posttoday

กางที่มาที่ไปและแผนชงครม. 'จัดการโรค NCDs' เป็น 'วาระแห่งชาติ' มีนาคมนี้

16 กุมภาพันธ์ 2568

ปีที่แล้วจากการตั้งข้อสังเกตเรื่อ 'งบฟอกไต' ซึ่งติดลบกว่า 3 พันล้านบาท สู่วันนี้กับแผนขับเคลื่อนการจัดการโรค NCDs ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของไตวาย ให้เป็นวาระแห่งชาติ

สาเหตุการขับเคลื่อนโรค NCDs ย้อนไปถึงการจัดการเรื่อง ฟอกไต

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงจุดเริ่มต้นของแผนจัดการโรค NCDs ว่า

“NCDs มีจุดเริ่มต้น จากความสนใจหลายประเด็น ทั้งการใช้เงินในการล้างไต ฟอกไต ที่มีการเพิ่มเงินในแต่ละปีกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เพิ่มขึ้น ก็จะมีปัญหาแน่ รวมถึงเห็นตัวเลขการใช้เงินถึง 52% ของงบประมาณ สปสช. หรือ กว่า  7.9 หมื่นล้านบาทในการรักษา จึงหันมาขับเคลื่อนเรื่องนี้"

โดยโพสต์ทูเดย์เคยตั้งคำถามถึง สิ่งที่เกิดขึ้นในงบประมาณการฟอกไตของ สปสช. ในปี 2567 (คลิก) เมื่อพบว่า สปสช.ตั้งงบประมาณในการ 'ฟอกไต' อยู่ราว 1.2 หมื่นล้าน แต่ผ่านมาเพียงแค่ 7 เดือน สปสช.ติดลบกว่า 3,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ซึ่งถูกนำมาพูดถึงและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการบ้านเพิ่มเติมในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ในเดือนสิงหาคม 2567 

 

งบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี

 

สำหรับปัญหาเรื่อง 'ไต' นั้น กรมควบคุมโรค ได้ให้ความรู้ไว้ว่า ปัจจัยเสี่ยงของ โรคไตเรื้อรัง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะของไตวายได้นั้น มาจาก

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากสมรรถภาพไตลดลงตามอายุ
  2. ความอ้วน ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ( โรค NCDs )
  3. ผู้ได้รับสารพิษจากยาหรือสมุนไพร
  4. มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยมาก่อน ด้วยโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่ว ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  6. อาชีพ/การบาดเจ็บต่อไต เช่น นักมวยอาจถูกต่อย เตะ บริเวณไต หรือจากการประสบอุบัติเหตุรุนแรง

 

กางที่มาที่ไปและแผนชงครม. \'จัดการโรค NCDs\' เป็น \'วาระแห่งชาติ\' มีนาคมนี้

 

จากวันคิกออฟครั้งแรกสู่การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าได้กำหนด 7 นโยบายสำคัญ สำหรับปี 2568 และการจัดการโรค NCDs เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญ หลังจากนั้นมีการขับเคลื่อนดำเนินการมาหลายโครงการฯ ตั้งแต่การคิกออฟสอนประชาชนนับคาร์บ โดยใช้เครื่องมืออย่าง อ.ส.ม.เป็นหัวหอกสำคัญที่จะไปสอนความรู้ให้แก่ประชาชน ซึ่งมุ่งไปที่การกินคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลเป็นสำคัญ

ล่าสุดนายสมศักดิ์ เผยในแถลงใหญ่ โครงการ NCDs ที่จะชงครม.เป็นวาระแห่งชาติในเดือนมีนาคม 68  ที่จะถึงนี้ว่า การขับเคลื่อนนโยบาย NCDs ในปี 2568 จะเน้น 4 ประเด็น คือ

  1. ลดบริโภคเกลือ
  2. ส่งเสริมการออกกำลังกาย
  3. เพิ่มโปรตีน
  4. เพิ่มไขมันดี

ส่วนเป้าหมายในการขับเคลื่อน ปี 2568 คือ

  1. คลินิก NCDs รักษาหาย ครบทุกโรงพยาบาล
  2. ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทุกอำเภอ
  3. ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ทุกตำบล
  4. NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม.ในทุกหมู่บ้าน 
  5. วันที่ 20 มี.ค.68 นับคาร์บได้ 20 ล้านคน 
  6. วันที่ 30 ก.ย.68 นับคาร์บได้ 50 ล้านคน 

โดยรมว.ชี้ว่า นโยบายที่เกิดขึ้นนี้ " เราเดินนำหน้าหลายประเทศ เพราะนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ และ รมว.สาธารณสุข สหรัฐอเมริกา ก็มีความมุ่งมั่นจัดการโรคอ้วน เบาหวาน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชาวอเมริกา"

 

อ.ส.ม. กลไกสำคัญขับเคลื่อน ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน!

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การขับเคลื่อนโครงการ NCDs ได้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบ เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากที่จังหวัดนครราชสีมา มีตัวเลขที่ได้ผลอย่างชัดเจน เมื่อข้อมูลครบถ้วน ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค แต่ก็ได้ผลเป็นอย่างดี เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา เก็บตัวอย่าง 5,810 คน ลดเงิน 1 ปี กว่า 24 ล้านบาท ถ้าหากเพิ่มคนเป็น 5 แสนคน ก็จะประหยัดได้กว่า 2,400 ล้านบาท และถ้า 5 ล้านคน ก็จะประหยัดได้กว่า 24,000 ล้านบาท

ดังนั้น เป้าหมาย ปัจจุบันเรามี อสม. 1,070,000 คน ซึ่งได้มอบนโยบาย 1 อสม.ต่อประชาชน 50 คน ที่ต้องไปประชาสัมพันธ์ NCDs ก็จะทำให้ประชาชน 50 ล้านคน เข้าถึงการรับรู้