WASTELAND คราฟท์ดริงค์ขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ “ดินแดนไร้ขยะ” แห่งอาเซียน
จากบาร์เล็กๆ ที่มุ่งมั่นสร้างอาหารและเครื่องดื่มปลอดขยะ หมุนเวียนนำวัตถุดิบมาใช้สร้างเครื่องดื่มคราฟท์ดริงค์ รสชาติแปลกใหม่สู่ความมุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืนในคอมมิวนิตี้คนรุ่นใหม่สายกรีนในอาเซียนผ่าน AYF คุยกับ Wasteland เครื่องดื่มรักษ์โลกในยุคนี้กัน!
วันหนึ่งถ้าคุณเดินไปบนย่านการค้าที่พลุกพล่าน ความวุ่นวายของเมือง ถนน ผู้คน และสรรพสิ่งที่แออัด คุณรู้สึกอยากผ่อนคลายตัวเองด้วยอาหารและเครื่องดื่ม คุณจะคิดถึงอะไร? และถ้าไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยแต่มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกของเราคุณจะรู้สึกดีกับสิ่งรอบตัวขึ้นบ้างไหม
และหากสิ่งนั้นมาพร้อมกับคำศัพท์ดาษดื่นเรื่องของ “ความยั่งยืน” เหมือนกับที่ผู้คนในยุคนี้กำลังขับเคลื่อนผ่านการใช้ชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ วันนี้โพสต์ทูเดย์ชวนมาทำความรู้จักแบรนด์และบาร์เครื่องดื่มรักษ์โลกที่อาจทำให้คุณฉงนกับความแปลกใหม่ในรสชาติและงานทดลอง ในชื่อของ “Wasteland” ดินแดน (ไร้) ของเสีย? ที่มาพร้อมกับเนื้อหาของความยั่งยืนอีกแห่งในเมืองของเรา
จากคำบอกเล่า
Wasteland เริ่มจากแนวคิดการรักษ์โลก โดย “ธรัฐ หุ่นจำลอง” และ “กิติบดี ช่อทับทิม” ผู้ร่วมกันก่อตั้ง ด้วยความตั้งใจจะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อลดขยะและ สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พวกเขาเริ่มต้นจากหน้าบาร์เล็กๆ ย่านทองหล่อ ก่อนพัฒนาสู่การทำคราฟต์ดริงค์บรรจุขวดที่เข้าถึงผู้คนมากขึ้นและมากขึ้น และในต้นปี 2025 นี้จะมีการย้ายพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
กับอีกสถานะ ธรัฐ หุ่นจำลองคือหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ASEAN Youth Fellowship (AYF) ประจำปี 2024
ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง "บาร์ยั่งยืนแห่งแรกของไทย" ธรัฐได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่ง Business Development Strategist ที่ LoCarb Green ช่วยองค์กรต่างๆ ในไทยปรับตัวสู่การดำเนินงานที่ยั่งยืน พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้ผ่านการเป็นวิทยากรรับเชิญ และจัดโครงการให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำรุ่นใหม่ด้านความยั่งยืนด้วย
วันนี้โพสต์ทูเดย์ชวน "ธรัฐ หุ่นจำลอง” มาพูดคุยเรื่องแนวคิดและการขับเคลื่อนความยั่งยืนในมุมมองของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในอาเซียนที่กำลังมีไลฟ์สไตล์แบบกรีนมากขึ้นในทุกรูปแบบ เขาเล่าได้อย่างน่าสนใจว่า
สังเกตได้ว่าการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนโดยคนรุ่นใหม่ มีการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น ที่มีการคำนึงถึงการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคกับนานาชาติด้วย ส่วนตัวอยากทำเรื่องของ อาหาร ความยั่งยืน กับการศึกษา ให้ได้ในระดับภูมิภาค โดยในปีนี้ เรามีเป้าหมายที่จะทำงานเรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อมกับท้องถิ่นโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนมากขึ้น รวมไปถึง wasteland บาร์เครื่องดื่มที่กำลังจะเปิดขึ้นที่เน้นเรื่องของความยั่งยืนผ่านการทำงานกับชุมชนต่างๆ ซึ่งเราหวังว่างานเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนผ่านการเหย้า-เยือนผ่านโปรเจคต์หรือกิจกรรมต่างๆ
แล้วการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือข้ามประเทศผ่านโครงการ AYF ช่วยขับเคลื่อนด้านใด
การเข้าร่วมโครงการ ASEAN Youth Fellowship ได้เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับผู้นำเยาวชนจากทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านความรู้และประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการนี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในบริบทของอาเซียนอย่างลึกซึ้ง และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาภูมิภาคต่อไป
มุมมองต่อบทบาทของเยาวชนไทยในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ตามกระแส หรือ ตัวจริงเสียงจริง?
