posttoday

‘รากปัญหา’ ฟอก ‘แรงงานจีน’ ไทยไร้แผนดึงดูดแรงงานทักษะ-ไม่บังคับใช้กฎหมาย

05 มีนาคม 2568

ข้อถกเถียงปัญหา 'แรงงานจีน' จะถล่มแรงงานไทยหรือไม่? ในวันที่ไทยก็ต้องการแรงงานมีทักษะแต่กลับขาดแผนแม่บทและนโยบายระยะยาว รวมถึงมีปัญหาเรื่องการใช้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.กระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 เมื่อสส.สหัสวัต ถามกรณีการลงทุนของ BOI ที่ส่อนำแรงงานจีนทะลักเข้ามา และแรงงานไทยไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว และแม้จะมีตัวเลขการลงทุนสูง แต่แรงงานไทยที่ถูกว่าจ้างกลับลดลง 3 เท่า!

นายพิชัย ได้ตอบกระทู้ใจความตอนหนึ่งว่า “การลงทุนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะหลังได้แก่ การลงทุนประเภทอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ ฯลฯ จะมีปัญหาว่าทุกคนต้องการจากไทยคือ พลังงานสีเขียว และแรงงานทักษะสูงในช่วงการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ก็ต้องการคนที่เข้าใจตรงนั้น ทำให้ไม่เกิดการจ้างแรงงานเยอะในช่วงแรก เนื่องจากประเภทของอุตสาหกรรมต่างจากเมื่อก่อน และเพื่อความรวดเร็วก็ต้องเข้ามาแบบสำเร็จรูป …

กว่าที่จะเกิดการจ้างงานจริงๆจะต้อง 3 ปี ไม่เสร็จสิ้นในปีหรือสองปีนี้ เรากำชับได้ช่วงแรกเพียงแต่ว่าตัวเลขการลงทุนนั้นต้องมีการลงทุนจริง หลังจากสามปีเป็นต้นไปจึงจะเห็นการจ้างงาน และต้องมีบริษัทไทยเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งในช่วงแรกจะไม่ออกผลด้านการจ้างแรงงาน”

นอกจากนี้ ในประเด็นของการกระทำที่ผิดกฎหมาย นายพิชัยกล่าวว่า เนื่องจากเป็นการลงทุนรุ่นใหม่ ทุกกระทรวงจะต้องมีการกวดขันและดำเนินการต่อไป

 

จากการตอบกระทู้ของนายพิชัย สิ่งที่สรุปได้คือ ตัวเลขการจ้างงานแรงงานไทยนั้นจะต้องดูตัวเลขในอีกราว 2 ปีข้างหน้า  และที่ซ่อนอยู่คือการเข้ามาของนักลงทุนในเฟดแรกนั้น ไม่ได้จ้างแรงงานทักษะสูงชาวไทย

 

การตอบกระทู้ของนายพิชัย เมื่อเดือนสิงหาคม 2567

 

ไทยขาดแผนคัดเลือก ‘ประชากร-แรงงานคุณภาพ’ เข้าประเทศ ส่งผลทำให้เกิดการ ‘ฟอกคน’

 

จากรายงานพิเศษ   เป็นไปได้? ไทยต้องการ 'แรงงานจีน' เป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!    ที่โพสต์ทูเดย์ ฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามามากถึง 500,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า และถ้าหากยังผลิตคนได้ในเปอร์เซนต์ที่ต่ำอย่างทุกวันนี้ มีโอกาสที่ไทยจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเข้าหลักล้าน และเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากสุดถึง 20% ของภาคอุตสาหกรรมแต่ละรูปแบบ  จึงทำให้การนำเข้า ‘แรงงานทักษะสูง’ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

 

ผศ.ดร.สักกรินทร์  นิยมศิลป์ อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้อธิบายและเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรจะมีแผนระยะยาวโดยเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเลือก ‘ประชากรที่มีคุณภาพ’ เข้ามาเติม!

 

“แผนระยะยาวจะต้องมีกลุ่มเป้าหมาย ต้องการประชากรปีละเท่าไหร่ อย่างเช่นประเทศ ออสเตรเลียและแคนาดาจะมีโควต้าว่าแต่ละปีต้องการคนสกิลแบบไหน กี่สาขา จะมีการประกาศรับสมัครเข้ามาทำงาน และมีการคัดเลือก

วิธีการคัดเลือกก็จะระบุไปเลยว่า ต้องจบปริญญาตรีสาขาอะไร มีประสบการณ์การทำงานกี่ปี มีทรัพย์สินทางปัญญาอะไรหรือไม่ เขาจะดูหลายมิติ เพราะเป้าหมายคือการให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานและอยู่ในประเทศอย่างถาวร”

