posttoday

CyberKnife! นวัตกรรมรักษามะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัด ที่ประเทศไทยนำมาใช้แล้ว!

27 มกราคม 2568

เปิดโลกความก้าวหน้าของนวัตกรรมการแพทย์ไทย เมื่อสถาบันมะเร็งแห่งชาติใช้นวัตกรรมรักษามะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัดที่เรียกว่า Cyber Knife จะรักษามะเร็งแบบไหนได้บ้าง และมีข้อดีอย่างไร?

 Cyber Knife คืออะไร?

Cyber Knife คือ เครื่องฉายแสงชนิดหนึ่งที่มีหลักการใช้ภาพของอวัยวะหรือที่เราต้องการจะฉายแสงร่วมกับการใช้ระบบของหุ่นยนต์ติดตามก้อนมะเร็งที่มีการเคลื่อนที่ตามการหายใจ อย่างเช่น ก้อนในปอด ก้อนในตับ ทำให้สามารถรักษาโรคมะเร็งที่เป็นก้อนหรือรอยโรคเฉพาะจุดได้อย่างแม่นยำ

อีกทั้งยังเป็นเครื่องฉายรังสีในลักษณะของแขนกล สามารถฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย มีระบบอุปกรณ์ในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่างเพื่อปรับความเข้มของลำรังสี  ทำให้สามารถสร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ

Cyber Knife ยังสามารถให้ความเข้มของรังสีได้สูง รวดเร็ว มีการกระจายของรังสีไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย  ดังนั้นจึงสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นก้อนขนาดไม่เกิน 6 เซนติเมตร ที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดสำคัญและเป็นอวัยวะที่ไวต่อรังสี เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งปอด มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือกรณีมีการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งในตำแหน่งที่เคยได้รับการฉายรังสีมาก่อน เป็นต้น

กระบวนการรักษาดังกล่าวจึงสามารถผ่าตัดโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัดนั่นเอง!

 

Cyber Knife

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เครื่อง Cyber Knife มีระบบติดตามก้อนมะเร็ง 4 ชนิด ได้แก่

  1. ระบบติดตามก้อนมะเร็งภายในศีรษะ (6D Skull Tracking) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งอยู่ภายในศีรษะ โดยจะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์กะโหลกศีรษะของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการติดตามก้อนมะเร็งภายใน 
  2. ระบบติดตามก้อนมะเร็งกระดูกสันหลัง (Spine Tracking) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งที่บริเวณตำแหน่งกระดูกสันหลัง โดยจะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระดูกสันหลังข้อลำดับเดียวกับก้อนมะเร็งในการติดตาม
  3. ระบบติดตามก้อนมะเร็งแบบฝัง Fiducial (Fiducial Tracking) ระบบนี้จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องทำการฝัง fiducial markers ก่อน โดยนิยมใช้กับก้อนมะเร็งที่เป็นลักษณะเนื้อเยื่อ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งระบบนี้จะอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์ของ fiducial makers ในการติดตามก้อนมะเร็ง
  4. ระบบติดตามก้อนมะเร็งแบบสัมพันธ์กับการหายใจ (xsight lung tracking) ระบบนี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งเคลื่อนที่สัมพันธ์กับหารหายใจ เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น โดยระบบนี้จะมีอุปกรณ์ในการสร้างกราฟการหายใจของผู้ป่วยแต่ละราย แล้วคำนวณตำแหน่งของก้อนมะเร็งทำให้การฉายรังสีมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

 

CyberKnife! นวัตกรรมรักษามะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัด ที่ประเทศไทยนำมาใช้แล้ว!

 

เหมาะกับการรักษาคนไข้ที่สภาพไม่พร้อมจะผ่าตัด

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า คนไข้มะเร็งหรือหลายชนิดจะมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะผ่าตัดใหญ่ ในขณะที่เครื่องฉายแสงในปัจจุบันมีการวิวัฒนาการจนกระทั่งสามารถทดแทนการฉายแสงได้ ซึ่งทําให้คนไข้กลุ่มนี้ไม่สูญเสียโอกาสในการที่จะหายขาดจากโรค โดยปัจจุบันทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ใช้การผ่าตัดด้วยวิธีการดังกล่าวโดยใช้เครื่อง Cyber Knife ไปแล้วกว่า 80 รายในปีที่ผ่านมา ครอบคลุมการรักษาไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งสมอง รวมไปถึงชนิดของมะเร็งที่เน้นมากๆ ในปัจจุบันคือ 'มะเร็งต่อมลูกหมาก' ซึ่งมีการใช้เครื่องมือดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ

" เราอยากจะให้เกิดการรักษาที่เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ทําให้เขาไม่จําเป็นจะต้องเลือกว่าถ้ามีมะเร็งแล้วจะต้องผ่าตัด แล้วก็เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเสมอในกรณีที่ร่างกายไม่พร้อม นอกจากนี้ยังสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลับไปฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยที่ฉายแสงด้วยวิธีการดังกล่าวเมื่อฉายเสร็จจะสามารถกลับบ้านได้ และไม่ต้องพักฟื้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

ทั้งนี้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในการค้นหาและสร้างรูปแบบการจัดการโรคมะเร็งเพื่อนำไปสู่ภาคประชาชน เพื่อให้ผลลัพธ์การรกัษาพยาบาลที่ดีขึ้นและลดระยะเวลาหรือเพิ่มคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย และนำเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขยายผลต่อไป เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการบริการแบบใหม่ให้ได้มากที่สุด.