ครั้งแรกของโลก! ศิริราช ผลิตกระดูกไทเทเนียมในรพ. สำคัญอย่างไร?

02 เมษายน 2568

สำเร็จครั้งแรกของโลก! ศิริราช ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลในรพ.และใช้ในผู้ป่วยจริง! พร้อมเปิด 4 ข้อทำไมความสำเร็จนี้ จึงสำคัญสำหรับวงการแพทย์

เมื่อ ‘ศิริราช’ จับมือกับ ‘เมติคูลี่’ บริษัทนักวิจัยไทยแท้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และการสนับสนุนจาก MK Restaurant Group คนไทยจึงได้เห็น ‘ก้าวเล็กๆ ของวงการแพทย์แต่สำคัญระดับโลก’ บนผืนแผ่นดินไทย 

 

ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและบริษัทวิจัยไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ได้เกิดนวัตกรรมการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ ‘ในโรงพยาบาล’ เป็น 'ที่แรกของโลก' เกิดขึ้น

 

การผลิตกระดูกด้วยไทเทเนียมเป็นนวัตกรรมที่มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะภายใต้การดำเนินงานของ เมติคูลี่ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการผลักดันคุณภาพระดับสากล คือ อยู่ในระดับ FDA ของสหรัฐอเมริกา (อ่านเพิ่มเติม : เบื้องลึก! กว่า ‘แผ่นปิดกะโหลกไทย’ ผ่าน U.S.FDA และรพ.ดังใน Netflix ยอมรับ )

 

ครั้งแรกของโลก! ศิริราช ผลิตกระดูกไทเทเนียมในรพ. สำคัญอย่างไร?
 

ความร่วมมือครั้งนี้จึงโฟกัสที่สถานที่ผลิต หรือ ‘โรงงาน’  ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เพราะเล็กสุดได้ถึง 50 ตารางเมตร หรือเท่าร้านกาแฟเล็กๆ ร้านหนึ่ง!  พังขนบการเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งปวง ที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่เฉพาะของตนเอง อีกทั้งยังสามารถตั้งโรงงานนี้ในโรงพยาบาล

 

โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

เป็นที่แรกของไทยและที่แรกของโลก 

 

เปิดภาพแรกกับโพสต์ทูเดย์ เห็นสถานผลิตในโรงพยาบาลซึ่งใช้พื้นที่น้อยมาก เปิดภาพแรกกับโพสต์ทูเดย์ เห็นสถานผลิตในโรงพยาบาลซึ่งใช้พื้นที่น้อยมาก

 

ภายใต้คอนเซปต์ ‘Factory in the Box’ ที่การผลิตกระดูกเทียมไม่ต้องทำในโรงงานขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่สามารถใช้พื้นที่เล็กๆ ได้ เพราะใช้นวัตกรรม AI และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งสามารถช่วยลดจำนวนคน เหลือเพียงแค่ 1-2 คนในสถานที่ผลิต ทำให้สถานที่ผลิตขนาดตู้คอนเทนเนอร์นี้สามารถอยู่มุมหนึ่งของโรงพยาบาลได้โดยไม่ยาก

 

และนี่คือ 2 ข้อสำคัญ คือ โรงงานขนาดเล็ก และ ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล

ที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ!

 

แล้วจะเพิ่มอย่างไร?

 

ชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์เบ้าสะโพกไทเทเนียมที่ใช้การพิมพ์ 3 มิติ ชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์เบ้าสะโพกไทเทเนียมที่ใช้การพิมพ์ 3 มิติ

 

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สรุปประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรมนี้ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา หลังโรงพยาบาลศิริราชใช้ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลและสามารถใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จแล้ว 

สำหรับ โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผิวข้อสะโพกถูกทำลายจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้ป่วยใช้ร่างกายอย่างหนักเป็นเวลานาน สะโพกผิดรูปแต่กำเนิด เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย หรือบางรายรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ให้ผลการรักษาที่ดี แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องมีกระดูกเบ้าสะโพกที่สมบูรณ์เพื่อให้ข้อสะโพกเทียมสามรถยึดติดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แต่ในบางกรณีที่มีอาการแตกหรือสึกกร่อนร่วมจะต้องยอมรับภาวะทุพพลภาพ ซึ่งนวัตกรรมการผลิตสามมิติด้วยวัสดุไทเทเสียมนี้สามารถใช้ทดแทนกระดูกเบ้าสะโพกที่แตกหรือสึกกร่อนได้

บวกกับเทคโนโลยีที่สามารถนำการผลิตมาไว้ในโรงพยาบาล และนี่คือ 4 ข้อที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม! 

