ปรากฏการณ์ “Angler Fish” ปริศนาแห่งท้องทะเลลึกหรือสัญญาณอันตรายระบบนิเวศ?
การพบปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ว่ายลอยสู่ผิวน้ำทะเล นอกถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมัน สร้างความประหลาดใจและคำถามมากมายต่อผู้พบเห็น ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องปกติหรือมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล?
การพบเห็นปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ที่ยังมีชีวิตว่ายขึ้นมาบริเวณผิวน้ำในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากจนจุดประกายความตื่นเต้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์และผู้ที่หลงไหลในทะเลลึก โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นเพียงครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกภาพปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่ของปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ไปจนถึงสถานการณ์ระบบนิเวศทางทะเลในขณะนี้ว่าอยู่ในระดับวิกฤตหรือไม่?
ปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ถูกบันทึกวิดีโอไว้ได้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งทางทีมได้ใช้ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล (ROV) แต่กลับพบปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ขนาดความยาวเพียง 9 เซนติเมตร ที่ความลึก 580 เมตร
โดยปกติแล้วปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) มีอีกหนึ่งชื่อเรียกคือ “ปลาปีศาจดำ” ด้วยลักษณะเด่นคือมีปากกว้าง ฟันแหลมคม และมีเหยื่อล่อเรืองแสงคล้ายคันเบ็ดติดอยู่บนหน้า อาศัยอยู่ในน้ำทะเลลึกระหว่าง 200 ถึง 2,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายที่เราคุ้นตาอาจทำให้หลายคนมองว่าเจ้าปลาปีศาจดำคงยิ่งใหญ่ดุดันสมชื่อ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วพวกมันมีขนาดตัวเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตรเท่านั้น! (ตัวเต็มวัย ขณะที่ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก)
สำหรับระดับความลึกที่ปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) อาศัยอยู่มีชื่อเรียกว่า Bathypelagic หรือ Midnight Zone ระดับความลึก 1,000-4,000 เมตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวบนโลก หรือคิดเป็น 70% ของน้ำทะเลทั้งหมด นอกจากนี้ บริเวณ Midnight Zone ยังเป็นจุดเดียวกันกับที่ซากเรือ Titanic จมอยู่
ตามข้อมูลจาก NOAA อุณหภูมิในบริเวณ Midnight Zone จะคงที่อยู่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส เนื่องจากแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องทะลุผืนน้ำลงไปถึงความลึกขนาดนั้นได้ แน่นอนว่าเป็นเขตพื้นที่ที่มืดสนิท ขณะที่แรงดันน้ำอาจสูงเกิน 400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
ทำไมปลาทะเลน้ำลึกถึงว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำ?
David Jara Bogunyà ช่างภาพสัตว์ทะเลจากองค์กรไม่แสวงหากำไรจาก Condrik Tenerife ได้บันทึกภาพปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ขณะที่มันเคลื่อนตัวขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างช้า ๆ ในหมู่เกาะคานารี ประเทศสเปน ห่างจากชายฝั่งของเทเนรีเฟไปเพียง 2 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2025 ซึ่งกลายเป็นไวรัลและสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั่วโลก
David ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงบน Instagram ว่า การที่ปลาทะเลน้ำลึกอย่างปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำจนทำให้เราได้พบเห็นในครั้งนี้ อาจเพราะตัวมันมีอาการป่วย หรือไม่ก็อาจหลบหนีผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่าขึ้นมา
การพบปลาตกเบ็ดหลังค่อมใกล้ผิวน้ำถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่งในแวดวงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากพวกมันเคยชินกับการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมใต้ทะเลลึกที่มีแรงดันสูงและไม่มีแสงสว่าง อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอสมมติฐานหลายประการเกี่ยวกับสาเหตุที่ปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) ว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำ ดังนี้:
- การกินเหยื่อ: ปลาตกเบ็ดหลังค่อมอาจกินปลาที่มีถุงลมหรือต่อมก๊าซเข้าไป ซึ่งเมื่อก๊าซในถุงลมขยายตัว ก็อาจส่งผลให้ปลาตกเบ็ดหลังค่อมถูกดึงขึ้นสู่ผิวน้ำ
- ภูเขาไฟใต้ทะเล: บริเวณหมู่เกาะคานารีมักเกิดการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลอยู่เนืองๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทำให้เกิดกระแสน้ำอุ่นที่พัดพาปลาตกเบ็ดหลังค่อมขึ้นสู่ผิวน้ำ
- หนีผู้ล่า: ปลาตกเบ็ดหลังค่อมอาจถูกผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น วาฬหรือแมวน้ำ เป็นไปได้ว่าผู้ล่าเหล่านั้นอาจกินปลาตกเบ็ดหลังค่อม (Angler Fish) เข้าไปแล้ว แต่คายออกมาในภายหลัง บริเวณผิวน้ำ
- อุณหภูมิที่สูงขึ้น: อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรูปแบบการอยู่อาศัยของพวกมันด้วย หลายชนิดต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
- มลพิษและการทำลายที่อยู่อาศัย: มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่คุกคามระบบนิเวศทางทะเล สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้อาจกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
(สมมติฐานจาก Kory Evans นักชีววิทยาประมงจากมหาวิทยาลัยไรซ์)
David Jara Bogunyà ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้เราจะยังไม่ทราบเหตุผลหรือข้อสรุปที่แน่ชัดของการว่ายขึ้นมาถึงผิวน้ำ แต่ปลาตกเบ็ดหลังค่อมตัวนี้ถือว่าได้ทิ้งคุณค่าและมรดกไว้ให้กับมวลมนุษยชาติตราบนานเท่านาน ทางทีมวิจัยจะรักษาร่างของปลาตกเบ็ดหลังค่อมไว้ ก่อนมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและโบราณคดีแห่งเทเนริเฟ
การพบปลาตกเบ็ดหลังค่อมในสภาพยังมีชีวิต ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาพฤติกรรมและชีววิทยาของพวกมัน ส่วนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ในครั้งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจระบบนิเวศทางทะเลลึก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ยังคงเป็นปริศนาสำหรับเราอีกมากมาย
“เหตุการณ์นี้ทำให้เราตระหนักว่า โลกใต้ทะเลลึกยังเต็มไปด้วยความลับของสิ่งมีชีวิตอีกมาก ที่เราอาจไม่เคยได้สัมผัส” - David Jara Bogunyà