จากที่ได้เจอเยาวชนไทย หรือการเห็นผ่านสื่อต่างๆ มองว่า มีเยาวชนไทยมีความสนใจและมุ่งมั่นในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน และพวกเขาทำกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเยาวชนที่ภูมิใจและรักในวัฒนธรรม ธรรมชาติ และความเป็นท้องถิ่น ซึ่งอยากให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสมาเจอกัน คล้ายๆ กับโครงการ AYF ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการสร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนและ พัฒนากันได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกเหรียง (สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้) จากยะลา ที่เน้นการงานกับเด็กและเยาวชน ทั้งเยียวยา ส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีการทำงานสื่อสารผ่านอาหารด้วย อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Seeds Journeyจากเชียงราย ที่นำโดยเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนชาวชาติพันธุ์ และยังทำงานเกี่ยวกับการบันทึก สานต่ออัตลักษณ์กับวัฒนธรรมชาติพันธุ์
โอกาสและประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็น AYF Fellow ในการขยายผลเชิงบวกสู่ระดับภูมิภาค
ด้วยความหลากหลายของผู้นำเยาวชนที่มาเข้าร่วมโครงการ AYF กับการสานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้แม้หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว เหล่าผู้นำเยาวชนก็ยังได้ติดต่อ พบปะ และมีการพูดคุย ทั้งกับผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นเรียนเดียวกัน และรุ่นก่อน ถึงการร่วมสร้างงานกันในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงมองว่าโอกาสในการสร้างการขยายผลกระทบเชิงบวกสู่ระดับภูมิภาคนั้น เป็นไปได้อย่างมาก เช่นการที่มีการเกริ่นถึง การเปิด wasteland ในข้างต้น โดยมีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ ในการร่วมงานกัน ผ่านการเชื่อมกับภาคส่วนหรือธุรกิจที่แตกต่างกัน ด้วยเครื่องดื่มกับการทำเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเชิงกิจกรรมร่วม หรือการวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ในระยะยาว ซึ่งมีการคุยกับผู้นำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ AYF จากทั้ง 10 ประเทศอาเซียน
เขาเปรียบ Wasteland เป็นพื้นที่ทดลองทำงานหลากหลายรูปแบบ เชื่อมโยงการกินดื่มเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Wasteland จึงไม่ใช่แค่ร้านหรือธุรกิจแต่เป็น “การเคลื่อนไหวที่สร้างความยั่งยืนผ่านอาหารและเครื่องดื่ม” พร้อมสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่
การหยิบเอาวัตถุดิบส่วนเกิน (Food Surplus) เพื่อมาสร้างสรรค์เป็นเมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ เช่น ก้านโหระพา ก้านกระเพรา เปลือกมะนาว วัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำไปแปรรูปเป็นกลิ่น หรือรสชาติแปลกใหม่ หรือจะจับไปเป็นงานประดับตกแต่ง และกระบวนการสุดท้ายคือเปลี่ยนวัตถุดิบที่เหลือเป็นปุ๋ย เพื่อต่อยอดวัฏจักรความยั่งยืน
ภายในร้านเน้นใช้วัสดุรีไซเคิลเช่น ของตกแต่งร้านที่ถูกรื้อทิ้ง แต่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่
ผลิตภัณฑ์และกิจกรรม
1. คราฟต์ดริงก์ (Craft Drinks)
- เครื่องดื่มทำมือ เช่น โคล่าที่ใช้ส่วนผสมจากพืชผักส่วนเกินในครัว
- เน้นรสชาติที่พิถีพิถัน พร้อมแทรกแนวคิดการรักษ์โลกในทุกขวด
2. มีกิจกรรมหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ Waste Management ในวงการอาหาร
*โครงการ ASEAN Youth Fellowship เป็นโครงการพัฒนาภาวะผู้นำที่จัดขึ้นร่วมกันโดย Singapore International Foundation และ National Youth Council Singapore กับวิสัยทัศน์ “สร้างเพื่อนเพื่อโลกที่ดีกว่า”