เจ.เค.โรว์ลิง ยินดีศาลสูงอังกฤษจำกัด ‘ผู้หญิง’ ตามเพศกำเนิด
เจ.เค.โรว์ลิง ยินดีหลังศาลสูงสุดของอังกฤษตัดสินจำกัดนิยาม ‘ผู้หญิง’ ตามเพศกำเนิดเท่านั้นไม่รวม ‘คนข้ามเพศ’ ขณะที่อีกกลุ่มมองเป็นการจำกัดสิทธิตามรอย ‘ทรัมป์’
ศาลสูงสุดของอังกฤษ มีคำตัดสินเมื่อวานนี้ (16 เมษายน 2568) ว่าคำจัดกัดความของ 'ผู้หญิง' ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมซึ่งใช้ทั่วอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ หมายถึง บุคคลที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น โดยล้มข้อโต้แย้งของรัฐบาลสกอตแลนด์ที่พยายามให้รวมผู้หญิงข้ามเพศไว้ในคำนิยาม
ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศที่มีใบรับรองการยอมรับเพศสภาพ (Gender Recognition Certificate-GRC) ไม่ถือว่าเป็นผู้หญิงตามกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งคำว่า 'ผู้หญิง' กับ 'เพศหญิง' นั้นมีความหมายต่างกันมาก่อนหน้าการตีความครั้งนี้อยู่แล้ว โดยคำว่าเพศหญิง จะหมายถึงเพศทางชีวภาพหรือเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
การฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่กฎหมายของรัฐสภาสกอตแลนด์ในปี 2018 กำหนดให้คณะกรรมการขององค์กรสาธารณะในสกอตแลนด์ต้องมีสัดส่วนผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 50 โดยรวมถึงผู้หญิงข้ามเพศที่มีใบรับรองเพศตามกฎหมายด้วย ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องจากกลุ่ม FWS หรือ For Women Scotland
ความเคลื่อนไหวนี้สิ้นสุดความกำกวมในข้อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าว เช่น ประเด็นพื้นที่ที่ให้บริการเฉพาะเพศหญิง อย่าง สถานพักพิง หอผู้ป่วยหญิง รวมถึงการแข่งขันกีฬาประเภทหญิง นั้นการเข้าถึงของผู้หญิงข้ามเพศ จะถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ศาลระบุในการตัดสินว่าไม่ควรมีการตีความว่าคำตัดสินนี้หมายถึงชัยชนะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมทั้งชี้ว่า บุคคลข้ามเพศจะยังคงได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมายความเท่าเทียมในฐานะผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพศ
ความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ตัวแทนจากกลุ่มสิทธิสตรี For Women Scotland (FWS) ซึ่งเป็นแกนนำยื่นฟ้องรัฐบาลสกอตแลนด์ในคดีนี้ ให้เหตุผลว่าการคุ้มครองตามเพศควรใช้กับผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงเท่านั้น และตอนนี้ทุกคนตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ผู้สนับสนุนบางส่วน ระบุว่า เป็นสิ่งที่หวังไว้ว่าศาลฎีกาจะยอมรับว่าผู้หญิงก็คือผู้หญิงเป็นผู้หญิงโดยกำเนิด ไม่ใช่ผู้ชายที่กรอกแบบฟอร์มและได้ใบรับรองการเป็นผู้หญิง
เช่นเดียวกับ เจ.เค. โรว์ลิง ผู้แต่งวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังระดับโลกอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งแสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องเพศมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงความยินดีกับคำตัดสินนี้ โดยได้แสดงความเห็นบนแพลตฟอร์ม X ว่า
ต้องใช้ผู้หญิงชาวสก็อตแลนด์ที่ไม่ธรรมดาสามคน พร้อมกับกองทัพที่อยู่เบื้องหลังเพื่อทำให้คดีนี้ไปถึงศาลฎีกาได้และเมื่อพวกเธอชนะ ก็เท่ากับว่าพวกเธอได้ปกป้องสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วสหราชอาณาจักรไว้แล้ว
ในขณะที่ มีผู้คนจำนวนมากอีกกลุ่มหนึ่งผิดหวังต่อการตัดสินครั้งนี้ เพราะมองว่าอังกฤษกำลังเดินตามรอยสหรัฐอเมริกาในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ Amnesty International เตือนว่าคำตัดสินนี้อาจทำให้ผู้หญิงข้ามเพศถูกกีดกันมากขึ้น