หากสงครามการค้าคืบไปยังวงการผลิตยา! แล้วอเมริกาจะชนะจริงหรือ?
สงครามการค้าคืบไปยังวงการผลิตยา! แล้วอเมริกาจะชนะจริงหรือ เมื่อ “จีน” คือผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตยาอันดับ 1 ของโลก!
ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมยา เคยรอดพ้นจากการประกาศจัดเก็บภาษีตามนโยบายของ 'ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์'ในวาระแรก แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้ประกาศว่าอาจจะมีการพิจารณาการจัดเก็บภาษีในส่วนของอุตสาหกรรมยาเพิ่มเติม ทั้งยาสำเร็จรูป และสารออกฤทธิ์ทางยาซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตที่เรียกว่า API หรือ Active Pharmaceutical Ingredients
ภายใต้เหตุผลที่อยากจะให้บริษัทยาย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐอเมริกา ที่หลายฝ่ายออกมาพูดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเร็ววัน และแน่นอนว่าอีกเหตุผลสำคัญคือ ‘จัดการ’ คู่แข่งทางการค้าที่สำคัญได้แก่ ‘จีน’
เข้าใจกระบวนการผลิตยา สาเหตุ ‘สหรัฐฯ’ ยังต้องพึ่ง ‘จีน’
แม้ว่าตัวยาสำเร็จรูปที่จีนส่งไปยังสหรัฐนั้น มีจำนวนน้อยเมื่อดูสัดส่วนผู้ผลิตและส่งออกมายังสหรัฐ จากสถิติซึ่งระบุไว้ใน The Observatory of Economic Complexity (OEC) แพลตฟอร์มที่รวบรวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นจากงานวิจัยของ MIT ระบุว่า 'ไอร์แลนด์' เป็นผู้ผลิตและส่งออกยาสำเร็จรูปให้แก่สหรัฐอเมริกามากที่สุด ในสัดส่วนราว 24% ในปี 2567 คิดเป็นมูลค่าราว 1.8 ล้านล้านบาท
ส่วนประเทศจีน ติดอันดับการส่งออกยาสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าเพียงหลักหน่วยราว 3-6% ของมูลค่าการนำเข้ายาของสหรัฐฯ เท่านั้น
แต่เมื่อดูกระบวนการผลิตยาทั้งระบบ จะเข้าใจว่าทำไม ‘สหรัฐ’ จึงต้องตั้งกำแพงภาษี เพื่อทำสงครามกับ ‘จีน’
การจะผลิตยาตัวหนึ่งได้นั้น จะเริ่มต้นจากสารที่เรียกว่า KSMs ( Key Starting Material ) หรือวัตถุดิบตั้งต้น ก่อนจะไปสู่ขั้นที่เรียกว่า ‘สารกึ่งสำเร็จ’ หรือ Intermediates ซึ่งเป็นสารเคมีที่จะเป็นตัวผลิต 'สารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API' ต่อไป และสารออกฤทธิ์ทางยาก็จะถูกนำมาผลิตเป็น 'ยาสำเร็จรูป' ในลำดับสุดท้าย
เริ่มจากอุตสาหกรรม APIs ในประเทศจีน ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรม APIsในจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด หากย้อนไปในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นเคยผลิต API คิดเป็น 90% ของทั่วโลก แต่ในปี 2017 หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและเวชภัณฑ์ของสหราชอาณาจักร (UK MHRA) ประเมินว่า จีนเพียงประเทศเดียวผลิต API ได้ประมาณ 40% ของปริมาณทั้งหมดของโลก! และสามารถผลิตได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่อื่น!
Atlantic council องค์กรที่เปรียบเสมือนคลังสมองของสหรัฐฯ เคยออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า ในปี 2021 รัฐบาลไบเดนได้ระบุว่า 'อุตสาหกรรมยา' เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้ เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ และแร่ธาตุที่สำคัญ
โดยสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุดไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ผลิตในจีน แต่คือ สารออกฤทธิ์ทางยาหรือ API เพราะ API เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยา
สหรัฐฯ มองว่าหากการส่งมอบ API ถูกรบกวนหรือหยุดชะงัก อาจทำให้การผลิตยาสำเร็จรูปหยุดชะงักตามไปด้วย ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มเสียงดังขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการเกิดโรคโควิด-19 ซึ่งนั่นก็ไม่เกินไปกว่าเรื่องจริงแต่อย่างใด เพราะนักวิจารณ์ในจีนเองก็เคยเสนอแนวคิดว่า
จีนสามารถใช้ความเป็นผู้นำด้านการผลิต API เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ในปี 2019 อดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางจีนเคยเสนอว่า จีนควรใช้การส่งออกยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เป็นเครื่องมือตอบโต้ในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อีกด้วย!