 

1.  "เวลา"  

เนื่องจากแต่เดิมการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม ในผู้ป่วยบางกรณีมีความซับซ้อนของโรคและอาการ บางรายกระดูสะโพกหายไปจำนวนมากและเป็นเคสยากต่อการรักษา มักจำเป็นต้องสั่งกระดูกเทียมมาจากต่างประเทศ  ซึ่งใช้เวลารวมกว่า 3-4 เดือน กว่าจะถึงมือแพทย์

ระยะเวลารอคอยที่นาน บางครั้งทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว  หรือการดำเนินของโรคมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อกระดูกเทียมมาถึงก็จะมีความไม่พอดี แต่สำหรับการผลิตในโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นนี้สามารถใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ก็มาถึงมือแพทย์ได้!

 

2. "คุณภาพ" 

สถานผลิตในโรงพยาบาล ใช้นวัตกรรมการผลิตเบ้ากระดูกสะโพกเทียมจากไทเทเนียมด้วยเทคนิคการพิมพ์สามมิติของ  'เมติคูลี่' ซึ่งผ่านมาตรฐาน FDA (สหรัฐอเมริกา) และ CE (สหภาพยุโรป) แล้วจึงมั่นใจได้ถึงคุณภาพและความปลอดภัย

 

3. "ค่าใช้จ่าย"

นวัตกรรมนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 6-7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ เหลือราว 120,000 บาท เมื่อเทียบกับปกติที่ทะลุถึง 700,000 บาทต่อราย

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัวซึ่งจัดขึ้นวันนี้ที่โรงพยาบาลศิริราช  นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงการผลักดันการรักษาด้วยนวัตกรรมดังกล่าวเข้าสู่ระบบของ สปสช. เพื่อให้นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถเข้าไปอยู่ใน ‘บัตรทอง’ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ก็ตาม 

นอกจากนี้ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด เองก็ยังมีแผนที่จะทำในระดับ Economy of Scale (การผลิตได้มากขึ้น จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง) เพื่อที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลง ให้เหมาะสมกับราคาที่ สปสช. สามารถสนับสนุนให้แก่ประชาชนได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม 

 

4. "ความร่วมมือระหว่างแพทย์และวิศวกร"

ข้อดีที่ทำให้นวัตกรรมชิ้นนี้คือความสำเร็จระดับโลก คือ โรงงานที่ตั้งอยู่ในสถานพยาบาล สามารถทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างแพทย์และวิศวกรแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์ทำงานร่วมกับวิศวกรในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของผู้ป่วย และยังสามารถปรับตามความต้องการได้อย่างรวดเร็ว และให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ในขณะที่แพทย์ก็สามารถติดตามการผลิตได้ตามที่ต้องการแบบใกล้ชิดกว่าเดิม

 

ครั้งแรกของโลก! ศิริราช ผลิตกระดูกไทเทเนียมในรพ. สำคัญอย่างไร?

 

ด้าน  ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคงกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถทางการรักษาไส้น่าสนใจว่า

ในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชมีคนไข้มากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 4.8 ล้านครั้ง และมีคนไข้แอดมิทราว 1.2 แสนคน และเกือบทั้งหมดล้วนเป็นคนไข้ที่รับรีเฟอร์ต่อจากที่อื่น และใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งทำให้ “เราปฏิเสธไม่ได้ถึงการใช้เทคโนโลยีและความทันสมัยในการรักษา”

 

 

ทั้งนี้  นอกจากการตั้งโรงงานผลิตกระดูกไทเทเนียมเทียมในโรงพยาบาลเป็นที่แรกของโลกแล้ว การผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และสามารถใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จโดยแพทย์จากศิริราช ยังถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกอีกด้วย.
 

 

ครั้งแรกของโลก! ศิริราช ผลิตกระดูกไทเทเนียมในรพ. สำคัญอย่างไร?

Thailand Web Stat