออกกฎหมาย (Regulator) กำกับดูแลแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ทำได้ไม่รวดเร็วอย่างประเทศอื่นๆ ประเด็นนี้อาจส่งผลให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นคู่แข่ง หรือชิงส่วนแบ่งตลาดจากสตาร์ทอัพไทยได้
นวัตกรรมสุขภาพเพื่อทุกคน
แนวโน้มการใช้การแพทย์ทางไกลจะเพิ่มขึ้นอีกมาก และขยายขอบเขตการใช้งานออกไปด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความสะดวกและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
ความต้องการที่จะเข้าถึงการรักษามากขึ้นเพราะมีผู้ป่วยเพิ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่ต้องติดตามอาการเป็นระยะ ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยาผ่านทางออนไลน์ได้และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัย
รวมทั้งความร่วมมือใหม่ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และสร้างระบบนิเวศด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลเอกชนร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีพัฒนาระบบนิเวศด้านสุขภาพที่ครบวงจร
โดยในแง่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะมีหลายด้าน เช่น การติดตามอาการผู้ป่วยจากเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearables Technology) อย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ แหวนอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาช่วยผู้ให้บริการทางการแพทย์สามารถติดตามสัญญาณชีพ ค่าสุขภาพของผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยได้จากระยะไกล และเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน การนำเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติ มาบูรณาการเข้ากับการแพทย์ทางไกล เช่น ช่วยตอบคำถามสุขภาพผ่าน Chatbot ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) จำลองโลกเสมือนจริงสำหรับการฝึกอบรม การบำบัดรักษา เช่น ให้นักศึกษาแพทย์ใช้แว่น VR เรียนรู้เกี่ยวกับอวัยวะภายใน ฝึกอบรมการผ่าตัดที่ซับซ้อน ให้ผู้ที่มีภาวะความเครียดสูงบำบัดความเครียดผ่านแว่น VR หรือการที่แพทย์ใช้ Interactive VR พูดคุยกับผู้ป่วยผ่านโลกเสมือนจริงได้แบบเรียลไทม์
อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือการแพทย์ทางไกลจะทำได้อย่างราบรื่นและเกิดประสิทธิผลสูงสุดก็ต่อเมื่อ ‘ผู้รับบริการ’ มีอุปกรณ์ที่รองรับการติดต่อสื่อสารยุคใหม่ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีทักษะด้านดิจิทัล
ขณะเดียวกัน ‘ผู้ให้บริการ’ ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการฝึกอบรมและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เพื่อให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาได้อย่างคล่องแคล่ว แม่นยำ และครบถ้วน ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้รับบริการและเกิดความพึงพอใจได้ แม้ในโลกเสมือนจริง
บทความโดย NIA