สรุปประเด็นร้อน ‘วัคซีน HPV’ มะเร็งปากมดลูก ทำไมฟ้องร้องและปลอดภัยหรือไม่?

สรุปประเด็นร้อน ‘วัคซีน HPV’ มะเร็งปากมดลูก ทำไมฟ้องร้องและปลอดภัยหรือไม่?

03 กุมภาพันธ์ 2568

โพสต์ทูเดย์สรุปประเด็นร้อน ‘วัคซีน HPV’ สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ข่าวการฟ้องร้องบริษัท Merck เรื่องวัคซีน HPV อย่าง Gardasil ที่เป็นต้นตอของประเด็น ไปจนถึงการชี้แจงจากฝั่งรัฐฯของไทย

KEY

POINTS

  • รายละเอียดฟ้องร้อง Merck เรื่องวัคซีน HPV ที่ชื่อ Gardasil ในสหรัฐฯ
  • คดีความลุกลามเป็นเรื่องการเมือง จนสั่นสะเทือนการฉีดวัคซีน HPV ทั่วโลก
  • คำชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีนจากสหรัฐฯ และจา

คดีการฟ้องร้อง Merck เรื่องวัคซีน HPV ที่ชื่อ Gardasil ในสหรัฐอเมริกา

 

บริษัทกฎหมาย Wisner Baum เป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเจ็บป่วยจากการฉีดวัคซีน HPV Gardasil ฟ้องร้อง Merck บริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ ตั้งแต่ปี 2019 หลายคดี โดยบริษัทกฎหมาย Wisner Baum ได้โพสต์บนเว็บไซต์ระบุว่า แต่ละคดีจะมีลักษณะเฉพาะของตนเอง แต่ทั้งหมดมีประเด็นร่วมกันคือ

  • ก่อนฉีดวัคซีน Gardasil ลูกความต่างเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ
  • หลังฉีดวัคซีน Gardasil ต้องไปพบแพทย์ต่อเนื่อง และได้รับการรักษาสำหรับปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหลายประการ เช่น ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ไมเกรนเรื้อรัง กลุ่มอาการปวดเรื้อรังระดับภูมิภาค กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ภาวะไม่ทนต่อการเปลี่ยนท่าทาง (ยืนขึ้นแล้วเวียนศีรษะ) กลุ่มอาการทางประสาทและจิตเวชในเด็ก กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเมื่อลุกขึ้นยืน ฯลฯ

นอกเหนือจากคดีเกี่ยวกับ Gardasil บริษัท Wisner Baum ยังมีคดีความเกี่ยวกับ ยาคุมกำเนิดแบบฉีด Depo-Provera ของ Pfizer, ยา Ozempic ของ Novo Nordisk, ยาระงับปวด Suboxone ของ Indivior และยาอื่นๆ โดยบริษัทกฎหมายนี้มีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการฟ้องร้องบริษัทเภสัชกรรม ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท

 

คดีความลุกลามเป็นเรื่องการเมือง จนสั่นสะเทือนการฉีดวัคซีน HPV ทั่วโลก

 

การฟ้องร้องดังกล่าวมี โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้แย่งชิงตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานคดีความตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ และมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียม 10% จากคดีความ ที่ต้องไม่มีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ความ

คดีการฟ้องร้องดังกล่าว ด้วยกระแสทางการเมืองจึงร้อนระอุขึ้นในฝั่งของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทางพรรคฝ่ายค้านได้ใช้กรณีนี้โจมตีเก้าอี้ของเคนเนดี จูเนียร์ ว่าทำให้นโยบายของเขาไม่เป็นกลาง

อย่างไรก็ตามเคนเนดี้ระบุว่าจะลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทกฎหมายดังกล่าว แต่ยังคงได้รับค่าธรรมเนียมจากคดีที่บริษัทชนะ โดยมีข้อแม้ว่าคดีเหล่านั้น ต้องไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ความ โดยกล่าวว่า การขอให้ตนไม่ฟ้องร้องบริษัทยานั้น เป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจยอมรับ  อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปิดเอกสารระบุว่าเคนเนดี จูเนียร์ ได้รับค่าธรรมเนียมจาก Wisner Baum จำนวน 856,000 ดอลลาร์ หรือราว 29 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว

