


ภาษีทรัมป์เสี่ยงซ้ำเติม "ภาษีสีชมพู" บีบผู้หญิงจ่ายแพงกว่าเดิม
ภาษีทรัมป์เสี่ยงซ้ำเติม "ภาษีสีชมพู" ภาระซ่อนเร้นที่ผู้หญิงอเมริกันต้องจ่ายมากกว่าผู้ชายปีละกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศในระบบภาษี
"ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังบังคับใช้ภาษีตอบโต้กับประเทศอื่นๆอย่างมหาศาล"
"ท่านกำลังพลาดโอกาสที่จะแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเพศและลักษณะที่ถดถอยซึ่งมีอยู่ในระบบการค้าเสรีโลก” - สตีฟ ลามาร์ ประธานสมาคมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าแห่งอเมริกา (American Apparel & Footwear Association)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังใช้นโยบาย "ภาษีตอบโต้" เพื่อปรับเปลี่ยนระเบียบการค้าโลกในเกือบทุกมิติ
แต่ยังมีภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ยังคงอยู่และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมานานหลายทศวรรษ นั่นคือระบบภาษีนำเข้าเสื้อผ้าของสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNN เป็นเวลาหลายปีที่ระบบภาษีของสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าเสื้อผ้าสตรีในอัตราที่สูงกว่าเสื้อผ้าบุรุษประมาณ 3%
ความเหลื่อมล้ำนี้ ถูกขนานนามว่า "ภาษีสีชมพู (Pink Tariffs)" ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิด "Pink Tax" ที่สินค้าชนิดเดียวกันแต่ผลิตสำหรับผู้หญิงมักมีราคาสูงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชาย
เอ็ดเวิร์ด เกรสเซอร์ รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและตลาดโลกของสถาบันนโยบายก้าวหน้า (Progressive Policy Institute) ระบุว่า ช่องว่างทางภาษีชนิดดังกล่าว
ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นเมื่อเทียบกับผู้ชาย คิดเป็นภาระรวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปีที่ผู้หญิงต้องแบกรับ
สถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีกเมื่อทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ และเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่านั้นกับแคนาดา เม็กซิโก และจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงสูงขึ้นอย่างมาก
โครงสร้างภาษีที่ไม่เท่าเทียม
ข้อมูลจากเกรสเซอร์ชี้ว่า เสื้อผ้าและรองเท้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่ถูกจำแนกตามเพศในพิกัดอัตราศุลกากรของสหรัฐฯ (US Harmonized Tariff Schedule - HTS) ซึ่งกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ
ในปี 2022 อัตราภาษีสำหรับเสื้อผ้าสตรีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16.7% สูงกว่าอัตราภาษีเฉลี่ยสำหรับเสื้อผ้าบุรุษซึ่งอยู่ที่ 13.6% ถึง 2.9 เปอร์เซ็นต์
เมื่อพิจารณาสินค้าเฉพาะเจาะจง จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
ในปี 2017 ชุดสูทสตรีมีอัตราภาษี 15.1% ในขณะที่ชุดสูทบุรุษเสียภาษีเพียง 13.3% ชุดชั้นในสตรีถูกเก็บภาษี 12.8% ในขณะที่ชุดชั้นในบุรุษอยู่ที่ 8.6%
รากฐานทางประวัติศาสตร์ของความไม่เท่าเทียม
สำหรับสาเหตุที่ของใช้สตรีต้องเสียภาษีมากกว่าของใช้บุรุษนั้น CNN ให้ข้อมูลว่ายังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน แต่เป็นผลมาจากนโยบายที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าชี้ให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1940 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการค้าเสรีโลก
อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสตรีมีขนาดเล็กกว่า ในขณะที่เสื้อผ้าบุรุษเป็นแหล่งงานที่สำคัญและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงมุ่งเน้นการล็อบบี้เพื่อลดภาษีและอุปสรรคทางการค้าสำหรับเสื้อผ้าบุรุษมากกว่า ทำให้ช่องว่างทางภาษีในปัจจุบันกลายเป็นมรดกตกทอดจากระบบการค้าในอดีต
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้พยายามแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเพศในอัตราภาษี บริษัทต่างๆ เช่น Steve Madden, Asics และ Columbia Sportswear เคยยื่นฟ้องรัฐบาลในปี 2007
เพื่อยกเลิกนโยบายภาษีนี้ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากศาลตัดสินว่าช่องว่างทางภาษีไม่ได้มีเจตนาที่จะเลือกปฏิบัติโดยตรง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางก็มีความเคลื่อนไหวน้อยมากในการแก้ไขปัญหานี้
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตสองคน ได้เสนอร่างกฎหมาย "Pink Tariffs Study Act"
ซึ่งจะมอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆ ตรวจสอบผลกระทบของภาษีที่มีต่อเพศหญิงและกลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์
ลอรี เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาบริการสาธารณะและการบริหาร มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ผู้ศึกษาด้านนโยบายการค้า กล่าวว่า นโยบายภาษีของทรัมป์อาจทำให้อัตราภาษีเสื้อผ้าบุรุษสูงขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดช่องว่างระหว่างเพศลงโดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว นโยบายภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงใช้จ่ายเงินซื้อเสื้อผ้ามากกว่า
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานระบุว่า ในปี 2023 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนสำหรับเสื้อผ้าสตรีอยู่ที่ 655 ดอลลาร์ ขณะที่เสื้อผ้าบุรุษอยู่ที่ 406 ดอลลาร์
ครอบครัวรายได้น้อยกระทบหนัก
นโยบายภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาเสื้อผ้าในสหรัฐฯ เนื่องจากเสื้อผ้าเกือบทั้งหมดที่ขายในสหรัฐฯ เป็นสินค้านำเข้า
Yale Budget Lab คาดการณ์ว่าผู้บริโภคอาจต้องเผชิญกับราคาเสื้อผ้าที่สูงขึ้นถึง 64% จากภาษีของทรัมป์ในทันที
ความไม่เท่าเทียมทางภาษีไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างเพศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ายังกล่าวอีกว่า ราคาเสื้อผ้าจะปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยอันเนื่องมาจากภาษีของทรัมป์
เพราะสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานมักมีส่วนต่างกำไรน้อย ทำให้บริษัทมีช่องว่างในการดูดซับต้นทุนที่สูงขึ้นได้น้อยลง
ปรากฏการณ์ "ภาษีสีชมพู" นี้จึงไม่ได้เป็นเพียงประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงโครงสร้างภาษี
ที่อาจส่งผลกระทบอย่างไม่ยุติธรรมต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย และตอกย้ำถึงภาระทางการเงินที่ผู้หญิงอเมริกันต้องแบกรับอย่างเงียบๆ มานานหลายทศวรรษ