เปิด 10 จังหวัด ‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาด พุ่ง 1 แสนรายแล้ว หนักโดยเฉพาะในโรงเรียน
เปิด 10 จังหวัด ‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาด พุ่งกว่า 1 แสนราย เสียชีวิต 9 คน อายุน้อยที่สุดคือ 11 ปี กรมควบคุมโรคชี้ระบาดหนักโดยเฉพาะในโรงเรียน ย้ำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงจนถึงเสียชีวิต
กรมควบคุมโรคแถลงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2568 ) โดยมีแพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เป็นผู้แถลง พบมีผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย โดยเฉลี่ยตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 15,000 - 20,000 ราย เมื่อเทียบกับปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกันจะอยู่ที่สัปดาห์ละ 10,000 ราย
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ ซึ่งสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุดคือสายพันธุ์ A/H1N1 (2009) โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 11 ปีและมากที่สุด 86 ปี และทั้ง 9 คนมีมีประวัติการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน
สำหรับพื้นที่ที่ระบาดมากที่สุดได้แก่เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือ โดย 10 จังหวัดที่พบอัตราป่วยต่อประชากรสูงสุดได้แก่
- พะเยา
- ลำพูน
- เชียงราย
- ภูเก็ต
- เชียงใหม่
- ลำปาง
- กรุงเทพมหานคร
- น่าน
- อุบลราชธานี
- นนทบุรี
พื้นที่ที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือ โรงเรียน ซึ่งมีการระบาดแล้ว 11 แห่ง รองลงมาคือเรือนจำ ค่ายทหาร ฯลฯ
สาเหตุการระบาดและแนวโน้มการระบาด
กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า เทรนด์ของโรคไข้หวัดใหญ่พุ่งสูงในทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่การผ่อนคลายมาตรการโควิด ซึ่งในช่วงโควิดมีการใส่อนามัย และรณรงค์ให้ล้างมือ ทำให้การเกิดโรคน้อย แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการลง ไวรัสจึงกลับมาใหม่ โดยพบว่าไวรัสระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นทุกโรค นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา มีอากาศเย็นยาวนานกว่าปกติ ส่งผลให้โรคทางเดินระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
จากสถิติพบว่าการแพร่กระจายเกิดขึ้นในเด็ก จึงอยากให้โรงเรียนเข้มงวดและทำตามมาตรการที่เหมาะสม หากเด็กป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรจะหยุดเรียนอย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย โดยเฉพาะในพื้นที่ปิด ไม่ควรให้เด็กที่ป่วยอยู่ร่วมกับผู้อื่น
“ ไข้หวัดใหญ่ในเด็กอัตราการป่วยเยอะ และเสียชีวิต 4 ราย แต่ในฝั่งป่วยผู้สูงอายุป่วยน้อยกว่าแต่ตายเยอะกว่า ทางกรมฯ จึงกังวลเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุกังวลมาก เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า”
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยทางกรมควบคุมโรคได้มีการมอนิเตอร์ตลอดเวลา และพบว่าในช่วงหลังตัวเลขการฉีดวัคซีนดีขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ แต่เพื่อลดการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ถึงมีการออกนโยบายเน้นกลุ่มเสี่ยง และที่สำคัญคือ การระบาดยังมีปัจจัยจากพื้นที่ว่าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่