posttoday

’ศูนย์ฯPM2.5‘ เผยค่าฝุ่นพุ่งไม่หยุด! ระดับแดง 15 จังหวัดแล้ว

23 มกราคม 2568

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่นPM2.5 กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ฝุ่นล่าสุดมีจังหวัดค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีแดง เพิ่มเป็น 15 จังหวัด จาก 9 จังหวัด แนะวิธีทำห้องปลอดฝุ่นด้วยตนเอง ลดโอกาสสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคาร

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่าจากการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เมื่อวานที่ผ่านมา มีการพิจารณาแนวทางในการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอความเห็นชอบมาที่อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณาประกาศ ซึ่งจะทำให้สามารถออกมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานและพื้นที่ ไม่กระทบทั้งธุรกิจของนายจ้างและรายได้ของลูกจ้าง โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป  

 

’ศูนย์ฯPM2.5‘ เผยค่าฝุ่นพุ่งไม่หยุด! ระดับแดง 15 จังหวัดแล้ว

 

 

สถานการณ์ฝุ่นพุ่งขึ้น แดง 15 จังหวัด!

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ภาพรวมวันนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 60 จังหวัด แยกเป็น ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) จำนวน 45 จังหวัด และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) จำนวน 15 จังหวัด จากเดิม 9 จังหวัด ได้แก่ ระยอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เพชรบุรี สระบุรี สุโขทัย ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรสาคร ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี และสมุทรสงคราม

โดย จังหวัดที่มีค่าฝุ่นสีแดงติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป คือ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และ กทม.

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 24-27 มกราคม 2568 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

’ศูนย์ฯPM2.5‘ เผยค่าฝุ่นพุ่งไม่หยุด! ระดับแดง 15 จังหวัดแล้ว

 

แนะทำห้องปลอดฝุ่น

ด้าน นพ.ธิติ กล่าวว่า ในภาวะที่มีฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ การทำห้องปลอดฝุ่นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในห้อง และลดโอกาสสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคาร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น โดยหลักการสำคัญ คือ กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นในห้อง และดันฝุ่นออก ซึ่งมีแนวทางการจัดทำ 3 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่ 1 การปิดประตู-หน้าต่าง ช่วยป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้ามายังภายในห้อง

รูปแบบที่ 2 ระบบฟอกอากาศ

รูปแบบที่ 3 ระบบแรงดันบวก

 

’ศูนย์ฯPM2.5‘ เผยค่าฝุ่นพุ่งไม่หยุด! ระดับแดง 15 จังหวัดแล้ว

 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถทำห้องปลอดฝุ่นได้เองโดย

1) เลือกพื้นที่หรือห้องสำหรับทำห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่น มีช่องว่าง ประตูหน้าต่างน้อย เก็บหรือทำความสะอาดวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นในห้อง

2) ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อลดช่องว่าง ป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในห้อง

3) ตรวจสอบรอยรั่วของห้อง เช่น บริเวณประตู หน้าต่าง และปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกเข้าอาคารได้ด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น พลาสติก ยิปซั่มบอร์ด เทป

4) ลดฝุ่นในห้องโดยใช้ระบบฟอกอากาศหรือการเติมอากาศ เพื่อดันฝุ่นออกจากห้อง

5) หมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาด ไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย กรณีที่ใช้เครื่องฟอกอากาศ ขอให้ตรวจสอบความปลอดภัยเบื้องต้น เลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง และดูค่าอัตราการจ่ายอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) ซึ่งจะระบุอยู่ที่ตัวเครื่อง/คู่มือ หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องและควรเปลี่ยนแผ่นกรองทุก 6 เดือน – 1 ปี