แม้กระทั่งในยุคของ 'ทรัมป์ 1' ทรัมป์ก็จับตากับอุตสาหกรรมยาเป็นพิเศษเช่นกัน โดยเขามีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตยาในประเทศโดยเฉพาะตัวยาสำคัญ เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงด้านยาให้แก่ชาวอเมริกัน แต่ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งเสียก่อน จนกระทั่งการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ซึ่งจ่อจะประกาศการใช้กลไกทางภาษีเพื่อบีบให้บริษัทกลับมาตั้งฐานการผลิตยาในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้า API จากจีนแค่เพียง 17% ในปี 2024 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลขที่ยังควบคุมได้ แต่หลายฝ่ายกลับมองว่า ถ้าดูตลอดห่วงโซ่การผลิตยาจะพบว่า ‘ไม่พ้นจีน’
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
อย่างแรกคือ ยาสามัญทั่วไปสหรัฐนำเข้าจาก 'อินเดีย' เสียส่วนใหญ่ และดูเหมือนว่าอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกยารายใหญ่มายังสหรัฐฯ และเป็นผู้ผลิตยาสามัญได้กว่า 20% ของปริมาณความต้องการโลกตามข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ก็ยังคงต้องพึ่งพา API จากประเทศจีนอยู่มากถึง 70%
เมื่อดูมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมส่งออก API ของจีน พบข้อมูลในปี 2019 ว่าจีนมีบริษัทที่ผลิต API ทั้งหมด 12,462 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 1,056 บริษัท โดยส่งออกไปยัง 189 ประเทศทั่วโลก และอินเดียคือตลาดส่งออกเบอร์ 1 ของจีน คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวน API ทั้งหมดที่จีนผลิตได้ และได้ส่งไปยังตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือเช่นกัน
และไม่ใช่แค่เพียงปริมาณการผลิตที่ทำถึงแล้ว ราคาก็ยังถูก เนื่องจากจีนผลิตสารตั้งต้น หรือ KSMs ที่จะมาทำ API ด้วย ทำให้ API ที่ผลิตในจีนราคาต่ำกว่าที่อื่น
สำนักข่าวนิคเคอิเอเชียของญี่ปุ่น เคยเขียนบทความ The great medicines migration : How China took control of key global pharmaceutical supplies ไว้ว่า
ไม่ว่าโรงงานยาขนาดใหญ่จะทำ API แบบใด เมื่อสืบย้อนแล้วจะพบว่าสารตั้งต้น หรือ KSMs จะถูกย้อนกลับไปที่ผู้ผลิตในจีนเสมอ
นั่นคือเหตุผลสำคัญลำดับที่ 2 ที่ทำให้จีนกลายเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยาทั้งหมดของโลกใบนี้ เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิต KSMs รายใหญ่ที่สุดของโลก!
ทำไมถึงต้องผลิตที่ จีน?
สาเหตุส่วนหนึ่งที่การตั้งโรงงานผลิต API ไม่ได้แพร่หลายในโซนฝั่งตะวันตกมากหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการผลิต API นั้นก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตสารเคมี
งานวิจัยของ PwC หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลกในฝรั่งเศสยังพบว่า ทุกขั้นตอนในการผลิต API นั้นพึ่งพาเทคโนโลยีที่อาจก่อมลพิษ ซึ่งสามารถปล่อยของเสียทางเคมีลงสู่อากาศ น้ำ หรือดินได้ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายที่เกิดขึ้น และการรับประกันความปลอดภัยมีต้นทุนสูงมาก
จากเหตุผลดังกล่าว สหภาพยุโรปหรือแม้กระทั่งอเมริกาที่เข้มงวดกับเรื่องนี้มากเพื่อที่จะผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม! ซึ่งนั่นเท่ากับว่าบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนใช้งบประมาณการลงทุนและเวลามหาศาล
แต่ไม่ใช่ว่าจีนจะปล่อยให้โรงงานผลิต API เป็นปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมในประเทศซะทีเดียว
การผลิตที่จีนนอกจากจะมีราคาถูกเพราะสามารถหาสารตั้งต้น (KSMs) ได้ที่จีนแล้ว รัฐบาลจีนยังออกมาตรการและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิต API อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้แก่โรงงาน API สนับสนุนการก่อสร้าง 'API industrial clusters' ในมณฑลซานตง เจ้อเจียง และเหอหนาน การควบรวมกิจการของผู้ผลิต API ขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดผู้เล่นรายใหญ่ที่มีศักยภาพพอที่จะแข่งขันระดับโลก รวมไปถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะใน green API production (กระบวนการผลิตสะอาด)
จีนจริงจังกับอุตสาหกรรมการผลิต API เป็นอย่างมาก พร้อมๆ กับการที่พัฒนาการผลิตยาสามัญให้มีคุณภาพเพื่อทดแทนการนำเข้ายา และพัฒนาอุตสาหกรรมยาในบ้านของตัวเอง โดยพบว่าในช่วงหลังนอกจากสหรัฐฯ จะนำเข้ายาปฏิชีวนะกว่า 90% จากจีนแล้ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังนำเข้ายาที่รักษาโรคซับซ้อนอื่นๆ เช่น ยารักษามะเร็ง หรือยาโรคหลอดเลือดและหัวใจ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
.
.
ท้ายนี้ ความน่ากลัวของจีนในอุตสาหกรรมการผลิตยา จึงกลายเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลใจไม่น้อยเพราะไม่ใช่แค่เพียงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่คือความมั่นคงด้านยารักษาโรค ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต!
ต้องติดตามต่อไปว่า หากทรัมป์ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีในอุตสาหกรรมยา จะส่งผลอย่างไร? อะไรจะเกิดก่อนกันระหว่างบริษัทกลับมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ กับจีนจะใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเชือดสหรัฐฯ!
ที่มา
https://asia.nikkei.com/static/vdata/infographics/chinavaccine-3/
https://www.echemi.com/cms/101335.html