posttoday

ครม.อนุมัติงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 69 เพิ่มขึ้นกว่า 3.6 หมื่นล้าน

04 กุมภาพันธ์ 2568

โพสต์ทูเดย์เปิดรายละเอียดงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังครม.พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 2.7 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 68 กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท หนักไปส่วนไหนบ้าง?

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568 ) คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 274,889.82 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนฯ) 272,583.33 ล้านบาท และงบบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2,306.50 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) นำเสนอ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำคำของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณางบกองทุนฯ และงบบริหารงานของ สปสช. ในปี พ.ศ. 2569 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

  1. งบกองทุนฯ 9 รายการ วงเงิน 272,583.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (236,386.52 ล้านบาท) จำนวน 36,196.81 ล้านบาท  
  2. งบประมาณบริหารของ สปสช. วงเงิน 2,306.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (1,564.54 ล้านบาท) จำนวน 741.95 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีมติรับทราบข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และมีมติเห็นชอบข้อเสนอ งบกองทุนฯ และ งบบริหารของ สปสช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 274,889.82 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง 

 

งบกองทุนฯ 9 รายการคืออะไร?

สำหรับงบประมาณที่มากที่สุดคือหมวด งบกองทุนฯ 9 รายการ วงเงิน 272,583.33 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. งบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 204,174.99 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,298.24 บาทต่อประชากร เพื่อดูแลประชากร 47.50 ล้านคน โดยเฉลี่ยงบเหมาจ่ายรายหัวจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 442.16 บาท
  2. งบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 68,408.32 ล้านบาท  เพื่อใช้สำหรับรายการ ดังต่อไปนี้
  • ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 4,574.06 ล้านบาท
  • ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 16,074.98 ล้านบาท
  • ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรังจำนวน 1,584.95 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิและหน่วยนวัตกรรมจำนวน 4,188.96 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพฯ จำนวน 4,110.35 ล้านบาท
  • ค่าบริการสาธารณสุขผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนจำนวน 6,267.29 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 541.07 ล้านบาท
  • เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการจำนวน 562.23 ล้านบาท
  • ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไปจำนวน 27,761.92 ล้านบาท 
  • ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDS) จำนวน 1,252.27 ล้านบาท