posttoday

ถอดสาเหตุ ทำไมสถิติเด็ก ‘ออทิสติก’ ถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น!

18 เมษายน 2568

ถอดสาเหตุ ทำไมเด็ก ‘ออทิสติก’ ถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่าหลายเท่า ในเวลาแค่เพียง 10 ปี ในวันที่นวัตกรรมการแพทย์พัฒนาก้าวหน้าไปไกลมากขึ้น!

KEY

POINTS

  • ถอด

ออทิสติก  (Autism spectrum disorder หรือ ASD) คือ กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร การเข้าสังคม การมีความสนใจซ้ำ หรือมีรูปแบบการกระทำเป็นแบบแผนจำกัดในเรื่องเดิม

แตกต่างจากภาวะปัญญาอ่อน ตรงที่ระดับสติปัญญา (IQ Test) ซึ่งพบว่า 50% ของผู้ป่วยออทิสติกมีภาวะร่วมกับภาวะปัญญาอ่อน แต่ก็ยังพบบางเคสที่มีภาวะระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติ หรือมีทักษะบางด้านในระดับอัจฉริยะ!

 

จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลวิภาวดีระบุว่า ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่นอน เชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคทำได้ยาก แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อผลการรักษาที่ดี

 

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ลงบทความอธิบายเกี่ยวกับตัวเลขออทิสติกที่เพิ่มขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า การกลายพันธุ์ของยีนในบางคนที่มีภาวะออทิซึมช่วยสนับสนุนหลักฐานว่ามี 'องค์ประกอบทางพันธุกรรม' เกี่ยวข้องกับออทิซึม โดยโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดออทิซึม ได้แก่

  • โรค Fragile X syndrome
  • โรค tuberous sclerosis complex
  • โรค Phelan-McDermid syndrome
  • โรค Prader-Willi syndrome

นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับออทิซึม ได้แก่ น้ำหนักแรกเกิดที่ต่ำมาก , ตัวเหลืองในทารกแรกเกิด , ภาวะแทรกซ้อนขณะอยู่ในครรภ์หรือระหว่างคลอด , ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ , ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน , การมีพี่น้องที่เป็นออทิซึม และปัจจัยของพ่อแม่ เช่น อายุ อ้วน หรือเป็นเบาหวาน

 

สาเหตุที่โพสต์ทูเดย์หยิบยกมาพูดถึงเป็นเพราะว่า เมื่อดูสถิติย้อนหลังทั่วโลก พบว่า

  • ในปี 2012 มีผู้ป่วยออทิสติกอยู่ที่ 62 ต่อ 10,000 คน
  • ในปี 2021 อัตราผู้ป่วยออทิสติกเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวคือ 100 ต่อ 10,000 คน หรือ เด็ก 100 คนจะเป็นออทิสติก 1 คน

 

สำหรับประเทศไทยรายงานระบุว่า การศึกษาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า อเมริกาเหนือและยุโรป มีอัตราการเกิดออทิซึมสูงที่สุด โดยมีอัตราที่ 0.90% และ 0.61% ตามลำดับ

 

ในขณะที่อัตราการเกิดในประเทศไทยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เพิ่มขึ้น จาก 1.43 ต่อ 10,000 คนในปี 1998 เป็น 6.94 ต่อ 10,000 คนในปี 2002 หรือประมาณ 6 เท่า นอกจากนี้ อัตราการเกิดออทิซึมในประเทศไทยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 161 และคาดว่า จำนวนผู้ป่วยใหม่จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป

 

 

สาเหตุที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นเพราะอะไร?