สำหรับ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ มีประวัติยาวนานในการแสดงความเห็นต่อต้านการฉีดวัคซีน โดยเคนเนดีเคยอ้างว่า วัคซีนเชื่อมโยงกับอาการออทิสติก แม้จะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน รวมไปถึงการคัดค้านการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยกล่าวว่าวัคซีนไม่ได้รับการทดสอบอย่างเหมาะสมและเป็นอันตราย อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Children’s Health Defense (CHD) ซึ่งเป็นองค์กรที่เผยแพร่ข้อมูลต่อต้านวัคซีน และมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน

 

ข้อชี้แจงจาก Merck

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท Merck ได้ยืนยันถึงความปลอดภัยของวัคซีน HPV ที่ชื่อ GARDASIL โดยระบุว่าบริษัทให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของยาและวัคซีน มีการวิจัยและพัฒนาเป็นเวลากว่า 30 ปีพร้อมทั้งหลักฐานการใช้งานจริง และกล่าวว่าข้อกล่าวหาของโจทย์นั้นไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกายืนยันว่าวัคซีนดังกล่าวปลอดภัย โดยอ้างผลการศึกษากว่า 160 ฉบับที่ไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวมีข้อมูลความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน รวมถึงผู้ที่แพ้ยีสต์ , อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดหลังฉีด ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นลมและการบาดเจ็บ จึงแนะนำให้เฝ้าสังเกตผู้ได้รับวัคซีนเป็นเวลา 15 นาทีหลังฉีด ,ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ และ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด, ปวดศีรษะ, มีไข้, คลื่นไส้, เวียนศีรษะ

 

ข้อชี้แจงจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติของไทย

 

กระทรวงสาธารณสุขไทยได้สนับสนุนการฉีดวัคซีน HPV ในเด็กหญิงโดยมีการฉีดฟรีทั่วประเทศให้แก่เด็กในกลุ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างกว้างขวาง โดยปีที่ผ่านมาได้ใช้วงเงินไปราวๆ 500 ล้านบาท และฉีดให้กับเด็กหญิงแล้วกว่า 1.6 ล้านคน ข่าวดังกล่าวจึงกระทบความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงการณ์ถึงความปลอดภัยของการใช้วัคซีน HPV โดยระบุส่วนที่สำคัญว่า

“… สถาบันวัคซีนแห่งชาติขอยืนยันว่า ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้วัคซีน HPV เป็นสิ่งที่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานควบคุมกำกับคุณภาพยาและวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคซีน HPV ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิผล และมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายทั่วโลกมานานกว่าทศวรรษ …”

 

สรุปประเด็นร้อน ‘วัคซีน HPV’ มะเร็งปากมดลูก ทำไมฟ้องร้องและปลอดภัยหรือไม่?

นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (US CDC) และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย ยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีน HPV อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก โดยอ้างอิงผลงานวิจัยและการศึกษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆสาขา และหลายประเทศขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Expert on Immunization: SAGE) ระบุว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัย

ข้อมูลจากการฉีดกว่า 500 ล้านโดสตั้งแต่ปี 2549 พบรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บางส่วนมีไข้ มีรายงานอาการแพ้รุนแรงแต่เกิดขึ้นน้อยมากๆ ส่วนอาการทางระบบประสาท เช่น ภาวะการอักเสบของเส้นประสาท (Guillain Barre Syndrome หรือ Bell palsy) ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าวัคซีนไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน (AEFI) โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคร่วมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อมูลปัจจุบันไม่พบความผิดปกติที่เป็นเหตุให้ต้องระงับหรือเพิกถอนวัคซีน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังคงดำเนินการติดตามความปลอดภัยของวัคซีนอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการเรียกคืนวัคซีนดังกล่าว.

Thailand Web Stat