 

อาจารย์สักกรินทร์ยกตัวอย่างเพิ่มเติมในกรณีประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเปิดรับคนจีนเข้ามาเรียน หากเป็นเด็กจีนที่มีความสามารถ ก็จะมีแมวมองไปทาบทามถึงที่  และเมื่อทำงานครบ 5 ปี ก็จะมีการสอบถามว่าสนใจที่จะอยู่ที่สิงคโปร์แบบตลอดชีพหรือไม่ และเมื่ออยู่แล้วก็ยังสามารถที่จะสมัครเป็นพลเมืองของสิงคโปร์ได้อีกด้วย

 

“จะเห็นว่าสิงคโปร์เติบโตต่อเนื่อง เพราะมีคนเก่งมาเติมในระบบตลอด ประชากรก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้ลดลง แม้สิงคโปร์จะเป็นสังคมสูงวัยเหมือนเมืองไทย แต่สิงคโปร์แก้ปัญหานี้ด้วยการเติมประชากรเข้ามา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ”

 

ต่างจากประเทศไทยที่มีตัวเลขแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานเพียง 5.92% ในต่างประเทศจะเน้นแรงงานที่มีสกิล มีความรู้ความสามารถ

เพราะแรงงานทักษะสูงเหล่านี้คือคนที่จะมาเสียภาษีให้กับประเทศ  ปัจจุบัน แรงงานต่างชาติมาเสียภาษีให้ไทยแค่เป็นภาษีจับจ่ายใช้สอย แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้เสีย ถ้าเป็นแรงงานไม่มีทักษะก็คือเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ ”

 

‘รากปัญหา’ ฟอก ‘แรงงานจีน’ ไทยไร้แผนดึงดูดแรงงานทักษะ-ไม่บังคับใช้กฎหมาย

 

สำหรับประเทศไทย ยังขาดแผนแม่บทระยะยาว โดยอาจารย์มองว่าไม่ใช่แค่ออกนโยบายด้านวีซ่าเท่านั้น แต่ต้องมีนโยบายที่ดึงดูดใจให้คนเข้ามายังประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ 

“ ประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมเข้าญี่ปุ่นยากมาก แต่ทุกวันนี้เนื่องจากญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนประชากรที่จะเป็นแรงงานของประเทศ หากใครจบที่ญี่ปุ่นสามารถอยู่หางานทำต่อได้เลย บางเมืองมีการจ้างให้อยู่ ให้ที่พักฟรี หรือบางเมืองที่เงียบเหงาก็จะมีการให้ทุนไปเรียนหนังสือในเมืองนั้นฟรี ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตได้”

 

อาจารย์สักกรินทร์ ยกตัวอย่างเป็นเกร็ดความรู้ให้ฟังเพิ่มเติมว่าในสมัยพระนารายณ์ เคยอนุญาตให้คนสัญชาติอื่นๆ ที่อยู่บนแผ่นดินสยาม เป็นคนสยาม ทำให้ทุกวันนี้เราเกิดชุมชนย่านต่างๆ ที่มีคนเชื้อสายซึ่งไม่ใช่ไทยแท้ปะปนอยู่มากมาย  และอยุธยาในเวลานั้นคือมหานครที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งของโลก!

 

“ ประเทศไทยจะต้องมีคณะกรรมการที่ดูแลนโยบายนี้โดยตรง เพราะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ทุกหน่วยงานต้องมาดูว่าเราต้องการคนแบบไหนเข้ามาเป็นประชากรของประเทศ เช่น อนุญาตให้เข้ามาทำงานเพียง 5 ปีขอเป็น Permanent Residence ได้ จากนั้นจึงขอเป็นพลเมืองได้ นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายส่งเสริมการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม  ... เพราะหากไม่มีนโยบายแบบนี้ อีกด้านหนึ่งคือเขาจะเข้ามาอยู่แบบผิดกฎหมายเช่นเดิม

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สักกรินทร์ให้ความเห็นต่อประเด็นของการเข้ามาแบบผิดกฎหมายของแรงงาน โดยมองว่า เป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้เลือกแรงงานเลย ‘ใครเข้ามาก็เข้ามาได้หมด’

“ ทุนเทาก็คือคนที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือไม่เสียภาษี คนเหล่านี้ก็พยายามแสวงหาช่องทางในการได้วีซ่าแบบไม่ถูกต้อง ผมว่า ‘ไทยเทา’ นี่แหละเป็นต้นตอของจีนเทา ถ้าไม่มีไทยเทาจีนเทาก็จะไม่เกิดขึ้น มันคือปัญหาคอร์รัปชั่น

