สปสช. โต้หลังมีข่าว 'เงินบำรุง' ของรพ. ไม่พอจากงบบัตรทอง

20 เมษายน 2568

สปสช.โต้กรณีกระทรวงสธ. แพร่ข่าว 'เงินบำรุง' รพ.ติดลบจากจัดสรรงบบัตรทอง ระบุคณะกรรมการจัดสรรงบก็มี รมว.นั่งเป็นประธาน! เล็งชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. ชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดีย อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ-หมอเอก โดยระบุว่าเป็นการชี้แจงผ่านคลิปเป็นครั้งแรก ในกรณี 'เงินติดลบ รพ. มายังไง ใครรู้บ้าง' ดังนี้

 

สปสช. โต้หลังมีข่าว \'เงินบำรุง\' ของรพ. ไม่พอจากงบบัตรทอง

 

ชี้แจง 2 ประเด็นหลัก นวัตกรรมการรักษา และ เงินจัดสรรรพ. ชี้ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ก็นั่งเป็นประธานและมีเวทีคุยกันตลอด!

ตามที่มีข่าวลงสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจั่วหัวไว้ว่า องค์กรแพทย์ รพ.พุทธชินราช ชี้ 'เงินบำรุง' ติดลบ เหตุกองทุน สปสช.จ่ายโรงพยาบาลต่ำกว่าจริง ทำกระทบบริการประชาชนและขวัญกำลังใจของบุคลากร

 

อ่านเพิ่มเติม องค์กรแพทย์ ชี้ 'เงินบำรุง' รพ. ติดลบ เพราะการจัดสรรงบกองทุนสปสช.

 

จากข่าวดังกล่าว มี 2 ประเด็นที่อยากจะชี้แจง เรื่องแรก คือ เงินบำรุงลดลงจากการนำไปจัดสรรให้ 'นวัตกรรมการรักษา' ตนตีความว่า นวัตกรรมในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน จะมีการพิจารณาว่า ถ้ามีประชาชน นักวิชาการ หรือบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ต้องการให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ จะมีการคัดกรองเป็นชั้น ๆ สุดท้ายหากคณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนและแพทย์ทำงานง่ายขึ้น จะมีการบรรจุลงในสิทธิประโยชน์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ยกตัวอย่างเช่น สิทธิประโยชน์การฉายรังสีโปรตอนเพื่อรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็ก เป็นนวัตกรรมที่ล้ำมาก และทำได้อยู่แค่ที่เดียวคือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย การยิงโปรตอนแม่นมากไม่ต้องผ่าตัด ทำให้ก้อนเนื้องอกในสมองลดลงได้ โดยอวัยวะรอบๆ เนื้อสมองส่วนอื่นไม่ได้รับความเสียหาย

 

 

" นอกจากนี้ ปีนี้รัฐบาลทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกที่ ประชาชนคงได้เห็นสโลแกน และโลโก้ที่ติดตามคลินิกเอกชนทั่วประเทศไทย ซึ่งรวม 13,000 กว่าแห่งทุกจังหวัด เป็นความปรารถนาดีที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนได้เข้ารักษาง่ายขึ้นที่บ้าน เจ็บป่วยไม่มากแทนจะไปที่โรงพยาบาลก็มาที่คลินิก โรงพยาบาลลดความแออัดลง ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งทำได้มาปีกว่าๆ และประชาชนพึงพอใจสูงกว่า 90% และหลายพื้นที่เข้าถึงบริการมากขึ้นและลดการแออัด นี่คือนวัตกรรมการรักษา" ทพ.อรรถพรอธิบาย

 

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่อง 'การจัดสรรงบประมาณที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน' สมัยก่อนการจัดสรรงบประมาณเป็นการคิดกันในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่บอร์ดแต่งตั้งขึ้น ต่อมาการจัดสรรมีการคุยกันไม่ครบ และไม่เข้าใจกันบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ในปี 2558 อดีตรมว.กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้เข้ามาเป็นประธานบอร์ดสปสช. ด้วย จึงได้เห็นปัญหาหรือโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จึงได้เห็นว่าการพูดคุยน่าจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมคุยได้

ดังนั้น จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่วมอยู่ 2 ระดับ ชุดหนึ่งอยู่ที่เขตหรือคณะกรรมการ 5x5 อีกชุดหนึ่งอยู่ที่ส่วนกลางหรือคณะกรรมการ 7x7 มีภาคส่วนของกระทรวงสาธารณสุข 7 คน และตัวแทน สปสช. 7 คน มีการประชุมหารือทุกเดือน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน 

 

ประเด็นตามข่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทพ.อรรถพรระบุว่า ตนได้ไปค้นที่ไปที่มาว่าเป็นอย่างไร พบว่า ทางองค์กรแพทย์มีความปรารถนาดี มีเนื้อหากลางๆ ในโพสต์ของโซเชียลมีเดีย ระบุว่า มีการพูดถึงเงินบำรุงโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง ว่าหากมีน้อยและติดลบจะมีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนโดยตรง และขวัญกำลังใจของบุคลากร ซึ่งการเพิ่มเงินบำรุงไม่ใช่บทบาทของผู้บริหารโพรงพยาบาลฝ่ายเดียว แต่แพทย์เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขเรื่องเงินบำรุง องค์กรแพทย์จึงควรช่วยทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อชี้แนะแนวทางให้แก่แพทย์ เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการให้บริการแก่ประชาชน

 

ทั้งนี้ ทพ.รองเลขาฯ สปสช. ระบุว่า ทั้งหมดในเฟซบุ๊กไม่ได้มีเนื้อหาตามที่ปรากฏเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นข่าว มีหลายคนตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของข่าวดังกล่าว และหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเมื่อฟังเรื่องนี้ก็จะตั้งคำถามว่า โรงพยาบาลขาดทุนแล้วจะเป็นอย่างไร โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้รับการจัดสรรเงินไม่เท่ากันหรืออย่างไร แต่ละที่ได้รับงบประมาณเท่าไหร่ จึงคิดว่า สปสช.ควรเปิดข้อมูลเหล่านี้ โดยจะมีการหารือกับทีมว่า ข้อมูลการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 และการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. มีการตกลงร่วมกันในการจัดสรรเงินให้แก่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น งบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การส่งเสริมป้องกันโรค แต่ละรายการเป็นเงินเท่าไหร่ มีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งจะไปทำตัวเลขการจัดสรรให้ดู และจะมีในส่วนของเรื่องเงินเดือนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น งบประมาณมาจากภาษีทั้งนั้น การจัดสรรไปที่ไหนได้เท่าไหร่ ก็จะมีเท่านี้ หลังจากทำข้อมูลเสร็จแล้วจะชี้แจงให้ทราบ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในปีหน้าด้วย ซึ่งเข้าใกล้การพูดคุยระหว่าสปสช. และกระทรวงสาธารณสุข โดยทำให้ประชาชนเห็นว่าการจัดสรรตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายมีที่มาที่ไปอย่างไร และหากมีความคืบหน้าจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

Thailand Web Stat