รวบ 5 ข้อแจงดราม่า 'ไทยแลนด์พาวิลเลี่ยน' ไร้เงินทอน - เลือกบริษัท?
รวบ 5 ข้อแจงดราม่า 'ไทยแลนด์พาวิลเลี่ยน' โอซาก้า ชี้โปร่งใสไร้เงินทอน สิ่งที่จัดตรงเป้าหมายภายใต้งบที่น้อยลง เผยเคยมีบริษัทที่ไม่ได้ยื่นร้องเรียน!
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นายอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการค้าร่วม RMA110 จัดแถลงข่าวด่วน ประเด็น 'Thailand Pavillion' ในงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai ณ นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนฉ่าในเวลานี้ โดยถูกสังคมจับตาในเรื่องงบประมาณและผลงานที่ออกมา
บรรยากาศการแถลงข่าว
1. งบประมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมาก การจัดที่ญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูง การเตรียมงานอยู่ในช่วงโควิด
นพ.โอภาส กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขยินดีเปิตเผยด้วยความโปร่งใส ซึ่งมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าด้วยการที่เนื้อหาเป็นเอกสารราชการ จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจได้ จึงอยากขออธิบาย
อันดับแรกคือ งาน World Expo จัดขึ้นทุก 5 ปี ตามวาระการจัดงาน ครั้งล่าสุดในปี 2020 จัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศไทยร่วมจัดด้วยงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนครั้งนี้ที่ สธ. มีส่วนเข้าไปจัดงาน เพราะว่าคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งจะพบว่างบประมาณปีนี้ต่ำกว่าครั้งก่อนมากสังเกตว่างบฯ ปีนี้ต่ำกว่าครั้งก่อนมาก ประกอบกับการจัดงานในประเทศญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูง ยืนยันว่าการจัดงานเป็นไปตามระเบียบราชการของประเทศไทย แต่เพิ่มความยุ่งยากอีกคือ ต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและเมืองโอซาก้าซึ่งมีกฎหมายแรงงานเข้มงวด
"นอกจากนี้การจัดงานยังอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 คือในช่วงปี 2020 ทำให้เกิดความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการต่างๆ ไปด้วยดี" นพ.โอภาสระบุ
2. แจงโซเชียลเป้าหมายของกระทรวงสธ. ชัดเจน เน้นขาย 'นวดไทย' เพื่อสร้างรายได้แสนล้าน!
นพ.โอภาส กล่าวในประเด็นเนื้อหาการจัดงานว่า เรื่องเนื้อหาการจัดงานที่มีการระบุว่า 'ดีไซน์เอกชน คอนเทนต์ราชการ' ต้องนำเรียนว่าวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้มีโจทย์ว่าคนทั้งโลกต้องได้เห็น ไม่ใช่แค่คนไทย ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องการให้คนทั้งโลกดูศักยภาพเรื่องอุตสาหกรรมสุขภาพของไทย ซึ่งในยุคนี้ก็ต้องขายของได้ด้วยเพื่อตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ
"เป้าหมายคือการทำ Business Matching สนับสนุนนวดไทย ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่อยากให้นวดไทยสร้างรายได้หลายแสนล้านบาท จะเห็นได้ว่ามีเป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์อย่างชัดเจน เป็นเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาว” นพ.โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการจัดงานเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 เมษายน มีผู้เข้าชมนิทรรศการเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน โดยนพ.โอภาสกล่าวว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะมีทีมประเมินการเข้าชมทั้งด้านเนื้อหา ความสนใจ และ Business Matching นอกจากนี้คนต่างชาติชื่นชมเยอะ หลายคนคงได้เห็นภาพแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Facebook
"คนชมก็เยอะ คนติก็มี กระทรวงสาธารณสุขก็น้อมรับทั้งคำชมและคำติ ผมเชื่อว่าคำติของท่าน เป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะเอามาปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดงาน Thailand Pavilion ที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อชาวโลก" นพ.โอภาสระบุ
3.แจงทำไมต้องจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง
ด้านนพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีสบส. กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างว่า ไทม์ไลน์ตั้งแต่ครม.อนุมัติงบประมาณ 867,881,611 บาทเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ได้ใช้วิธีการคัดเลือกแต่เอกสารที่ทั้ง 3 บริษัทซึ่งส่งเข้ามาไม่ครบถ้วน โดยเอกสารที่ขาดคือ การแสดงผลงานในส่วนนานาชาติ จึงได้ยกเลิกการจ้างครั้งที่ 1 เพราะไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค. 2566 กำหนดราคากลางใหม่วงเงินเท่าเดิม
ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย.2566 มีบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ( RMA110) จดทะเบียนตั้งบริษัท และกรมฯ ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในการคัดเลือกครั้งที่ 2 ด้วยวงเงิน 862 ล้านบาทเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 แต่ขณะนั้นมีการร้องเรียนจากบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือก และมีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้ตอบข้อวินิจฉัยว่า กรมสนับสนุนฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้
อย่างไรก็ตามกระบวนการตอบข้อวินิจฉัยเกินราคาเกิน 90 วันแล้ว การลงนามทำสัญญาจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องประกาศครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิด ทางญี่ปุ่นเร่งรัดให้ดำเนินการ เพราะไทม์ไลน์ก่อสร้างจะถึงวันที่ 13 เมษายนเท่านั้นคือวันเปิดงาน จึงต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง จึงต้องเข้ากระบวนการสืบราคา โดยส่งจดหมายไปยังผู้ที่เคยมายื่นกับเรา 3 บริษัท แต่คนที่ยื่นกลับมามีเพียงบริษัทเดียว
นพ.กรกฤช กล่าวว่า ตามระเบียบสามารถทำได้ตามระเบียบพัสดุ และจำเป็นต้องใช้ราคาของบริษัทนั้นด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง คือวงเงิน 867,800,000บาทซึ่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ถึง 1% ขอยืนยันว่า ทางกรมสนับสนุนฯ ไม่ได้รับธุรกรรมใดๆจากบริษัท กิจการร่วมค้า แม้แต่เรื่องเดียว
4. ปัดไม่มีเงินทอน!
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สส.พรรคประชาชนออกมาพูดข้อมูลว่าโครงการนี้อาจจะมีเรื่องของเงินทอน ระหว่างบริษัทเอกชนกับทางกรมหรือไม่ นพ.กรกฤช กล่าวว่าทางกรมฯขอยืนยัน เอกสารทุกอย่างเราดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและสามารถตรวจสอบได้ ถ้าช่องทางหลักๆเลยก็คือเว็บไซต์ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้
"ในส่วนของเงินทอนนั้น ผมในฐานะเป็นผู้บริหารกรม เป็นรองอธิบดีขอยืนยันตรงนี้ว่าทางกรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างใดๆ ในเรื่องของเงินทอน ผมยืนยันทุกวันนี้ แม้กระทั่ง การเดินทางยังไม่ให้เขามารับจากสนามบินเราไปเอง นั่งรถไฟไปและก็มีหลักฐานว่าผมนั่ง รถไฟจากสถานีคันไซมาที่บ้านพักด้วยตัวเอง ไม่มีการรับส่งใดๆ"รองอธิบดี สบส. กล่าว
นอกจากนี้ ทางผู้จัดฯ ยังปฏิเสธถึงกระแสข่าวว่า บริษัท กิจการร่วมค้าฯ ตั้งขึ้นด้วยทุน 1 ล้านและยกเลิกไปมีความผิดปกติ จะโยงไปสู่เรื่องทุนจีนหรือไม่ โดยผู้แทนบริษัท นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 กล่าวว่าไม่มีทุนจีนแต่อย่างใด
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด
5. แจงทำไมต้องยื่นร่วม! และทำไมต้องยกเลิก!
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 กล่าวว่า จากกรณีที่มีข้อสงสัยว่า บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เพิ่งเปิด แต่พอได้งานกลับปิดตัวลง นอกจากนี้ยังไม่มีผลงานนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นงานนี้ได้เพราะใช้บริษัทไร้ท์แมนเสนอราคา เนื่องจากมีการใช้ผลงานอ้างอิงของบริษัทไร้ท์แมน ส่วนที่ไม่ยื่นในนามของกิจการร่วมค้า RMA110 อย่างเดียวเพราะเนื้องานในโอซาก้า ประกอบด้วยการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมในตปท.และญี่ปุ่น และการนำเสนอเรื่องนิทรรศการ ซึ่งบริษัท ไร้ท์แมน เป็นอีเว้นท์ออแกไนซ์เซอร์ ซึ่งทำงานด้านนี้มานานกว่า 35 ปี เพื่อมารวมกับบริษัท RMA110 ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกฯ เพื่อมายื่นงานนี้
ทั้งนี้ หากดูไทม์ไลน์การประมูลจะพบว่าตัวบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นงานทั้ง 3 ครั้ง
" การยื่นประมูลทั้ง 3 ครั้งมีกิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบเข้าร่วมทั้ง 3 ครั้ง เพราะต้องใช้ผลงานของบริษัทไรท์แมนนำ ยื่นในนามของกิจการร่วมค้าฯก็จะเป็นไปตามระเบียบพัสดุในการอ้างอิงผลงาน และไม่มีคำว่าบริษัท กิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัดไปยื่นงานประมูลครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3” นายอุปถัมป์กล่าว
สำหรับส่วนที่ว่าทำไมบริษัท กิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัดจดเป็นบริษัทและยกเลิกบริษัทมีความน่าสงสัยหรือไม่ นายอุปถัมภ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในแง่ไทม์ไลน์ของการยื่นงานนี้ทั้ง 3 ครั้ง
ส่วนที่ต้องจดเป็นบริษัท และทำไมต้องชื่อเดียวกันนั้น เนื่องจากตอนที่ทำงานร่วมกันในรูปแบบกิจการร่วมค้าได้มีการปรึกษากันในระดับผู้บริหารว่าการทำงานในต่างประเทศจะต้องใช้นิติบุคคล โดยวิธีการทางศุลากรในการนำสินค้าไปและกลับ ซึ่งกิจการร่วมค้าฯไม่เข้าข่ายสามารถส่งนิทรรศการไปและกลับได้
“เมื่อเปิดบริษัทแล้วเตรียมดำเนินการ ก็มีที่ปรึกษาทางบัญชีให้คำปรึกษาว่าการทำในรูปแบบนี้ จะมีความสลับซับซ้อนเรื่องเอกสารและการเสียภาษีต่างๆ จะเป็นการซ้ำซ้อนหลายขั้นตอน จึงคิดว่ายุ่งยาก ต่อมาจึงได้ปิดบริษัท”นายอุปถัมป์ กล่าว
นายอุปถัมภ์กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปบริษัท กิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาในครั้งนี้ ไม่มีนิติกรรม ไม่มีการเซ็นสัญญากับใคร ไม่มีการโอนเงิน หรือ นิติกรรมอื่นๆใดๆเกิดขึ้นในบริษัทกิจการร่วมค้าฯนี้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีแง่ของธุรกรรมใดๆกับบริษัทหรือราชการ ซึ่งเรื่องนี้จึงอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของสื่อที่ไปค้นพบว่าบริษัทนี้เปิดมาแล้วปิดแล้วได้งานไป
ในสัญญาจ้างงานนี้ ผู้ว่าจ้างเป็นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพฝ่ายหนึ่ง กับ กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ซึ่งมีเลขผู้เสียภาษีอากรถูกต้อง และดำเนินการในการจัดสร้างอาคารนิทรรศการทั้งหมด ภายใต้รูปแบบการทำงานของกิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และบริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด
“เท่ากับว่ากิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ทำธุรกรรม นิติกรรม ทุกสิ่งอย่างกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่วนบริษัท กิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ไม่ได้มีธุรกรรม หรือนิติกรรมใดเกี่ยวกับงานนี้เลย”นายอุปถัมป์ กล่าว