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของการวินิจฉัยออทิซึมเกิดจาก การตรวจคัดกรองที่แพร่หลายมากขึ้น และการขยายขอบเขตของพฤติกรรมที่จะเข้าข่ายการเป็นออทิสติก

ในอดีต คำจำกัดความของออทิซึมมักรวมถึงผู้ที่มี ความบกพร่องทางสติปัญญาปานกลางถึงรุนแรง แต่ในปัจจุบัน แพทย์เริ่มตระหนักว่า รูปแบบที่รุนแรงที่สุดมีเพียง 25% ของผู้ป่วยออทิซึมทั้งหมดเท่านั้น

นอกจากนี้สาเหตุที่เพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยที่มองว่าเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น โดยหลายงานวิจัยระบุว่าอายุของพ่อนั้นมีส่วนสำคัญมากกว่าอายุของแม่ อย่างเช่นที่สวีเดน พบว่า เด็กที่เกิดจากพ่ออายุเกิน 50 ปี มีความเสี่ยงเป็นออทิซึมสูงขึ้น 66% เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่ออายุ 20–29 ปี

 

วินิจฉัยก่อนได้หรือไม่?

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขออทิสติกเพิ่มขึ้น ก็คือภาวะดังกล่าวไม่สามารถพยากรณ์โรค หรือตรวจหาได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือก่อนที่จะเป็น

จากข้อมูลของสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ออทิสติก เป็นกลุ่มที่เกิดมาแล้วดูปกติดี และยังไม่รู้ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ ต้องรอดูพัฒนาการ ซึ่งชัดเจนขึ้นคือ เมื่อเด็กอายุขวบครึ่ง เด็กยังไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตัวเองเวลาอยากได้อะไร ขาดความสนใจร่วมกับคนอื่นรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่นไม่เป็น เล่นบทบาทสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น และมักจะยังไม่สามารถพูดเป็นคำได้ จะมีแต่ภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่เรียกว่าภาษาต่างดาว 

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่สามารถใช้กระบวนการตรวจ NIPT ได้เนื่องจากไม่ได้มีความผิดปกติที่โครโมโซมเฉกเช่น ‘ดาวน์ซินโดรม’ 

ออทิสติกบางครั้งเกิดจากยีนหลายร้อยตำแหน่ง หรือไม่ก็การกลายพันธุ์ซึ่งตรวจจับหรือคาดการณ์ได้ยาก นอกจากนี้เด็ก 2 คนที่มีภาวะออทิสติกเหมือนกัน ก็อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ที่ยีนต่างชนิดกันก็เป็นได้ อีกทั้งบางครั้งการตรวจพบยีนที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก ก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะเป็นออทิสติกเสมอไป

 

ทุกวันนี้หลายฝ่ายจึงพยายามที่จะจับผิดยีน หรือรูปแบบบางอย่างที่จะเสี่ยงต่อการเกิดออทิสติกอยู่ แต่ก็ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากความซับซ้อนและหลากหลายของที่มาของโรคดังกล่าว

นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็ยังไม่มีเครื่องมือการแพทย์วินิจฉัย เช่น การตรวจเลือด หรือการสแกนสมอง แต่จะใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมทั้งจากครอบครัว และแพทย์ตามระยะเวลาที่ต้องนำเด็กมาตรวจสุขภาพและพัฒนาการ ซึ่งจากสถิติจะพบว่าทั่วโลกใช้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ 5 ปี กว่าจะพบว่าลูกมีภาวะออทิสติก

.

.

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกเป็นสำคัญ เนื่องจากหากตรวจพบได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาอาการให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสมได้

ส่วนนวัตกรรมทางการแพทย์ตอนนี้ก็ไม่หยุดนิ่ง โดยมุ่งไปที่การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้เจอ ‘อาการ’ ได้เร็วที่สุด และแม่นยำมากที่สุด เช่น การนำนวัตกรรมด้าน AI และ Matchine Learning หรือการวิจัยด้านการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม เพื่อหายีนที่เกี่ยวข้องกับออทิสติกต่อไป.

 

ที่มา

https://www.mdpi.com/2227-9032/10/10/1868?utm_source=chatgpt.com

https://news.ki.se/large-age-gaps-between-parents-increase-risk-of-autism-in-children?utm_source=chatgpt.com

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/why-are-autism-rates-rising-2025-01-14/

https://th.rajanukul.go.th/preview-5035.html

Thailand Web Stat