posttoday

เช็คตัวเอง! อาการจากฝุ่นPM2.5 แบบไหนต้องไปพบแพทย์!

03 กุมภาพันธ์ 2568

เช็คตัวเอง! อาการจากฝุ่นPM2.5 แบบไหนต้องไปพบแพทย์! หลังฝุ่นPM2.5 กลับมาอีกระลอก ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมากขณะที่รอการยกระดับมาตรการของรัฐ

ฝุ่นPM2.5 มีผลต่อหลายระบบการทำงานของร่างกายหลายส่วน ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว เนื่องจาก ฝุ่นPM2.5 เป็นฝุ่นละอองชนิดละเอียดที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สามารถผ่านเข้าขนจมูก โพรงจมูก ลำคอ หลอดลมใหญ่ จนกระทั่งหลุดเข้าไปในถุงลม และปอดของเราได้ง่าย ซึ่งสามารถสร้างอันตรายต่อสุขภาพได้หลายโรค

สำหรับอาการฉับพลัน คือ มีอาการไอแห้ง ระคายเคืองตา ผื่นคันตามตัว หรืออาการหอบหืดกำเริบ ส่วนผลกระทบเรื้อรัง  เนื่องจากฝุ่นPM2.5 มีขนาดเล็กมาก และสามารถเข้าไปที่ปอดส่วนที่เป็นหลอดลมลึกที่สุด ผ่านเข้ากระแสเลือด จึงทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ และกลายเป็นมะเร็งปอดได้ ในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กเล็ก จะเกิดหอบหืดฉับพลัน เลือดกำเดาไหล ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ และในผู้สูงอายุ ระบบหายใจหอบหืดกำเริบ ถุงลมโป่งพอง และอาจเป็นมะเร็งซึ่งต้องตามต่อในระยะยาว 

นอกจากนี้ สถิติจากกรมควบคุมโรค พบว่าคนที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน มีตัวเลขสูงขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และหอบหืด ในฤดูฝุ่น

 

 

อาการแบบไหน?ต้องพบแพทย์

ระบบทางเดินหายใจ    ฝุ่นPM2.5 ทําให้สมรรถภาพการทํางานของปอดลดลง หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ จึงเกิดอาการคันจมูก จาม แสบจมูก มีน้ำมูกไหล ไอมาผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย

อาการที่ต้องพบแพทย์ ได้แก่

  • แสบตา ระคายเคืองตาอย่างมาก

  • มีน้ำมูกเกิน 1 สัปดาห์

  • ไอ หรือ จามเรื้อรังมานานกว่า 2 สัปดาห์

  • หายใจไม่สะดวก ติดขัด 

 

ตา  ฝุ่น PM 2.5ได้มากขึ้นอีกชั้นโดยทั่วไปหากเป็นฝุ่นขนาดเล็กอาจจะทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคืองได้ แต่อาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองตา แสบตา ฯลฯ เหล่านี้มักเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับดวงตา แต่อาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง หรือเยื่อบุตาอักเสบซึ่งถ้าเป็นมากจะทำให้มีอาการตาแดงได้ ในผู้ที่ภูมิแพ้ที่ตา หรือในผู้ใช้คอนแทคเลนส์อาจมีความรุนแรงขึ้น หากมีการขยี้ตาก็อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบหรือเป็นแผลได้

อาการที่ต้องพบแพทย์ ได้แก่

  • ตาแดงมาก
  • มีขี้ตามาก
  • ตามัวลง
  • เกิดอาการระคายเคือง อักเสบรุนแรง 

 

ผิวหนัง  ฝุ่นPM2.5 จะก่อให้เกิดผลกระทบแบบเฉียบพลัน คือเข้าไปกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ทำให้เกราะป้องกันผิวแย่ลง เซลล์ผิวหนังซ่อมแซมตัวเองช้าลง จึงระคายเคือง เกิดผด ผื่นแพ้ฝุ่น คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความต้านทานของผิวหนังน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง จะได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ เพราะผดผื่น หรืออาการผิวหนังอักเสบที่เป็นอยู่เดิมจะกำเริบขึ้นมาได้

ส่วนผลกระทบแบบเรื้อรัง การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวจะกระตุ้นความแก่ชราของเซลล์ผิว กระตุ้นการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิว กระตุ้นการเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และทำให้ภูมิต้านทานผิวอ่อนแอลง 

อาการที่ต้องพบแพทย์ ได้แก่

  • เกิดผดผื่นมากขึ้น จนกระทบต่อการดำรงชีวิต หรือ ผื่นแดง ลุกลามเร็ว หรือมีลักษณะบวมแดงรุนแรง
  • ผิวหนังแห้งลอกมากขึ้น และมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง
  • ตุ่มน้ำพอง มีของเหลวไหลเยิ้ม หรือเป็นหนอง
  • อาการไม่ดีขึ้นแม้ใช้ยาทาหรือยากิน

 

โรคหัวใจและหลอดเลือด  ฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อาการที่ต้องพบแพทย์ ได้แก่

  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือแม้แต่ขณะพัก
  • หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อยผิดปกติ อาจเกิดขึ้นทันทีหรือเป็นแบบเรื้อรัง
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ อาจรู้สึกใจสั่นหรือเหมือนหัวใจเต้นแรงผิดปกติ
  • อาการบวมที่ขา เท้า หรือข้อเท้า อาจบ่งบอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว