'สมศักดิ์' เตรียมประกาศ 3 พื้นที่พิเศษ แก้ปัญหา 'หมออินเทิร์นออก'
'สมศักดิ์' แถลงด่วนเตรียมประกาศ 3 พื้นที่พิเศษ-พร้อมสิทธิประโยชน์เพียบ ดึงหมออินเทิร์น ไม่ให้ 'ลาออก' พร้อมเปิดให้แพทย์เอกชน-ตปท.รับตำแหน่งข้าราชการในกรณีขาดแคลน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงด่วน วันนี้ (18 เมษายน 2568) ประเด็นการแก้ไขปัญหา ‘แพทย์อินเทิรฺ์นหรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่บึงกาฬลาออก’ รวมไปถึงแจงแผนแก้ไขปัญหาพื้นที่ซึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยระบุว่า
ในที่ประชุมพูดคุยกัน จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติ กสธ. ( ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. .... ) ซึ่งหากมี พ.ร.บ. ดังกล่าวจะสามารถบรรจุ แต่งตั้งบุคลากรทั้งหมดำได้เพียงลำพังกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ไ่ด้หมายความว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาหรือเป็นกฎหมายก็คงไม่ได้เร็ว ต้องใช้เวลาราว 2 ปี
"ในส่วนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมทำไปจนสุดแรงแล้ว จะได้ออกมาเวลาไหนนั้นนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผมว่าจะทันในปีนี้หรือไม่" นายสมศักดิ์ย้ำ
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากปัญหาที่บึงกาฬเกิดอย่างรวดเร็ว เดิมทีตนและผู้บริหารได้ปรึกษาหารือกับแพทยสภามาโดยตลอด พร้อมหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากมีโรงพยาบาลเปิดขึ้นใหม่ในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กทม. ที่มีการรับแพทย์เพิ่มขึ้น จึงทำให้แพทย์ย้ายพื้นที่ และทำให้บางพื้นที่ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนแพทย์น้อยลงและมีปัญหา
ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมแนวทางแก้ไข พื้นที่ซึ่งขาดแคลนตาม 7 แนวทางดังนี้
- กำหนดพื้นที่พิเศษ เพิ่มสิทธิประโยชน์ ลดเวลาใช้ทุนในการไปศึกษาต่อ
-
เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ทั้งแบบฝึกเองและร่วมฝึก เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไม่เกินจำนวนสัดส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดในจังหวัด
-
ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียงจังหวัดที่ขาดแคลน
-
เสริมระบบบริการด้วยระบบบริการดิจิทัลสุขภาพ และ Telemedicine ซึ่งจะขอให้ สปสช.เพิ่มบริการด้านนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว
-
กำหนดตำแหน่งข้าราชการให้แก่แพทย์จากมหาวิทยาลัยเอกชน และต่างประเทศซึ่งมีการรับรองปริญญาบัตรที่ทัดเทียมกับไทย ในกรณีที่ไม่เพียงพอ
-
พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ( ตามระเบียบสูงสุดได้ 3 เท่า)
-
ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทาง รวมไปถึงรถรับ-ส่งอย่างเหมาะสม
นายสมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า "กระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนดพื้นที่พิเศษเช่นนี้ใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยในกรณีที่แพทย์จบใหม่ไม่มีเข้าไป จะต้องเปิดรับแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอกชน หรือจากที่จบจากต่างประเทศซึ่งจะมีการกำหนดตำแหน่งข้าราชการให้ในกรณีที่ขาดแคลน โดยเฉพาะพื้นที่บึงกาฬ ซึ่งไม่สามารถฝึกแพทย์ใหม่ได้มาก เนื่องจากไม่มีแพทย์เฉพาะทางฝึกมากพอ"
สำหรับแพทย์เฉพาะทางที่เป็นตัวกำหนดจำนวนแพทย์อินเทิร์น ได้แก่แพทย์ในส่วนของ สูตินารีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช ฉุกเฉิน และกระดูก เป็น 5 สาขาที่จะกำหนดจำนวนแพทย์จบใหม่
"การแก้ปัญหา ได้รับการแนะนำจากแพทยสภา เช่น นำแพทย์จากจังหวัดอื่นเวียนไปเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเติมให้จังหวัดที่ขาดแคลน"
ทั้งนี้ ในส่วนของสิทธิพิเศษซึ่งแพทย์จะได้รับ อาทิ อนุญาตให้สามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้โดยไม่ต้องถึง 3 ปีแต่ให้ที่ 2 ปี หรือการให้ค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ซึ่งในแพทย์ที่มีชม.การทำงานสูงสามารถได้รับเพิ่มถึง 3 เท่า
นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงจำนวนชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ที่มีข่าวว่ามากเกินไปนั้นจะมีนโยบายลดหรือไม่ โดยระบุว่า ตั้งเป้าลดภาระงานให้กับแพทย์ลงที่ 30% โดยขอเวลา 2 ปี
" เราจะใช้นโยบาย NCDs เป็นหลักในการช่วยเหลือ โดยใช้แรงจาก อสม. ซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยลดการแออัดในโรงพยาบาลได้มากกว่า 10 ล้านครั้งทั่วประเทศ รวมไปถึง Telemedicine ก็เร่งทำอยู่ แต่กำลังขอประเมินความเหมาะสม และเร่งรัดเรื่อง ตู้ห่วงใย มากยิ่งขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเวลาที่จะประกาศพื้นที่พิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วย อ.แม่สอด จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และ บึงกาฬ ว่าจะประกาศเมื่อไหร่ นายสมศักดิ์ตอบเพียงว่าเร็วๆ นี้ หรืออาจสามารถประกาศได้เลยหลังจบจากการประชุมในเย็นนี้.