posttoday

หมดปัญหาดูแลรักษาน้องหมา ความสำเร็จในการผลิตเลือดสุนัขเทียม

20 มกราคม 2568

ที่ผ่านมาการดูแลรักษาสุนัขเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะเมื่อต้องได้รับการถ่ายเลือด หลายครั้งต้องหาตัวผู้บริจาคกันวุ่นวาย แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อมีการคิดค้น เลือดสุนัขเทียม ได้สำเร็จ

ในสายตาคนบางกลุ่มสุนัขเป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนนิยมนำมาเลี้ยงดู สำหรับหลายท่านน้องหมามีความสำคัญเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว จึงต้องการดูแลสุขภาพร่างกายของพวกเขาให้ดีที่สุด แต่ท่านที่เคยพาสุนัขเข้ารับการรักษาย่อมทราบดีว่า นอกจากค่าใช้จ่ายมหาศาลหลายครั้งมีเงินอย่างเดียวก็ใช่จะช่วยเพื่อนตัวน้อยของเราได้

 

แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้นเลือดสุนัขเทียมเพื่อช่วยในการรักษาพยาบาล

 

หมดปัญหาดูแลรักษาน้องหมา ความสำเร็จในการผลิตเลือดสุนัขเทียม

 

เลือดสุนัขเทียม ทางออกใหม่ของสัตวแพทย์

 

ผลงานนี้เป็นของบริษัท Artblood ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยภายในเกาหลีใต้ กับความสำเร็จในการผลิต เลือดสุนัขเทียม เม็ดเลือดแดงสุนัขที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาภายในห้องทดลอง เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายเลือดสำหรับช่วยเหลือสุนัขที่เจ็บป่วยจากโลหิตจางหรือเสียเลือดมาก

 

เมื่อพูดถึงกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการถ่ายเลือด สำหรับมนุษย์มีการจัดตั้งธนาคารเลือดในหลายพื้นที่ไว้สำรองเลือดเพื่อใช้งานในกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ แต่ในกรณีสุนัขแม้มีการจัดสรรธนาคารเลือดขึ้นมาก็จริง แต่ปริมาณเลือดสำรองมีใม่มาก นำไปสู่ปัญหาเลือดไม่เพียงพอต่อการใช้งานจึงไม่สามารถทำการรักษาได้

 

เพื่อแก้ปัญหาทีมวิจัยจึงพัฒนาเลือดสุนัขเทียม เริ่มจากนำ Peripheral blood mononuclear cells เซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในเม็ดเลือดขาวของสุนัขมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น จากนั้นจึงทำการป้อน Cytokines โปรตีนที่พบได้ทั้งในมนุษย์และสุนัขเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ตั้งต้นดังกล่าวให้เจริญเติบโต

 

กระบวนการเพาะเลี้ยงเลือดเทียมนี้จะใช้เวลาราว 20 วันก็จะได้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่เสร็จสมบูรณ์ โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เพาะเลี้ยงขึ้นมามีขนาดเล็กกว่าของมนุษย์เล็กน้อย แต่มีคุณสมบัติในการนำส่งออกซิเจนเทียบเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดงสุนัขตามธรรมชาติ จึงสามารถถ่ายเลือดและใช้งานโดยไม่มีปัญหา

 

นี่จึงเป็นแนวทางช่วยเหลือสุนัขที่ต้องได้รับการรักษาให้มีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น

 

หมดปัญหาดูแลรักษาน้องหมา ความสำเร็จในการผลิตเลือดสุนัขเทียม

 

ความสำคัญของเลือดสุนัขเทียม

 

เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับเลือดเทียมกันมาบ้าง เดิมทีเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ถูกออกแบบมาใช้งานกับมนุษย์ เลือดเทียมอาจเข้ามาสนับสนุนในกรณีผู้บริจาคไม่เพียงพอหรือช่วงเวลาวิกฤติที่ขาดแคลนเลือดสำรอง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในโรงพยาบาลตามพื้นที่ห่างไกล

 

แน่นอนการพัฒนาเลือดเทียมในมนุษย์ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ทีมวิจัยขยายขอบเขตการค้นคว้ามาเพาะเลี้ยงเลือดเทียมสุนัขเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณเลือดสำรองไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ ทำให้ในขั้นตอนการรักษาหลายครั้งต้องขอรับบริจาคเป็นรายกรณี

 

อย่างไรก็ตามใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะสามารถบริจาคเลือดให้กันได้ ไม่เพียงต้องเป็นสุนัขสุขภาพแข็งแรงที่ผ่านการตรวจโรคเท่านั้น ยังมีข้อกังวลทางจริยธรรมกับความเสี่ยงที่ตามมาหลังการบริจาคเลือดแก่สุนัขรวมถึงความไม่สบายใจจากผู้เลี้ยง สิ่งเหล่านี้ทำให้เลือดสุนัขขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

 

ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเลือดสุนัขเทียมประสบความสำเร็จจนใช้งานแพร่หลาย เม็ดเลือดแดงที่ใช้ล้วนถูกเพาะในห้องแล็ปจึงแทบไม่ส่งผลต่อสุนัขที่เป็นผู้บริจาค อีกทั้งเลือดสุนัขเทียมนี้ยังนำไปใช้งานร่วมกับสุนัขได้ทุกหมู่เลือดและสายพันธุ์ นี่จึงเป็นแนวทางที่ยืนยันว่าจะมีเลือดสุนัขสม่ำเสมอและเป็นรากฐานแก่ระบบสัตวแพทย์ทั่วโลก

 

นอกจากใช้ถ่ายเลือดเพื่อช่วยชีวิตสุนัขในการดูแลรักษาแล้ว เลือดสุนัขเทียมยังเปิดโอกาสให้มีการวิจัยในสาขาเลือดและเม็ดเลือดเพิ่มเติมโดยไม่ส่งกระทบต่อสัตว์โดยตรง ทำให้ผู้วิจัยไม่ต้องกังวลเรื่องจริยธรรมต่อสัตว์ทดลอง และอาจส่งผลให้การวิจัยโรคเกี่ยวกับเลือดในสุนัขมีความก้าวหน้ามากขึ้นอีกด้วย

 

เลือดสุนัขเทียมจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในความก้าวหน้าของวงการสัตวแพทย์เลยทีเดียว

 

 

 

 

ปัจจุบันเลือดสุนัขเทียมแม้ประสบความสำเร็จในการผลิตแต่ยังไม่สามารถใช้งานจริง ต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมอีกหลายด้านพร้อมตรวจสอบผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านต้นทุนการผลิตที่อาจทำให้เลือดสุนัขเทียมมีค่าใช้จ่ายสูง ซ้ำเติมปัญหาค่ารักษาพยาบาลสัตว์ที่สูงอยู่แล้วให้รุนแรงยิ่งขึ้น

 

นั่นทำให้เราต้องรอดูกันต่อไปว่าเลือดสุนัขเทียมนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาสุขภาพสุนัขได้จริงหรือไม่

 

 

 

ที่มา

 

https://interestingengineering.com/science/korea-firm-makes-in-vitro-dog-blood

 

https://www.techno-science.net/en/news/researchers-have-succeeded-in-producing-dog-blood-in-the-laboratory-N26250.html