หากเข้ามาผ่านวิธีการคัดเลือกคน เราต้องเลือกคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม เข้ามาอย่างถูกต้อง มีสกิลอะไร จบปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งพอเราเป็นฟรีวีซ่าให้จีน ใครเข้ามาเราก็รับหมด

 

 

ดึงแรงงานผิดกฎหมายใต้ดินที่อยู่และร่ำรวย ขึ้นมาเป็นพลเมืองเสียภาษี

 

สอดคล้องกับความเห็นของ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช  ประธานสมาพันธ์ SME ไทย มองว่า การมอบสิทธิการอยู่ถาวร อย่างเช่น ในอเมริกาที่มีกรีนการ์ด เป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากประเทศไทยจะรับคนเข้ามาจะต้องมีการกำหนดกลุ่มที่เข้ามาให้ชัดเจน และเป็นกลุ่มที่ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะหากได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้วจะต้องมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง

 

“ ที่สำคัญมันเป็นตัวกรองการเข้ามา ให้เขามีช่องทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย เพราะทุกวันนี้กลายเป็นว่าคนที่มาถูกกฎหมายต่อวีซ่ายาก แต่คนผิดกฎหมายก็แค่ทำบัตรประชาชนปลอม  เราบอกไปเลยว่าหากคุณอยากจะเข้ามาอยู่ในไทยอย่างจริงจัง เราจะดึงคนที่เกรดดีๆ เข้ามาแต่ต้องมีการดีไซน์กฎเกณฑ์ที่จะเข้ามา เช่นเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาทำงานอะไร เข้ามาแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร

โดยอาจจะเปิดเป็น 2 ทางเลือก ได้แก่ คนที่อยู่แบบผิดกฏหมายและอยู่มานาน ก็ให้แสดงตัวตน ดึงโรบินฮู้ดที่มาอยู่จนรวยแล้ว เป็นเจ้าของตลาดเจ้าของแผง แสดงตัวตนและให้สิทธิแก่เขา ให้เขาจ่ายภาษีบนดินให้แก่ไทย  กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่อยากมา ก็ให้เงื่อนไขการมาอยู่

 

ทั้งนี้ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช  ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ย้ำว่า การอัปสกิลแรงงานไทยยังมีความจำเป็น หากรัฐไม่มีมาตรการคัดเลือกกลุ่มคนที่เข้ามา และมีการล้นเข้ามาของแรงงานจีนจริงๆ แรงงานไทยในกลุ่มที่ไม่มีทักษะจะต้องประสบกับปัญหา เช่น ช่างเฉพาะทาง ภาคแรงงานเกษตร และภาคบริการและการค้าที่มีการศึกษาต่ำ โดยคนกลุ่มที่ต้องการ Upskill จะอยู่ที่ราว 5.3 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามเมื่อดูงบประมาณพัฒนาของรัฐบาลจะพบว่า รัฐใช้งบประมาณคนกลุ่มนี้ไม่มากนัก สำหรับงบของกระทรวงการศึกษากว่า 70% ก็เป็นงบที่ใช้ไปกับบุคลากร คือจ่ายค่าจ้างคนมากกว่า ทำให้ค่าใช้จ่ายประเทศในเรื่องการศึกษาต่อ GDP ต่ำมากอันดับ 112 ของโลกเลยทีเดียว

 

“อินโดนิเซียร่วมกับสถาบันการศึกษากว่า 80 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาหลักสูตรให้ผู้ประกอบการและแรงงานเกือบสองพันหลักสูตรภายในระยะเวลา 3 ปี จากที่เขาตั้งเป้าว่าจะสามารถอัปสกิลแรงงานปีละ 5 ล้านคน สามปีเขาทำไปได้แล้วกว่า 17.5 ล้านคน ... นี่สิเร็วของจริง วินของจริง ไม่ใช่แค่ Quick Win แค่เพียงลมปาก” นายแสงชัยให้ความเห็น

 

‘รากปัญหา’ ฟอก ‘แรงงานจีน’ ไทยไร้แผนดึงดูดแรงงานทักษะ-ไม่บังคับใช้กฎหมาย

 

ไทยไม่อาจปฏิเสธกระแสของโลก ที่วันนี้ 'ทุนจีน-แรงงานจีน' กำลังกระจายไปยังทุกที่ได้ วันนี้จึงควรอยู่ในจุดที่ต้องมีนโยบายที่จะ 'คว้าโอกาส' จากเทรนด์นี้ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีกฎเกณฑ์ที่จะกลบจุดบอด และช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายโดยเร็ว หากเป็นจริงอย่างที่ รมว.พิชัย พูด ที่การลงทุนนั้นจะต้องเปิดรับแรงงานอีกจำนวนมากในเวลาอันใกล้ ประเทศไทยก็คงมีเวลาอีกไม่นานนัก!